อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเปิดภาคการศึกษา ปี 2565 ในวันนี้ (17 พ.ค.65) มีเด็กนับล้านคนที่ไม่สามารถกลับเข้ามาเรียนได้อีกต่อไป เนื่องจากครอบครัวได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ที่ล้มเหลวของรัฐบาล เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นวิกฤตด้านการศึกษา หลายครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอที่จะสนับสนุนบุตรหลานให้เรียนต่อได้ อนาคตของเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางดับสนิทลง เพราะรัฐบาลปล่อยทิ้งเด็กไว้กลางทาง ต้องดิ้นรนกันเอง บางส่วนต้องเป็นหนี้สินเพื่อต่ออนาคตให้กับเด็ก บางรายสู้จนหมดแรง หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยความจำใจ ยืนยันได้จากข้อมูลการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ปี 2565 พบว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กออกจากการเรียนกลางคันมากถึง 2% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด เมื่อนับรวมกับเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ มีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว ซึ่งหมายความว่าเด็กไทยทุกๆ 100 คน จะมี 16 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แก้ปัญหาเศรษฐกิจปลายทาง เรียกได้ว่าเป็น "มาตรการแจกแต่ไม่จบ" เพราะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นภาวะการจ้างงานให้ภาคธุรกิจได้ ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากขาดรายได้ โดยเฉพาะผู้ปกครองกลุ่มยากจนที่จำเป็นต้องให้บุตรหลานหลุดจากออกระบบการศึกษา
อรุณี กล่าวอีกว่า ขอเสนอแนะทางออกให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบางไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยการกำหนดเกณฑ์ กลุ่มเป้าหมายและเงินอุดหนุน เพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน กำพร้า หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่มีบทบัญญัติไว้ว่า “การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิ และโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ” ซึ่งหมายความว่าแม้ค่าเทอมจะถูกยกเว้น แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะต้องถูกยกเว้น หรือจัดเก็บให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ปกครองด้วย
“การไม่เก็บค่าใช้จ่ายที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่เคยมีผลบังคับจริงในทางปฎิบัติในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ เพราะ ‘เด็กไทยถูกทำให้จนชั่วชีวิต’ จากการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวจนส่งผลกระทบรุนแรงต่อปัญหาการศึกษา หมดเวลาของท่านแล้ว ลงจากตำแหน่งและปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมืออาชีพบริหารประเทศเถอะค่ะ” อรุณี กล่าว