วันที่ 3 พ.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ตัวเลขต่ำสุดและหลักเดียวต่อเนื่อง ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,969 ราย จำนวนผู้ที่หายป่วยแล้วรวมทั้งสิ้น 2,739 ราย และมีผู้ป่วยที่รักษาอยู่ตอนนี้ 176 ราย ลดน้อยลงจากเมื่อวานนี้ โดยวันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงอยู่ที่ 54 ราย
ทั้งนี้ รายงานผู้ป่วยยืนยันที่เพิ่ม 3 รายวันนี้ โดย 2 ราย เกิดขึ้นจากสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า เป็นคนในกรุงเทพมหานครทั้งคู่ ซึ่งเป็นชายวัย 45 ปี และเป็นหญิงวัย 51 ปี อีก 1 รายมาจากจังหวัดนราธิวาส อยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดไว้ให้ (Stage Qaurantine) เป็นชายวัย 24 ปี กลับมาจากมาเลเซีย แล้วเข้าในพื้นที่วันที่ 18 เม.ย. เข้าอยู่ใน Local Qaurantine พื้นที่รัฐจัดให้
ผลตรวจยะลา ต้องรอยืนยันใหม่ ด้วยเครื่องมือที่เชื่อถือได้
ส่วนประเด็นในพื้นที่พบว่า เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยศบค.ผู้บริหารระดับสูงได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วรายงานที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นก็คือ ได้ไปทำการค้นหาเชิงรุก 8 อำเภอในจังหวัดยะลา ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลารายงานว่า มีการตรวจ 311 คน พบว่า 271 คนมีผลเป็นลบ แต่มีผลยืนยันเบื้องต้น 40 คน ลงไปในรายละเอียดแต่ละอำเภอ ปรากฏว่า มีข้อสงสัยว่า บางอำเภอผลยืนยันพบเชื้อ ร้อยละ 30.77 ซึ่งมากผิดปกติ น่าสงสัยกระบวนการตรวจ เลยต้องมีการนำมาวิเคราะห์ฯ เลยมีข้อสรุปว่าวันนี้ให้มีการทวนข้อมูลอีกสักครั้งหนึ่ง ซึ่งการพบเป็นกลุ่มก้อนใหญ่นี้เป็นเรื่องที่ดี แม้สำคัญแต่ความถูกต้องต้องมาก่อน วันนี้จึงจะเก็บตัวอย่างอีกรอบ สำหรับคนที่ได้รับการยืนยันจะถูกแยกกักและนำตัวไปสู่พื้นที่ทำให้เกิดมีความเชื่อมั่นและปลอดภัย และจะมีการตรวจซ้ำและใช้ชุดการตรวจซ้ำในระดับมาตรฐานที่เชื่อถือได้
ด้าน พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะที่เป็นหัวหน้าศูนย์แก้ไขปัญหาฉุกเฉินด้านความมั่นคง กล่าวว่า ใน 2-3 วันที่ผ่านมามีการเดินทางกันจำนวนมาก โดยอาจจะมีความคลาดเคลื่อนในการสื่อความหมายของการผ่อนคลาย ซึ่งไม่เคยมีคำแนะนำให้ผ่อนคลายตัวเอง ซึ่งต้องกลับมาทำความเข้าใจกันใหม่ การเดินทางไม่ใช่คำแนะนำที่รัฐบาลให้ปฏิบัติในเวลานี้ โดยยังกำหนดไว้ว่า ให้งดหรือลดการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น และต้องแสดงหลักฐาน เมื่อเดินทางไปแล้วก็ต้องเจอกับความเข้มข้นของจุดตรวจทั้งหลาย
ด้านผู้ประกอบการจะต้องจัดให้มีการดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไว้ 4-5 ประการ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ สถานประกอบการใดๆ ก็ตามที่ให้ได้รับการผ่อนผัน 1. จะต้องทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสตลอดเวลา 2. จะต้องจัดให้ทุกท่านในสถานบริการมีหน้ากาก 3. จะต้องจัดให้มีเจล สบู่ หรือแอลกอฮอล์ 4. จะต้องจัดให้มีการเว้นรยะ และ 5. จะต้องทำทุกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในสถานบริการนั้น ความรับผิดชอบจะเกิดขึ้นมี 5 ข้อมาตรการหลัก สถานประกอบการที่เปิดจะทำตามนั้นไหม ภาระหนักจะไปตกอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรค โดยข้อกำหนดที่จะออกมาเป็นคู่มือคือ มาจากสาธารณสุขกำลังทำอยู่ ประมาณ 500 กว่าหน้า
อย่างเมื่อวันที่ 1 พ.ค. วันแรงงาน ก็มีความเคลื่อนไหวของคน ไปช้อปปิ้ง ไปร้านค้า กันแล้ว ก็ได้ไปซุ้มตรวจในห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต เห็นว่าอาจมีวามคลาดเคลื่อน อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตให้เปิดได้ แต่เป็นหน้าที่ของห้างที่จะต้องทำตาม 5 มาตรการที่วางไว้ ตัวอย่างห้างหนึ่งพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร จะมีคนในพื้นที่ 10 ตารางเมตรต่อคน เพราะฉะนั้นจะมี 700 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ 300 คน เพราะฉะนั้นจะรับลูกค้าได้เพียง 400 คน เราต้องคิดหมด นับคนเข้านับคนออก ต้องเข้มงวด ถ้าสถานประกอบการไม่ทำตามนั้นก็จะเตือน ถ้าไม่ทำตามอีกก็ต้องหยุด เพื่อให้คนเข้าไปใช้บริการเกิดความมั่นใจว่าปลอดภัยในการใช้บริการ นี่คือการผ่อนคลาย ภาระจะไปตกที่ผู้ประกอบการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง