ทั้งนี้ มาครงจะเดินทางไปพร้อมกับคณะผู้แทนของซีอีโอกว่า 50 คน และพบปะกับชุมชนธุรกิจของฝรั่งเศสในจีน แต่ทุกสายตาจากทั่วโลกจะจับตาดูว่า มาครง และ ฟอน แดร์ ไลเอิน จะหารือเกี่ยวกับประเด็นสงครามยูเครนกับผู้นำจีนอย่างไร ซึ่งอาจเป็นความพยายามในการขอแรงสนับสนุนจากจีนโดยยุโรป เพื่อจัดการกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน
จีนวางตัวเป็นกลางในสงครามยูเครน แต่สนับสนุนรัสเซียทั้งทางเศรษฐกิจและการทูตเมื่อเผชิญกับการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก เนื่องจากการทำสงครามรุกรานยูเครน แม้จีนจะระบุว่าทุกชาติต้องเคารพหลักอธิปไตยและบูรณภาพของดินแดนของทุกรัฐ นอกจากนี้ สียังมีการต่อสายตรงพูดคุยกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นมานานกว่าทศวรรษ โดยในเดือน มี.ค. ทั้งคู่ได้ลงนามในความร่วมมือทางยุทธศาสตร์จีน-รัสเซีย ระหว่างการเยือนกรุงมอสโกของประธานาธิบดีจีน
ในการประชุมสุดยอด G20 เมื่อเดือน พ.ย. มาครงเรียกร้องให้จีน “มีบทบาทในการไกล่เกลี่ยมากขึ้น” ในสงครามยูเครน แต่รัฐบาลจีนยังไม่ได้ก้าวไปสู่บทบาทอื่นใด นอกเหนือจากการออกแผนสันติภาพ 12 ประการ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งรัฐบาลยูเครน และพันธมิตรชาติตะวันตก
การเดินทางของมาครง ถือเป็นการเดินทางเยือนจีนครั้งแรกของประธานาธิบดีฝรั่งเศส นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อุบัติขึ้นเมื่อต้นปี 2563 เมื่อทางการจีนปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบ โดยมาครงเดินทางเยือนจีนล่าสุดเมื่อปี 2562 ทั้งนี้ การเดินทางเยือนของมาครง เกิดขึ้นตามหลังการเดินทางเยือนจีนของ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เมื่อเดือน พ.ย. แต่โชลซ์ถูกวิจารณ์ว่า เขามุ่งเน้นแค่การผลักดันประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนี มากกว่าการผลักดันให้จีนเข้าร่วมการหาหนทางสู่สันติภาพของยูเครน
มาครง และ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตกลงทางโทรศัพท์ก่อนการเดินทางของผู้นำฝรั่งเศสเพื่อติดต่อกับจีน ในการเร่งการยุติสงครามในยูเครน โดยทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวเมื่อวันพุธ (4 เม.ย.) ว่า “ผู้นำทั้งสองได้กล่าวถึงความตั้งใจร่วมกัน ที่จะร่วมมือกับจีนเพื่อเร่งยุติสงครามในยูเครน และมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาค”
ระหว่างการแถลงในกรุงบรัสเซลส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฟอน แดร์ ไลเอิน วิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์ที่ “ไม่มีขีดจำกัด” ของจีนกับรัสเซียต่อสาธารณะ ในการเผชิญกับ “การรุกรานยูเครนที่โหดร้ายและผิดกฎหมาย” พร้อมระบุว่า “แผนสันติภาพใดๆ ที่จะรวมการผนวกรัสเซียเข้าด้วยกันนั้นไม่ใช่แผนที่ใช้ได้จริง เราต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นนี้” ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าว
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดดังกล่าว มาครงถูกคาดว่าเขาจะขอให้จีนไม่จัดหาอาวุธให้รัสเซีย แม้จีนจะปฏิเสธว่าตัวเองไม่เคยจัดหาอาวุธให้รัสเซีย ในขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ออกมาเตือนถึงความเป็นไปได้ดังกล่าวก็ตาม ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าการเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดีฝรั่งเศส ไม่น่าจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนใดๆ แต่การเจรจาต่อรองของมาครง จะสามารถสร้างชัยชนะให้กับความมั่นคงของยุโรปได้
ที่มา: