ไม่พบผลการค้นหา
'อดัม แบรดชอว์' อาจารย์ชาวอเมริกันกล่าวว่า การพูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงเป็นเรื่องปกติ แต่การออกเสียงให้ถูกต้องมีความสำคัญกว่าเรื่องสำเนียง เพราะจะช่วยให้เราสื่อสารกันเข้าใจมากขึ้น

ช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับคุณภาพการเรียนทางไกลผ่านช่อง DLTV โดยคลิปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในคลิปที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความถูกต้องของหลักไวยากรณ์ สำเนียง และการออกเสียงภาษาอังกฤษ บ้างก็มองว่าครูสำเนียงไม่ดี บ้างก็มองว่าสำเนียงไม่ใช่ปัญหาของการพูดภาษาอังกฤษ แต่เป็นการออกเสียง (pronunciation) มากกว่า

อดัม แบรดชอว์ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษชาวอเมริกันอธิบายว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สำเนียงที่ถูกต้อง เพราะบนโลกนี้มีคนพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่หลากหลายมาก และการพูดด้วยสำเนียงต่างๆ อาจถือได้ว่าเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว

"ทุกคนมีสำเนียงหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของภาษา อเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย แตกต่างกันไป แล้วภายในประเทศแต่ละประเทศยังมีสำเนียงหลากหลายมากมาย คนไทยหรือคนจีนหรือคนญี่ปุ่นหรือใครก็ตามที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ที่ 3 ก็มีสำเนียงการพูด และมีสำเนียงมันไม่ใช่สิ่งที่น่าดูถูกหรือน่าอายมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีเสน่ห์ได้นะครับ"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญต่อการสื่อสารภาษาอังกฤษมากกว่าสำเนียงก็คือ การออกเสียง เพราะการออกเสียงผิดอาจทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างผู้พูดและผู้เขียน ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากการพูดภาษาไทยนัก

"ภาษาไทยก็เหมือนกันครับ ถ้าฝรั่งพูด 'ข้าว' เป็น 'ขาว' ก็คนละความหมายกัน คาว ข่าว ข้าว ค้าว ขาว, มา หม่า ม่า ม้า หมา มันก็คนละความหมายกัน ฝรั่งที่ฝึกภาษาไทยก็ต้องฝึกเรื่องการออกเสียง แต่ก็จะยังติดสำเนียงบ้านเกิดตัวเองอยู่ เวลาอดัมพูดไทย จะมีกลิ่นอายความเป็นฝรั่งด้วย มันก็เป็นสำเนียง แต่การออกเสียงมันก็จะต้องพยายามยึดตามที่เจ้าของภาษาพูดกันครับว่า เป็นเสียงสามัญ เอก โท ตรี จัตวา"

อดัม ยังแนะนำว่า คนไทยที่ต้องการจะฝึกออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน ควรระมัดระวังจุดที่ผิดกันบ่อย อย่างการออกเสียงตัว r และ l การออกเสียงพยัญชนะต้นและตัวสะกด รวมถึงเสียงควบกล้ำ

"ถ้าเป็นภาษาอังกฤษนะครับ สิ่งที่เราจะปรับปรุงพัฒนาในสำเนียงไทยให้มันชัดเจนขึ้น คือตัว /r/ กับ /l/ เช่น คำว่า ข้าว -- rice มีเสียง /r/ ต้นคำ และมีเสียง /s/ ท้ายคำ ถ้าเราออกเสียงว่า "ไล้" ฝรั่งก็จะฟังไม่ออกครับ ถ้าเป็นคำว่าชอบ ก็คนละความหมาย ชอบก็ไม่ใช่ "ไล้" แต่ like ต้องมีเสียงตัวสะกด /k/ ออกเสียง 'คึ' นิดๆ นิดเดียว"

"เรื่องของการควบกล้ำคำว่า back ที่แปลว่าหลัง กับคำว่าสีดำก็คือ black มีเสียงควบกล้ำ /bl/ ถ้าเราอ่านออกเสียงเหมือนกันว่า 'แบ็ก' ฝรั่งก็จะงงว่าพูดคำว่า 'หลัง' หรือ 'สีดำ' ถ้าเป็นคำว่า กระเป๋าก็คือ bag ออกเสียง 'กึ' ตัว g ตอนท้าย คิดดูว่าถ้าเราจะพูดว่า เขามีกระเป๋าสีดำบนหลังของเขา แล้วพูดว่า He has a แบ็ก แบ็ก on his แบ็ก. ออกเสียงคำว่า 'หลัง' 'สีดำ' และ 'กระเป๋า' เหมือนกันว่า 'แบ็ก' 'แบ็ก' 'แบ็ก' นี่ไม่ใช่เรื่องของสำเนียง แต่เป็นเรื่องของการออกเสียงเสียงควบกล้ำเสียง เสียงท้าย ประโยคเมื่อกี้ คือ He has a black bag on his back. 

แบรดชอว์มองว่า คนที่เรียนภาษาอังกฤษไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องสำเนียงเท่ากับการออกเสียง แต่เขาก็ให้กำลังใจคนที่กำลังเรียนภาษาอังกฤษว่า ไม่ต้องกดดันตัวเอง เพราะการฝึกฝนเรื่องการออกเสียงให้ถูกต้องต้องใช้เวลา 

"ผมว่าไม่ต้องจะไปคิดมากเรื่องของสำเนียงครับ ให้เราหันมาให้ความสนใจกับเรื่องการออกเสียงดีกว่า การออกเสียงมันเป็นกุญแจสู่การสื่อสารอย่างรู้เรื่องนะครับ ฝรั่งก็จะเริ่มเข้าใจเรา แล้วเราก็จะเริ่มเข้าใจฝรั่งด้วยการออกเสียงที่ชัดเจน แต่ยังไงมันก็ใช้เวลาหน่อยครับ ไม่ต้องเร่งตัวเองครับ ช้าๆ ได้พร้าเล่มงามครับ ค่อยๆ ฝึกทีละนิดทีละน้อย วันละนิดวันละหน่อยครับค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แล้วสุดท้ายคุณก็จะพูดได้สื่อสารได้ครับ"