ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลก (WHO) สั่งระงับใช้ 'ไฮดรอกซีคลอโรควิน' ยาต้านมาลาเรียรักษาอาการโรคโควิด-19 เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่ยังมียาอื่นๆ ที่ไทยและต่างประเทศใช้รักษาโควิด-19 โดยยาบางตัวมีผลข้างเคียงที่ควรรู้

บริษัทยาเอกชนและรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งทดสอบวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ 'โควิด-19' แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากประเมินว่ากว่าจะทดสอบในมนุษย์และได้รับการรับรองให้ใช้งานจริงได้ อาจต้องรออย่างน้อย 1 ปี ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้แพทย์และผู้เกี่ยวข้องพิจารณาการใช้ยาอื่นๆ ที่มีในการรักษาบรรเทาอาการของโรค รวมถึงใช้วิธีป้องกันและควบคุมการติดต่อโรคอย่างเคร่งครัด

ล่าสุด WHO สั่งระงับใช้ตัวยา 'ไฮดรอกซีคลอโรควิน' หรือ hydroxychloroquine ในการรักษาอาการผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพราะมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าวอาจทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmias) หลังวารสารการแพทย์ Lancet เผยแพร่ผลสำรวจอาการผู้ป่วยโรคโควิด-19 เกือบ 3,500 คน ที่ได้รับการรักษาด้วยไฮดรอกซีคลอโรควิน อ้างอิงฐานข้อมูลที่ได้จากโรงพยาบาล 400 แห่งใน 35 ประเทศ 

ทางด้าน นพ.อนุพงศ์ สุจิรยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนี้่ว่า โควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่ยังไม่มียารักษาที่ชัดเจน จึงเกิดการรักษาที่ใช้ผลและประสิทธิภาพข้างเคียงจากยา ในหลายประเทศจึงใช้ไฮดรอกซีคลอโรควิน ป้องกันโควิด-19 แต่ต้องเข้าใจ ว่ายาทุกขนานล้วนมีอันตรายและผลข้างเคียง


4 ตัวยาที่ใช้ในการรักษาอาการโรคโควิด-19
  • เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)

ข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เรมเดซิเวียร์เป็นยาที่ใช้ได้ผลในห้องทดลองและสัตว์ทดลองที่ติดเชื้อไวรัสซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง และไวรัสเมอร์ส ที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง แต่ยาตัวนี้ยังไม่ได้วิจัยที่อย่างเป็นระบบ และไม่มีข้อมูลยืนยันที่เชื่อถือได้ว่ามีประสิทธิผลการรักษาในคน แต่หลายประเทศที่เป็นสมาชิก WHO นำตัวยานี้มาใช้ในการรักษาโควิด-19 รวมถึงไทย

  • ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือ 'อาวิแกน' (Avigan)

เป็นยาต้านไวรัสที่ผลิตครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 2014 (พ.ศ.2557) เพื่อรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดย 'ฟาวิพิราเวียร์' เป็นชื่อสามัญ แต่บริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้พัฒนายาตัวนี้ตั้งชื่อแบรนด์ว่า 'อาวิแกน' และมีการประยุกต์ใช้ยาตัวนี้กับผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในแอฟริกา 

เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้นำของญี่ปุ่น อนุมัติให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ในประเทศ พร้อมระบุว่าจะเร่งผลิตยาเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในประเทศและบริจาคให้กับประเทศอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำญี่ปุ่นระบุว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับยา 'ทาลิโดไมด์' ที่เคยใช้รักษาอาการอักเสบทางผิวหนังและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอยู่ช่วงหนึ่งในอดีต ก่อนจะถูกห้ามใช้กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะยาดังกล่าวทำให้พัฒนาการของทารกในครรภ์ผิดปกติ ส่งผลให้คลอดออกมาพิการได้

  • โลพินาเวียและริโทนาเวีย (lopinavir และ Ritonavir) 

ข้อมูลขององค์การเภสัชกรรมระบุว่า ยาเม็ดโลปินาเวียและริโทนาเวีย เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาอาการผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส HIV-1 ใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการนำตัวยานี้มาใช้รักษาอาการผู้ป่วย โดยใช้ร่วมกับยาต้านไข้หวัดใหญ่ด้วย โดยกรณีของไทยสามารถผลิตยาตัวนี้ได้เอง

ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ H-Focus รายงานอ้างอิงราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย แนะนำ 'ข้อต้องระวัง' หากจะใช้ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์รักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพราะเป็นยาที่มีผลข้างเคียงมาก 

อาการข้างเคียงที่พบบ่อยจากการใช้ยานี้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ผลข้างเคียงอื่นที่อาจพบได้คือ ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผื่น ไขมันในเลือดสูง และมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นอกจากนี้การรับประทานในระยะยาวมีความสัมพันธ์กับการเกิดเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะไตวายเรื้อรัง


ยังไม่เคยทดลองใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' รักษาโควิด-19

แม้จะมีการส่งต่อข้อมูลเรื่อง 'ฟ้าทะลายโจร' ว่าสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือแอปพลิเคชันสื่อสาร แต่กรมควบคุมโรคระบุว่าสรรพคุณยาสมุนไพร 'ฟ้าทะลายโจร' เป็น "ยาสมุนไพรที่กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแนะนำให้ใช้รักษาหวัด และให้กินทันที"

อย่างไรก็ตาม กรณีโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ ก่อโรคที่ค่อนข้างรุนแรงในผู้สูงอายุและผู้มีภูมิต้านทานต่ำ จึงยังไม่เคยมีการนำฟ้าทลายโจรมาทดลองใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: