ไม่พบผลการค้นหา
นิกิต้า ยูเฟอร์เยฟ สมาชิกสภาเขตสมอลนินสกอยของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในรัสเซีย ซึ่งเป็นเมืองเกิดของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้กล่าวหาว่าปูตินต้องข้อหากบฏ

ในวันที่ 7 ก.ย. กลุ่มสมาชิกสภาเขตได้ยื่นเรื่องต่อรัฐสภาดูมาของรัสเซียในการถอดถอนประธานาธิบดีปูตินจากกรณีสงครามในยูเครน แม้ว่าชาวรัสเซียจะถูกห้ามจากการเรียกสงครามดังกล่าวว่าเป็นสงคราม โดยต้องเรียกว่าเป็น “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ก็ตาม

ยูเฟอร์เยฟ เป็นสมาชิกสภาเขตสมอลนินสกอยตั้งแต่ปี 2562 โดยเมื่อครั้งรัสเซียเริ่มต้นรุกรานยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. 2565 เขาและสมาชิกสภาส่วนหนึ่งได้ขออนุญาตจัดการชุมนุมประท้วงต่อต้านสงคราม แต่คำเรียกร้องในครั้งนั้นของพวกเขาถูกปฏิเสธ

ในวันที่ 2 มี.ค. ยูเฟอร์เยฟและสมาชิกสภาได้เชิญชวนชาวเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้เข้าร่วมการประชุมสภาเขตที่เปิดเป็นสาธารณะ “ประชาชนจำนวนมากได้เข้าร่วมฟังการประชุม แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติเข้าร่วมด้วย พวกเขาสวมใส่หมวกกันน็อกและมีรถขนส่งนักโทษมาด้วย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำอะไร” ยูเฟอร์เยฟกล่าว “มติการประชุมเห็นตรงกันว่า เราจะยื่นอุทธรณ์ต่อปูตินและกระตุ้นให้เขาหยุดปฏิบัติการทางทหาร” อย่างไรก็ตาม อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลรัสเซีย

ในเดือน ส.ค. ยูเฟอร์เยฟได้พยายามส่งข้อความส่วนตัวถึงปูติน และร้องขอให้เขาหยุดการรุกรานยูเครนบนเหตุผลด้านมนุษยธรรม โดยในความพยายามครั้งนี้ สำนักประธานาธิบดีรัสเซียได้ตอบกลับและอ้างว่าสงครามนั้นชอบธรรม เนื่องจาก “เป็นไปเพื่อการปลดอาวุธและต่อต้านความเป็นนาซีของยูเครน”

ดิมิทรี พัลยูกา สมาชิกสภาอีกคนได้ร่างคำร้องทุกข์ในวันที่ 7 ก.ย. 2565 เพื่อส่งให้รัฐสภาของรัสเซีย ทั้งพัลยูกาและยูเฟอร์เยฟย้ำว่า การกระทำของพวกเขาชอบด้วยกฎหมายรัสเซีย “ยังไม่เคยมีการตั้งข้อหาจากการส่งคำร้องใดๆ ให้แก่รัฐสภา กฎหมายรัสเซียปกป้องสิทธิ์ของพวกเราในแง่นี้” พัลยูกากล่าว

เขากล่าวว่า ความคิดในการการส่งคำร้องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาเห็นผู้วิพากษ์วิจารณ์การรุกรานยูเครนจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย แม้กระทั่งในกลุ่มเทเลแกรมของผู้สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียยังกล่าวว่าสงครามในยูเครนนั้น “ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซีย”

ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อเล็กเซ โกรินอฟ นักการเมืองในกรุงมอสโกได้ถูกตัดสินจำคุก 7 ปีจากข้อหาเผยแพร่ความเท็จเกี่ยวกับกองทัพรัสเซีย พัลยูกากล่าวว่า เขารู้ดีถึงชะตากรรมของโกรินอฟ “เรารู้ว่าการกระทำของเรามีความเสี่ยง แต่เรารู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะทำ” เขากล่าว

ยูเฟอร์เยฟและพัลยูกาเผยแพร่คำร้องบนทวิตเตอร์ให้ประชาชนทั่วไปทราบ คำร้องระบุว่าปูตินได้แสดงสัญญาณของความเป็นกบฏ โดยปรากฏออกมาใน 4 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ การทำลายหน่วยรบของรัสเซียที่พร้อมรบ การบาดเจ็บและเสียชีวิตของเยาวชนรัสเซีย การทำร้ายเศรษฐกิจรัสเซีย และการขยายตัวขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) หลังสงคราม ซึ่งทำให้ยูเครนได้รับความช่วยเหลือด้านการทหารจากชาติตะวันตก และขัดแย้งกับเจตนาของปูตินในการปลดอาวุธยูเครน

“พวกเราไม่ได้มองว่าการขยายตัวของ NATO เป็นภัยคุกคามโดยตรงกับรัสเซีย แต่เราระบุลงไปในคำร้องเพื่อโน้มน้าวกลุ่มต่างๆ ในรัสเซียที่มีจุดยืนต่างกัน เพื่อบอกกับพวกเขาว่าเรื่องทั้งหมดนี้ควรหยุดได้แล้ว” ยูเฟอร์เยฟกล่าว

เขายังระบุอีกว่า ครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซีย ได้ขาดการประชุมเมื่อสภาลงมติให้มีการยื่นคำร้อง อย่างไรก็ตาม กฎหมายรัสเซียระบุว่า หากมีสมาชิกสภาเข้าร่วมการประชุมเกิน 10 คน ก็สามารถลงคะแนนได้แล้ว ก่อนที่ในท้ายที่สุด จะมีสมาชิกสภา 7 คนที่รับรองการยื่นคำร้องนี้

“แม้ในเชิงเทคนิค คำร้องของเราจะถูกส่งไปที่ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของรัสเซีย แต่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก เพราะพวกเขาจะตอบโต้ด้วยบางอย่างที่ไร้เหตุผลอยู่ดี” ยูเฟอร์เยฟกล่าว เขาระบุว่าคำร้องนี้เป็นเรื่องของการสื่อสารกับประชาชนชาวรัสเซียมากกว่า “เราอยากให้พวกเขารู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้”

พัลยูกามีความเห็นในทำนองเดียวกัน “เราทำลงไปเพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นว่า มีเจ้าหน้าที่ที่พวกเขาเลือกตั้งขึ้นมาที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม และเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็พร้อมที่จะพูดมันออกมาดังๆ”

ขณะนี้ สมาชิกสภาทั้ง 2 ได้รับการติดต่อจากตำรวจให้เข้ารับฟังข้อกล่าวหา “ทำลายชื่อเสียงของกองทัพรัสเซีย” แล้ว

“ถ้าพวกเขาจะลงโทษเรา พวกเขาก็จะทำอยู่ดี แต่เราควรทำอย่างไรล่ะ อยู่เฉยๆ และไม่พูดอะไรงั้นหรือ” ยูเฟอร์เยฟกล่าว

 

ที่มา:

https://www.dw.com/en/st-petersburg-district-councilors-accuse-putin-of-treason/a-63079503?fbclid=IwAR2n0KYPOgVIKIyK_AqGPgu83DflsurX97r5TG3LaH798lcdvuR95lIJOdM