ไม่พบผลการค้นหา
ม.หอการค้าเผยดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาส 4/2560 ดีขึ้น สะท้อนธุรกิจกลุ่มนี้ฟื้นตัว ประเมินขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีเงินสะพัด 3 หมื่นล้าน ช่วยแรงงาน 6 ล้านคน ดันจีดีพีเพิ่ม 0.1-0.2%

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส 4/2560 จากการสำรวจธุรกิจ 1,202 ราย ระหว่างวันที่ 3-22 มกราคม 2561 พบว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส 4/2560 อยู่ระดับ 47.9 จุด เพิ่มขึ้น 0.2 จุด จากไตรมาส 3/2560 และชี้มีแนวโน้มดีขึ้นอยู่ระดับ 48.5 จุด ในไตรมาส 1/2561

ทั้งนี้ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของเอสเอ็มอี มาจากผลของดัชนี 3 ตัว ได้แก่ ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ 

ด้านดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาส 4/2560 อยู่ระดับ 42.3 จุด เพิ่มขึ้น 1.2 จุดจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากธุรกิจมีสภาพคล่อง สต็อกวัตถุดิบ หนี้สินรวม ยอดขายรวมดีขึ้น และคาดว่าดัชนีสถานการณ์ธุรกิจดีขึ้นอยู่ระดับ 42.8 จุด ในไตรมาส 1/2561 แต่ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาส 4/ 2560 อยู่ระดับ 50.2 จุด ลดลง 0.1จุด เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น การเพิ่มราคาขายยังไม่ได้ และยังไม่มีกำไร แต่แนวโน้มไตรมาส 1/2561 จะดีขึ้นและอยู่ระดับ 50.4 จุด

เช่นเดียวกับดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจไตรมาส 4/2560 อยู่ระดับ 51.2 จุด ลดลง 0.5 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเอสเอ็มอียังไม่ได้ปรับวิสัยทัศน์หรือกลยุทธ์ รวมถึงเตรียมรับมือรับความเสี่ยงที่ทำให้รายได้หดตัวฉับพลัน ความเสี่ยงการผลิตเพื่อขายยังไม่เต็ม และยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจแบบมีความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีนัก โดยแนวโน้มดัชนีฯ ไตรมาส1/2561 ดีขึ้นและอยู่ระดับ 52.3 จุด

หอการค้า.jpg

เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 5-22 บาท เติมกำลังซื้อ ดันจีดีพีโต 0.1-0.2%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีฯ ดังกล่าว สะท้อนว่าเอสเอ็มอีฟื้นตัวแล้ว โดยมีภาพรวมดีขึ้นทั้งยอดขาย สภาพคล่องธุรกิจ และสภาพหนี้สิน แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ เพราะระดับดัชนีฯ ยังต่ำกว่าระดับ 50

"ในภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจยังกระจุกตัว และยังไม่กระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก จึงเชื่อว่าเอสเอ็มอีจะฟื้นตัวเต็มที่ปลายไตรมาส 3/2561 และรับรู้กำไรได้ โดยธุรกิจที่เด่น คือภาคบริการและท่องเที่ยว พร้อมกับคาดว่าปี 2561 เศรษฐกิจจะเติบโต 4.2-4.5% ตามการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงรัฐอัดงบประมาณผ่านมาตรการต่างๆ เช่น สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น เป็นผลดีต่อกำลังซื้อให้เพิ่มขึ้น จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตได้ 4.4-4.7%" นายธนวรรธน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจพบว่ากำไรเอสเอ็มอียังไม่ค่อยดี เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันและค่าบริหารจัดการสูงขึ้น แต่คาดจะเกิดกำไรครึ่งหลังของปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ในการสำรวจยังพบอีกว่าเอสเอ็มอีไทยพร้อมปรับตัวในระยะยาว เริ่มลงทุนด้านไอทีตามกระแสดิจิทัล และหากได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจะทำให้เอสเอ็มอีฟื้นตัวได้ดีขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 นั้นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ระบุว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที โดยเอสเอ็มอีใช้การปรับตัวและประคองตัวด้วยการไม่จ้างงานเพิ่ม นำเครื่องจักรมาทดแทนคน และทำงานเองบางส่วน

ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 อีกวันละ 5-22 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยอีก 30,000 ล้านบาท และช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยได้ 0.1-0.2% ช่วยให้แรงงานประมาณ 6 ล้านคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และคาดว่า ปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 4.2-4.5% 

"เชื่อว่าด้วยมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ การลงทุนที่ต่อเนื่อง การส่งออกและท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง จะมีเม็ดเงินมหาศาลสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นโอกาสให้เอสเอ็มอีสร้างรายได้ ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 1/2561 จะไม่กระทบอะไร และมีเวลาให้ปรับตัวในไตรมาส 2/2561 ดังนั้น จึงมองว่าจะไม่กระทบต่อธุรกิจเกินไป" นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับประเด็นเงินบาทแข็งค่า เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะติดตามดูแลใกล้ชิด และคาดว่าไตรมาส 1-2 ธุรกิจส่งออกยังประคองตัวได้ หากหันทำประกันความเสี่ยงค่าเงินมากขึ้น ก็จะไม่กระทบกับการส่งออกโดยรวม แต่อาจกระทบทำให้กำไรลดลงบ้าง ดังนั้นจึงคาดว่าส่งออกปีนี้จะขยายตัว 5%

เอสเอ็มอี แบงก์พร้อมอัดฉีดสินเชื่อ 7 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมมาตรการสินเชื่อ 70,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้มีเงินทุนนำไปใช้หมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง รวมถึงเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่หรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจ โดยมาตรการสินเชื่อดังกล่าว ประกอบด้วย

1) โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ภายใต้ข้อกำหนดต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

2) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) สำหรับธุรกิจชุมชน รายย่อย วงเงิน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 4 ปีแรก หากกู้ 1 แสนบาท ผ่อนชำระวันละ 50 บาทเท่านั้น และ

3) สินเชื่อ Factoring สำหรับธุรกิจ SMEs ขนาดย่อม-กลาง วงเงิน 12,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น 7:1:0 โดย 7 ตัวแรกคือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน , 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้ 

ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจสินเชื่อตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่เห็นชอบอนุมัติวงเงิน 245,000 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินรัฐนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2561