วันที่ 15 ก.ค. 2565 ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 2,000 คน ผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 20 รายต่อวันจากการปรับระบบการรายงานเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาจนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงก็ตาม แต่เป็นการรายงานที่สวนทางกับข้อมูล จาก Worldometer ที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิต สูงติด 1 ใน 10 ของโลก อาจส่งผลกระทบต่อการรับมือและการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนในภาพรวมได้ ทั้งนี้พบว่าปัจจุบัน กลไกการสนับสนุนในด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงการเงินและบริการทางสังคมที่พี่น้องประชาชนควรได้รับจากภาครัฐ ลดน้อยถดถอยลงกว่าช่วงก่อนๆ เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้ประชาชนที่สงสัยว่าติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยยืนยันไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างที่รัฐบาลให้คำมั่นไว้ แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ในต่างประเทศวัคซีน mRNA สายพันธุ์โอไมครอน (BA.1/2) จะเริ่มจัดส่งและฉีดให้กับประชาชนแล้วในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป แต่ในประเทศไทยยังคงวนเวียนกับการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ยาโมนูลพิราเวียร์ ฟาวิพิราเวียร์ ที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยากลำบาก การเข้าถึงเตียงรักษาที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะผู้ป่วยหนักที่มีอัตราการครองเตียงในระดับสูงอีกครั้ง
ดร.อรุณี กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมองว่าโรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ข้อเสนอให้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) คือ
1.เปิดเสรีนำเข้าและการผลิตยาต้านไวรัสในทุกตัวให้กับเอกชน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถรักษาตัวได้อย่างทันท่วงที
2.กลุ่มเสี่ยง 608 ต้องสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสทันทีที่ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19
3.ทุกฝ่ายต้องเตรียมความพร้อมการจัดการดูแลปัญหาเช่นเดียวกับช่วงของการระบาดรุนแรง
4.มาตรฐานการรักษาโควิด-19 ต้องเท่าเทียมเสมอในการรักษาดูแลประชาชนกับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน
5.ระบบคอลเซ็นเตอร์ต้องรองรับสายโทรติดมีคนรับแม้จะเป็นวันหยุดยาวก็ตาม
“สถานการณ์โควิดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะเสี่ยงอีกครั้ง ยิ่งในช่วงวันหยุดยาวที่จะเกิดการระบาดได้เร็วและง่ายจากการรวมกลุ่มของประชาชนจำนวนมาก รัฐต้องเตรียมความพร้อม ประชาชนคาดหวังอยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค. ขอให้ทำงานให้คุ้มค่ากับเงินเดือนที่ประชาชนจ่ายด้วย ออกมาดูความจริงว่าสถานการณ์การติดเชื้อเป็นอย่างไรด้วย” ดร.อรุณีกล่าว