'ลอเรน การ์ดเนอร์' และ 'ตงเอิ้นเฉิง' นักวิจัยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ในสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วย 'อเลกซา สโลจัตโทร' และ 'เดวิด เรย์' จากมหาวิทยาลัย UNSW ออสเตรเลีย เผยแพร่ผลประเมินความเสี่ยงที่สนามบินต่างๆ จะเป็นพื้นที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV อ้างอิงข้อมูลเที่ยวบินของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พบว่า สนามบินนานาชาติฮ่องกง เขตบริหารพิเศษจีน เป็นจุดเสี่ยงอันดับ 1 ที่จะพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 n-CoV เพราะเป็นสนามบินที่รองรับนักเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
สนามบินอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงติดอันดับ 2-10 ได้แก่ (2) สนามบินนานาชาติดอนเมือง (3) สนามบินสุวรรณภูมิ ตามด้วย (4) สนามบินชางงีของสิงคโปร์ (5) สนามบินเถาหยวนของไต้หวัน (6) สนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ (7) สนามบินมาเก๊า เขตบริหารพิเศษของจีน (8) สนามบินเกาสงของไต้หวัน (9) สนามบินคันไซของญี่ปุ่น และ (10) สนามบินภูเก็ตประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีสนามบินอื่นๆ ของไทยที่ติดอันดับในงานวิจัยฉบับนี้ด้วย ได้แก่ สนามบินเชียงใหม่ อันดับ 15 สนามบินกระบี่ อันดับ 26 สนามบินหาดใหญ่ อันดับ 41 สนามบินขอนแก่น อันดับ 44 สนามบินนครศรีธรรมราช อันดับ 48 และสนามบินสุราษฎร์ธานี อันดับ 49
ส่วนสนามบินในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอันดับจุดเสี่ยงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นอกเหนือจากสนามบินในประเทศไทย ได้แก่ สนามบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ติดอันดับ 13 สนามบินเตินเซินเญิ้ตในนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม ติดอันดับที่ 21 สนามบินกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ติดอันดับ 27 สนามบินนานาชาติกรุงพนมเปญของกัมพูชา ติดอันดับ 35 สนามบินกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ติดอันดับ 36 สนามบินนครย่างกุ้งของเมียนมา ติดอันดับ 38 สนามบินอังกอร์ในเสียมเรียบของกัมพูชา ติดอันดับ 40 และสนามบินงูระไรห์ในบาหลีของอินโดนีเซีย ติดอันดับ 43
งานวิจัยดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลของ IATA ที่มีการเผยแพร่ครั้งล่าสุด และเป็นการเก็บข้อมูลเที่ยวบินตั้งแต่ปี 2015 และประเมินสถานการณ์ไม่กี่วันหลังจากที่จีนมีคำสั่งปิดระบบขนส่งมวลชนจากเมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 23 ม.ค.เป็นต้นมา
ในช่วงแรก จำนวนผู้ติดเชื้อที่ประเมินในงานวิจัยกับตัวเลขที่รัฐบาลแต่ละประเทศรายงานยังไม่สูงมากนัก และคณะนักวิจัยสรุปว่าจะต้องประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติมหลังจากที่รัฐบาลทั่วโลกมีมาตรการที่เกี่ยวข้องในการรับมือหรือควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากงานวิจัยฉบับนี้เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 26 ม.ค. รัฐบาลและสายการบินหลายแห่งทั่วโลกได้ทยอยประกาศมาตรการควบคุมและระงับเส้นทางบินไปยังประเทศจีนเพิ่มเติม รวมถึงยกระดับมาตรการตรวจสอบ-คัดกรองนักเดินทาง ทำให้ข้อมูลที่ประเมินในงานวิจัยอาจปรับเปลี่ยนไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติม
ขณะที่นายแพทย์เทดรอส อัดฮานอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO แถลงว่าคำสั่งระงับการบินไปยังจีน รวมถึงคำสั่งห้ามนักเดินทางจากจีนเข้าประเทศต่างๆ อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนกที่ส่งผลกระทบต่อทั้งชาวจีนและนักเดินทางจากประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศพิจารณาปรับแก้หรือยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางโดยเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: