ไอสแตท (ISTAT) หน่วยงานด้านสถิติเปิดเผยตัวเลขผลผลิตของประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 4 ของสหภาพยุโรปอย่างอิตาลี ที่หดตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ในไตรมาส 4/2561 ตกลงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า
นักวิเคราะห์เรียกภาวะที่ผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือ จีดีพี หดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสว่าเป็น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย "ทางเทคนิค” นั่นจึงหมายความว่า ประเทศอิตาลีได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แม้โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจของอิตาลีในปี 2561 จะมีการเติบโตและยังคาดว่าทิศทางในปีนี้จะยังเติบโตต่อเนื่อง
ไอสแตท กล่าวในรายงานว่า "ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ ประมง และในภาคอุตสาหกรรม มีมูลค่าลดลง ขณะที่ภาคบริการทรงตัวเท่าเดิม ในแง่ของอุปสงค์ อัตราการเติบโตขององค์ประกอบภายในประเทศติดลบ (ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ) และมีการเติบโตเป็นบวกในองค์ประกอบด้านการส่งออกสุทธิ"
อย่างไรก็ตาม ตลาดไม่ได้มีการตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอิตาลีครั้งนี้ด้วยความตระหนกมากนัก เมื่อพิจารณาจากระยะห่างพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี และพันธบัตรของเยอรมันในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันคงอยู่ที่ประมาณ 240 จุด ดัชนีตลาดหุ้นของอิตาลี เอฟทีเอสอี เอ็มไอบี (FTSE MIB) ที่เดินอยู่ในแดนบวกปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 ขณะที่ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ที่ 1 ยูโร ต่อ 1.1477 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเวลา 11.43 นาฬิกา (31 มกราคม) ตามเวลาในกรุงโรม ประเทศอิตาลี
เศรษฐกิจภายในอ่อนแอ
ตลอดปี 2561 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอิตาลีโตเพียงร้อยละ 1 ตกลงจากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ในปี 2560 ในไตรมาส 3/2561 จีดีพีหดตัวลงที่ตัวเลขดั้งเดิมที่ร้อยละ 0.1 ซึ่งนับเป็นการตกลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี ส่งผลให้ตัวเลขโดยรวมทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ตกลงจากรายงานครั้งก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.7
ไอสแตทชี้ว่าการหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสช่วงปลายปีนั้นมีสาเหตุมาจากการตกต่ำของอุปสงค์ภายในประเทศที่มีน้ำหนักกว่าการเติบโตด้านการค้าที่เป็นบวก
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์สได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด 46 เกี่ยวกับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจอิตาลี โดยผลลัพธ์ออกมาที่ร้อยละ 0.7 ในขณะที่ธนาคารกลางของอิตาลีและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟมองไว้ที่ร้อยละ 0.6
“เราคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 0.5 สำหรับปี 2562 และนี่ยืนบนพื้นฐานที่เราเชื่อว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะกลับมาเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดทั้งปี” ลิโอนาดา เฟอร์เดริโก นักเศรษฐศาสตร์จากยูนิเครดิต (UniCredit) กล่าว
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้แท้จริงแล้วไม่ได้มีแค่อิตาลีประเทศเดียวที่กำลังลำบาก อุตสาหกรรมการผลิตทั่วสหภาพยุโรปตกลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน เป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจจากแถบประเทศที่ใช้ค่าเงินเดี่ยวกำลังเติบโตแม้จะอย่างช้าๆ โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม ยูโรสแตท หน่วยงานด้านสถิติของสหภาพยุโรปออกมาแถลงตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมตกลงร้อยละ 1.7 ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปก็กำลังประสบปัญหาเช่นกัน
ถ้าวิกฤตในครั้งนี้ของอิตาลีจะสอนอะไรประเทศไทยอย่างหนึ่ง ก็คงเป็นการพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะท่ามกลางความผันผวนและไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ไทยก็ไม่ควรไปยืมจมูกประเทศไหนมาหายใจ