ไม่พบผลการค้นหา
ตัวเลขส่งออกเดือน ธ.ค. ลดลงร้อยละ 1.72 มูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สินค้าเกษตรสำคัญทั้งข้าว ยาง มัน กุ้ง อาหาร ร่วงทั้งแผง แม้ทั้งปีเติบโตร้อยละ 6.7 มูลค่ารวม 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2562 ตั้งเป้าส่งออกโตร้อยละ 8

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึง การส่งออกในเดือน ธ.ค. 2561 มีมูลค่าส่งออก 19,381.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 633,803 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว, ผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงแนวโน้มการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี และการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอตัว

ส่วนสาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือน ธ.ค. ติดลบ มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลงร้อยละ 6.6 เช่น ข้าว ลดร้อยละ 5.5 ยางพาราลดลงร้อยละ 32.3 มันสำปะหลังลดลงร้อยละ 22.8 อาหารลดลงร้อยละ 3.3 กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ลดลงร้อยละ 13.2 ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมติดลบร้อยละ 0.8 เช่น รถยนต์นั่ง ลดลงร้อยละ 0.9 รกจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 4.4 เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ลดร้อยละ 13.5 เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 1.7

ส่วนภาพรวมส่งออกทั้งปี 2561 มีมูลค่า 252,486.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบปี 2560 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 8 โดยมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยตัวเลขรวมถือว่า มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์และถือว่าทำได้ดี เมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะที่มีปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจคู่ค้าและปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน 

เมื่อดูตลาดส่งออก เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด เช่น ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 อาเซียน (9 ประเทศ) เพิ่มร้อยละ 14.7 CLMV เพิ่มร้อยละ 16.6 จีนเพิ่มร้อยละ 2.3 อินเดีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ฮ่องกง เพิ่มร้อยละ 1.8 เกาหลีใต้ เพิ่มร้อยละ 4.9 ทวีปออสเตรเลีย เพิ่มร้อยละ 2.9 แอฟริกา เพิ่มร้อยละ 9.7 ลาตินอเมริกา เพิ่มร้อยละ 3.1 สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) เพิ่มร้อยละ 7.1 รัสเซียและ CIS เพิ่มร้อยละ 10.1 ส่วนตะวันออกกลาง ลดลงร้อยละ 5 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 249,231.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.51 เกินดุลการค้ามูลค่า 3,254.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับเป้าหมายการส่งออกปี 2562 กระทรวงพาณิชย์วางเป้าหมายเติบโตไว้ที่ร้อยละ 8 ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนจะต้องส่งออกให้ได้อย่างต่ำ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไป 

นอกจากนี้ ต้องเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทน และพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น โดยสนับสนุนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เพื่อยกระดับสินค้าไทย ทั้งนี้ มองว่าหากสงครามสหรัฐฯ และจีนตกลงกันได้ด้วยดีและทิศทางความผันผวนค่าเงินบาทไม่แข็งค่าไปมาก และกลับมาอยู่ที่ 31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ คาดว่าจะทำให้การค้าโลก และการส่งออกของไทยกลับมาฟื้นตัวได้ไตรมาส 2/2562

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีที่การส่งออกไทยในเดือนธันวาคม 2561 ติดลบร้อยละ 1.71 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าติดลบร้อยละ 0.95 ว่า การส่งออกที่ติดลบดังกล่าวแต่เศรษฐกิจไทยยังโตได้ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเข้มแข็ง โดยเศรษฐกิจภายในรัฐบาลชุดนี้ทำมาทั้งหมด เช่น รากหญ้า การดูแลผู้มีรายได้น้อย กระตุ้นการบริโภคได้เข้ามาช่วยรักษาสมดุลของเศรษฐกิจเป็นอย่างดี 

ดังนั้น หวังว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 น่าจะเติบโตถึงร้อยละ 4 ส่วนในปี 2562 คาดว่าจะโตมากกว่าร้อยละ 3.8 สูงกว่าที่ธนาคารโลกประเมินไว้

"กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายส่งออกโตร้อยละ 8 ถือเป็นเป้าหมายต้องทำงานให้เต็มที่เป็นการมองในแง่ดี เมื่อส่งออกเริ่มติดลบโครงสร้างสินค้าส่งออกต้องพัฒนาให้มากกกว่านี้ และต้องกว้างกว่านี้ พัฒนาเศรษฐกิจในประเทศให้เกิดความสมดุลสู้เศรษฐกิจนอกประเทศ" นายสมคิด กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :