ไม่พบผลการค้นหา
ใกล้ได้คิวพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในปลายเดือน ก.ย. ล่าสุดพรรคร่วมรัฐบาลมีคิวยื่นญัตติ 1 ก.ย. ขณะที่ฝ่ายค้านได้ยื่นนำร่องไปก่อหน้า ส่วนภาคประชาชน 5 หมื่นชื่อยังอยู่ระหว่างรวบรวมเพื่อดันเข้ารัฐสภา 'วอยซ์ออนไลน์' สำรวจโมเดล ส.ส.ร. 3 ฝ่ายที่เห็นตรงกันว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่มีสูตรจัดทำร่าง รธน. ที่แตกต่างกัน

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ .) พ.ศ. ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ยกเว้นพรรคก้าวไกลได้ยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2563 เป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น

คือ 1.ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา 3 วาระ 

2.ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการให้ลงวิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งสองสภา

หากยึดยอด ส.ส.และ ส.ว.ในปัจจุบันจะมีจำนวน 750 เสียง นั่นเท่ากับว่าการผ่านวาระที่ 1 ต้องมีเสียงสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 375 เสียง

3.ในวาระที่สองพิจารณาเรียงลำดับมาตราต้องจัดให้มีการรับฟังควาามเห็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

4.พิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นให้รอไว้ 15 วัน แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สาม

5.ในวาระที่สาม ให้เรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย ต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

6.เมื่อลงมติเสร็จในวาระที่สามให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ

7.ก่อนนายกฯ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. ส.ว.หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1ใน 5 เข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก หรือประธานรัฐสภา ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 255 และให้ประธานแห่งสภาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับเรื่อง

เพื่อไทย สมพงษ์ ฝ่ายค้าน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เสรีรวมไทย ประชาชาติ 98-484A-92F6-B4367EE099F3.jpeg
  • ฝ่ายค้านดันโมเดลเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทุกจังหวัด

ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีหมวดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไว้ในมาตรา 256/1 ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแต่ละจังหวัด การคำนวณจำนวน ส.ส.ร.แต่ละจังหวัดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร. 200 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง เป็นต้น ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี 

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เสร็จใน 60 วัน

  • ฝ่ายค้านชง ส.ส.ร.จัดทำ รธน.ใหม่ใน 120 วัน ให้ประชามติเห็นชอบ

โมเดลของพรรคร่วมฝ่ายค้านกำหนดให้ ส.ส.ร.ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน 45 คนทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ ส.ส.ร.กำหนด โดย กมธ.ยกร่างฯ 30 คนมาจากการแต่งตั้งของ ส.ส.ร. จากผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 5 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดินและร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน

ให้ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จใน 120 วันนับแต่วันประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จให้นำเสนอต่อประธานรัฐสภา และส่งให้ กกต.ใน 7 วันเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดย กกต.ต้องกำหนดวันออกเสียงประชามติ 45-60 วัน

เมื่อผลออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภาหรือประธาน ส.ส.ร.แล้วแต่กรณีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย แต่ถ้าผลออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป

ผลศึกษา รัฐธรรมนูญ พีระพันธุ์ โภคิน 8F6D-1FA625A0FEF6.jpeg
  • พรรคร่วม รบ.ให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. 150 คน บวกสภาเคาะอีก 50 คน

ขณะที่โมเดล ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะยื่นญัตติในวันที่ 1 ก.ย.นี้ กำหนดหมวดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มี ส.ส.ร. 200 คน โดย 150 คนมาจากการเลือกตั้งตามสัดส่วนประชาชนอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน อีก 50 คนมาจากการเลือกของ ส.ส. และ ส.ว.อย่างละ 10 คน และมาจากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีที่ เลือกผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ และการในการบริหารราชการแผ่นดิน 20 คน และสัดส่วนจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาอีก 10 คน ให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดทั้งหมด 

สำหรับคุณสมบัติ ส.ส.ร. กำหนดให้มีนิสิต นักเรียน นักศึกษา กำหนดอายุไว้ไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันเลือกตั้ง และ ส.ส.ร. ห้ามเป็น ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี

สูตรของพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้การคัดเลือก ส.ส.ร.เสร็จแล้วให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 240 วัน

ซึ่งหลังจากขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือก ส.ส.ร. 200 คนแล้วเสร็จ ชุดดังกล่าวจะต้องดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใน 240 วัน 

แก้รัฐธรรมนูญ.jpgรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ.jpg
  • โมเดลไอลอว์ ส.ส.ร. 200 คนยึดประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คุณสมบัติไม่จำกัดอายุ

ขณะภาคประชาชน นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (ไอลอว์) iLaw ที่เข้าชื่อ 50,000 คน ยังเหลือรายชื่ออีก อีก 16,767 รายชื่อ (31 ส.ค. 2563) ซึ่งไอลอว์ได้ชูแคมเปญ "ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ" แต่คาดว่าจะไม่ทันสมัยประชุมรัฐสภาที่จะปิดสมัยในปลายเดือน ก.ย.นี้

ในร่างของไอลอว์ได้เพิ่มหมวด 17 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในมาตรา 261/1-มาตรา 261/5 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 

โมเดล ส.ส.ร.ของไอลอว์ กำหนดให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 200 คน ออกแบบระบบเลือกตั้งไม่ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งตามท้องที่หรือจังหวัด แต่ให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เมื่่อเลือกตั้งเสร็จให้คำนวณหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามอัตราส่วนของคะแนนที่ได้รับและสำหรับผู้สมัครที่สมัครเป็นกลุ่มให้ได้เป็น ส.ส.ร. ตามลำดับบัญชีรายชื่อที่เสนอไว้

คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษา จำกัดแค่มีสัญชาติไทยอยู่ในประเทศไทย และมีคุณสมบัติห้ามสมัคร ส.ส.ร. อาทิ ผู้ถูกคุมขังอยู่ ผู้เคยถูกไล่ออกราชการเพราะทุจิต เคยถูกพิพากษาว่าร่ำรวยผิดปกติ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทุจริตเลือกตั้ง เป็นต้น และไม่ห้ามผู้ติดยาเสพติด ผู้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก

การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เกิดขึ้นภายใน 90 วันนับแต่วันที่ กกต. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ให้ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 360 วันนับแต่วันที่มี ส.ส.ร.ครบจำนวนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 

  • ถ้ารัฐสภาคว่ำร่าง รธน.ใหม่ ให้ประชาชนลงประชามติจะเห็นชอบหรือไม่

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้เสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบร่างทั้งฉบับ โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมประการใดมิได้ 

การลงมติให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบในการออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของทั้งสองสภา

เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ในกรณีที่มีคะแนนเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.เสนอ

โมเดล ส.ส.ร. 3 ฝ่ายต้องจับตาว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะพิจารณาว่าจะใช้โมเดลของฝ่ายไหน และไทม์ไลน์การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะใช้เวลากี่วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง