หลังสงครามการค้าได้จุดชนวนการเปลี่ยนแปลงในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก ตั้งแต่อุตสาหกรรมสินค้าคงทนขนาดใหญ่อย่างรถยนต์และเครื่องจักร ไล่ไปจนถึงสินค้าเทคโนโลยี ก็ได้เวลาที่ อุตสาหกรรมของเล่นต้องปรับตัวเช่นกัน
ล่าสุด 'ฮาสโบร' บริษัทของเล่นและเกมสัญชาติอเมริกัน ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การผลิตของเล่นจากภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง โฟรเซน (Frozen) และ อเวนเจอร์ส (Avengers) หลังจากใช้จีนเป็นแหล่งผลิตที่สินค้าที่มีคุณภาพในราคาต้นทุนแสนถูกมานาน ล่าสุดในการแถลงผลประกอบการประจำไตรมาส 2 บริษัทก็ได้ประกาศจะปรับลดผลิตสินค้าในจีนลงกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2563 หรือลดกำลังการผลิตลงจากระดับ 2 ใน 3
ไบรอัน โกลด์เนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอฮาสโบร กล่าวว่า บริษัทมีแผนขยายการผลิตออกไปทั่วโลก และรู้สึกพึงพอใจกับทุกๆ แห่งที่เข้าไปทำกิจการ พร้อมย้ำถึงศักยภาพในการเติบโตของฮาสโบร หลังบริษัทมีรายได้มากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลให้หุ้นของฮาสโบรพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 6.7
สอดคล้องกับสิ่งที่ 'ดีโบราห์ โธมัส' ประธานเจ้าหน้าการเงิน หรือ ซีเอฟโอฮาสโบร บอกว่า ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาผู้ค้าปลีกหลายรายต้องหยุดการนำเข้าสินค้าจากโรงงานในจีนเพื่อรอดูทิศทางสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ทั้งที่ปีที่ผ่านมา รายได้ของฮาสโบรทั้งในสหรัฐฯ และแคนาดามาจากสินค้าที่นำเข้าโดยตรง ซึ่งคาดว่าปีนี้ก็น่าจะลดลงจากสัดส่วนดังกล่าว และทำให้บริษัทต้องหาทางนำเข้าสินค้าด้วยตัวเองจากแหล่งอื่นๆ
พร้อมกันนี้ ซีเอฟโอฮาสโบรยังประเมินว่า สถานการณ์สงครามการค้าของสหรัฐฯ และจีนจะทำให้เกิดกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นและจะส่งผลต่อธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
"เราจึงต้องทำอะไรสักอย่างและเตรียมการสำหรับภาษีที่จะเพิ่มขึ้น หากมันเกิดขึ้น พร้อมกันนั้น เราก็ต้องพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะอันใกล้นี้ด้วย" โธมัส กล่าว
'ของเล่น' ในสงครามการค้า
ทั้งนี้ ฐานการผลิตของเล่นในตลาดโลกตกอยู่ในมือจีนมาเป็นเวลานาน โดยหากมองแค่กำลังการผลิตสินค้าของฮาสโบรก็นับเป็นมากกว่าร้อยละ 67 ของสินค้าทั้งหมดที่ขายในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และจีนที่ต่างใช้มาตรการภาษีตอบโต้กันไปมา การผลิตสินค้าในจีนจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักสำหรับผู้ผลิตของเล่นทั่วโลก
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น อาจไม่ถึงขั้นเป็นการหนีตายของผู้ผลิต แต่คงเรียกได้ว่าเป็นการหาทางเลือกใหม่ที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตมากกว่า และแน่นอนว่าผู้ชนะในสงครามการค้ามาตลอดอย่าง เวียดนาม กลายเป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง รวมทั้ง อินเดีย ที่เหมือนจะลอยตัวอยู่เหนือสงครามการค้าครั้งนี้เช่นเดียวกัน
หากมีการย้ายฐานการผลิตออกไปจริง สมรภูมิการผลิตอุตสาหกรรมของเล่นจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และการที่จีนจะกลับเข้ามาครองตลาดอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :