ไม่พบผลการค้นหา
4 วันในฐานะ ‘พลเมืองโลก’ เปลี่ยนวิธีคิด 24 เยาวชนคนรุ่นใหม่ของไทยที่เข้าร่วมโครงการ One Young World 2022 ไปตลอดกาล

One Young World เป็นการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนที่ใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดในโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 กันยายน 2565 เจ้าภาพคือเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งการประชุมฯ ได้ปิดฉากลงอย่างสวยงาม และส่งต่อให้เบลฟัสต์เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือเป็นเจ้าภาพต่อในปี 2023 

เวทีดังกล่าวถือเป็นการรวมตัวกันของผู้นำรุ่นเยาว์ที่ฉลาดที่สุดกว่า 2,000 คนจาก 190 ประเทศทั่วโลก และยังมีผู้นำระดับโลกมาจุดประกายความคิด ต่อยอดความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน อาทิ บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ พอล โพลแมน ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิ IMAGINE หน่วยงานที่ผลักดันผู้นำภาคเอกชนทั่วโลกทำความดีอย่างยั่งยืน จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดา รวมถึง เมแกน มาร์เคิล ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายาในเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซกซ์ และ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2549 ฯลฯ 

เมแกน มาร์เคิล ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดว่า One Young World คือ ถังความคิดที่ดีที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้และคนรุ่นใหม่คือผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทั่วโลก

ช่วงเวลาแห่งปัจจุบันคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง ถึงเวลาของคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นและพลังงานจะร่วมสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม เธอรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ไม่ใช่แค่ได้ยืนอยู่ต่อหน้าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ แต่ได้ยืนเคียงข้างพวกเขาด้วย ขณะที่ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่านี่เป็นการรวมตัวของผู้นำรุ่นเยาว์จากทั่วทุกมุมโลกที่ไม่มีใครเทียบได้

305767599_450918837080865_3199445885403555111_n (1).jpg

ตลอด 4 วันในงานดังกล่าว พลังงาน ทัศนคติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่าเพื่อนผู้นำจากทั่วทุกมุมโลก กลายเป็นเชื้อเพลิงผลักดันให้เยาวชนไทยกลับมาเป็น ‘ผู้นำ’ ที่ดีกว่าเดิม ตามความตั้งใจของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร หรือซีอีโอ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ที่คาดหวังให้คนรุ่นใหม่มีจิตนาการ ปัญญา และสร้าง Impact ให้กับสังคม

“คุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องรอสถานการณ์สร้างผู้นำ”

LINE_ALBUM_งานลูกค้า(แก้ไข)_221017_28.jpg


ฟัง-คิด-ทำ

สิ่งที่ แหวน - ธรรมภรณ์ แก้วมณี เจ้าหน้าที่ความผูกพันองค์กร บริษัทซีพีเอฟ ได้สัมผัสจาก One Young World คือสิ่งที่เธอไม่มีวันลืม มันคือจินตนาการและโอกาสที่กว้างขวางขึ้น

ข้อแรกที่เธอขยายความคือ ‘แรงบันดาลใจ’ หลังการพบเจอผู้คนที่หลากหลายทั้งทางความคิด เชื้อชาติ และสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตมา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในระดับผู้บริหารที่มีตำแหน่งสูงหรือเยาวชนที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ทุกคนกระตุ้นให้เธออยากเป็นผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก  

“ก่อนเดินทางไปเราพอมีพื้นฐานด้านภาวะผู้นำและการพัฒนาด้านความยั่งยืน แต่พอไปที่นั่นทุกคนกระตุ้นและเสิร์ฟความคิดด้านนี้ให้กับเราได้อีกมาก”            

ข้อสอง คือการได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จในโครงการด้านความยั่งยืน ทั้งโมเดลจากบริษัทระดับโลกและในระดับบุคคล

“เมื่อเดินทางออกจากความคุ้นเคยในประเทศ เรารับรู้ถึงความเป็นโกลบอลซิติเซ่นมาก ได้เห็นอะไรที่มากกว่ากรอบของบ้านเรา เห็นตัวเองเล็กลงเเต่ไม่ได้รู้สึกด้อยกว่า แค่รู้สึกว่ายังมีช่องว่างที่พัฒนาได้อีกมาก”

การได้รับฟังประเด็นความขัดแย้งจากเพื่อนร่วมโลกที่เผชิญหน้าและชอกช้ำมาโดยตรงจากการเป็นผู้ลี้ภัย ทำให้เธอเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ‘การรับฟังอย่างจริงใจ’ เป็นสิ่งที่ผู้นำละเลยไม่ได้

“ประทับใจมากเมื่อเห็นเพื่อนที่อายุใกล้เคียงกัน พูดเรื่องการป้องกันความขัดแย้งอย่างมีแพสชัน และทำออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ผู้พูดเป็นคนที่มีอาการ trauma จากการเป็นผู้ลี้ภัย เจอเรื่องร้ายๆ ทั้งทางกายภาพและจิตใจ แต่ก็ลุกขึ้นมาสู้เพื่อผู้อื่น” แววตาและน้ำเสียงของแหวนจริงจัง

“เขาทำให้เราเห็นว่าแค่เอาตัวเองรอดไม่พอ ต้องช่วยให้คนอื่นรอดไปกับเราด้วย”

3 กระบวนการที่เจ้าหน้าที่ความผูกพันองค์กร วัย 27 ปี จะยกระดับตัวเอง คือ

1. Active Listening ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ: ทำความเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการนำเสนอออกมาจริงๆ เพื่อเข้าใจปัญหาและสถานการณ์ที่อีกฝ่ายพบเจอ

2. ฝึกคิดอย่างมีกลยุทธ์ : กระบวนการต่อยอดจากการฟัง คิดอย่างเหตุผลและตรรกะ เพื่อวางแผนที่ตอบโจทย์กับเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน เรื่องปริมาณหรือว่าเรื่องคุณภาพ

3. กล้าลงมือทำ : กล้าที่จะปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคม แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกระบวนการท้าทายความคิดกันและกันกับแนวคิดเดิม  เราสามารถแทรกซึมและคิดอย่างมีกลยุทธ์ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ซึ่งองค์กรที่ดีควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโต ล้มเหลว และเรียนรู้เพื่อเติบโตขึ้นอีกครั้ง

“เข้าใจ คิดเเละลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็น 3 สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาการเป็นผู้นำ”

LINE_ALBUM_งานลูกค้า(แก้ไข)_221017_12.jpg

เห็นใจเเละเท่าเทียม

เบียร์ - บัญชา ชาวแพรกน้อย เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานบริการลูกค้า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อึดอัดตามไปกับสิ่งที่เพื่อนชาวมุสลิมในประเทศหนึ่งเล่าถึงปัญหาด้านความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงท่านนั้นเผชิญหน้ากับเรื่อง ‘ชายเป็นใหญ่’

“ที่นั่นชายเป็นใหญ่ถือเป็นความปกติ ทั้งที่จริงๆ แล้วเธอกำลังถูกคุกคามและตกอยู่ภายใต้ความกลัว” เบียร์ ที่สนใจในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ Gender Equality เล่า

ประสบการณ์แสนปวดร้าวของเพื่อนคนดังกล่าวกระตุ้นให้เบียร์อยากเดินหน้าขยายแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเริ่มจากการผลักดันภายในองค์กรเพื่อให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในตำแหน่งระดับสูง

“มันไม่ใช่การล็อกสเปก แต่เป็นการผลักดันให้เขาอยู่และเติบโตได้แบบมั่นคง เต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดีเเละสบายใจ”

การจะบรรลุความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคทางเพศ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้หญิงหรือกลุ่ม LGBT ต้องใช้กระบวนการทั้งทางตรงและทางอ้อม พูดง่ายๆ ว่าผลักดันในเชิงวิธีคิดไม่พอ ต้องมีโครงสร้างในองค์กรที่เอื้ออำนวยด้วย

เบียร์อยากให้เกิดรูปแบบ ‘การหมุนเวียนเปลี่ยนงาน (Job Rotation)’ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เน้นให้พนักงานเรียนรู้งาน ใหม่ๆ ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน นอกจากได้พัฒนาเรื่องทักษะแล้ว ยังทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

“หนึ่งในกระบวนการ DESIGN THINKING ให้เราลองใส่รองเท้าของผู้บริโภคหรือของผู้อื่นที่ทำงานร่วมกับคุณ คุณจะได้รู้ว่าเขาเผชิญหน้ากับอะไร อารมณ์ไหน มีแรงกดดันจากสิ่งใด เรื่องเหล่านี้จะทำให้เรารู้ว่าจะเข้าหาเขาได้อย่างไร” เบียร์เห็นว่าผู้นำที่เข้าใจจะสามารถบริหารคนและเรียกร้องผลงานได้อย่างตรงจุด

อีกเรื่องที่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานบริการลูกค้า วัย 25 ปี หวังผลักดันคือ ‘การแต่งกาย’ หลังเห็นว่าการแลกเปลี่ยนและการให้ความเคารพกันและกันในระหว่างการประชุม One Young World อยู่นอกเหนือจากเรื่องภายนอกประเภทนี้

“เต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ชุดแบบไหนก็ได้ที่คุณมั่นใจ ทุกคนเคารพกันมากๆ ขณะที่บ้านเรายังค่อนข้างอนุรักษนิยมในเรื่องการแต่งตัว ตัดสินใจคนจากภายนอก

“เขาทะลุเป้าไปคุยเรื่องอื่นๆ แล้ว เรายังติดเรื่องแต่งกายอยู่เลย พวกเขาไม่สนใจว่าคุณจะแต่งอย่างไร ตราบใดที่ทำงานมีประสิทธิภาพและไม่น่าอับอาย”

LINE_ALBUM_งานลูกค้า(แก้ไข)_221017_22.jpg


เชื่อมสัมพันธ์เปลี่ยนโลก

พลังงานและความลุ่มหลงต่อประเด็นที่ตัวเองสนใจของเพื่อนต่างชาติ เป็นสิ่งที่ พลุ - ชยากร พุ่มชุมพล นักออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตื่นเต้นและร้องว้าว

พลุเล่าว่าเพื่อนๆ แต่ละคนแสดงให้เห็นว่ามีเเพสชั่นที่แรงกล้า มีอารมณ์ร่วมต่อประเด็นปัญหาที่ตัวเองสนใจอย่างแท้จริง เปิดกว้างและไม่อายที่จะแสดงความคิดเห็นแม้ว่าจะตรงข้ามกับผู้อื่น

“ด้วยวัฒนธรรมหรือการปลูกฝังก็ดี ท่าทีของพวกเขามันส่งผลให้เรากระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น”

พลุสนใจในประเด็นวิกฤตทางน้ำและมหาสมุทร ซึ่งการได้แชร์ข้อมูลและระดมสมองกับเยาวชนผู้นำจากทั่วโลกทำให้เขาเห็นโอกาสและช่องทางที่จะลดความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการมองในภาพกว้างระดับ Geopolitics หรือ ภูมิรัฐศาสตร์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกันกับอำนาจทางการเมือง ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และดินแดนเชิงภูมิศาสตร์

“เราคุยเรื่องแม่น้ำโขง โดยมีเพื่อนหลากหลายชนชาติเข้ามาระดมสมองกันอย่างซีเรียส วงนั้นทุกคนไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเนเธอร์แลนด์ คนอังกฤษ คนลาวหรือคนไทย ทุกคนรู้สึกว่าเราเป็นพลเมืองโลก เห็นปัญหาตรงนี้และอยากแก้ไข” เขาขยายความ

“ปัญหาสัตว์น้ำหรือสิ่งมีชีวิตในทะเล คือปัญหาโลก ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง”

สิ่งที่พลุเตรียมเดินหน้าผลักดันคือ Social Enterprise โมเดลธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการสามารถสร้างผลกำไร เพื่อให้ธุรกิจดำเนินกิจการไปได้อย่างยั่งยืนและสร้างผลลัพธ์ทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ เราต้องลงมือทำ มันมีช่องทางมากมาย แม้เราจะเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคม ไม่ได้เป็นประธานบริษัท เศรษฐี นักการเมืองหรือว่านักกิจกรรม แต่เรามีช่องทางทำได้ เพื่อนๆ ทั่วโลกของผมทำให้เห็นและพร้อมต่อยอดช่วยเหลือกันและกัน”

ทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจสามารถสร้างอิมแพคให้กับสังคมได้ เพียงแค่หาจุดที่เหมาะสมกับตัวเอง

“ด้วยความเคารพในการพูดถึงเเต่ละบทบาท ผมอยากสร้างอิมแพคให้กับสังคมในแบบของผม ทรัพยากรในตัวเราไม่ใช่พลังที่จะแสดงออกในเชิงของการประท้วง แต่เป็นทรัพยากรในเชิงความรู้ด้านธุรกิจและกลยุทธ์ในการสื่อสาร โดยขับเคลื่อนจากตัวองค์กร ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสักอย่าง ต้องทำควบคู่กันไปทุกภาคส่วน”