ชาติสมาชิกสหประชาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ กับชาติอื่นๆ รวมกว่า 93 ชาติลงคะแนนเสียงเห็นด้วยในการระงับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในขณะที่มี 24 ประเทศลงคะแนนเสียงคัดค้าน และ 58 ประเทศงดออกเสียง
อย่างไรก็ดี ชาติสมาชิกที่งดอกเสียงไม่ได้ถูกนับคะแนนในมติ ส่งผลให้เสียงกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเห็นว่ารัสเซียควรถูกระงับออกจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่มีสมาชิกอยู่ 43 ชาติ
ก่อนหน้านี้ ลิเบียเคยถูกลงมติจากชาติสมาชิกสหประชาชาติให้ระงับการเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2554 จากการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลของอดีตผู้นำเผด็จการอย่าง โมอัมมาร์ กัดดาฟี ทั้งนี้ การลงมติระงับชาติสมาชิกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
มติในครั้งนี้ได้รับการพิจารณาโดยชาติสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ชาติ โดยร่างมติดังกล่าวระบุว่าสหประชาชาติมี “ความกังวลอย่างยิ่งยวดต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและวิกฤตด้านมนุษยธรรมในยูเครน” จากรายงานจำนวนมากที่รัสเซียทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครน ตั้งแต่เริ่มการรุกรานในวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ออกมาเตือนว่า ประเทศที่ลงคะแนนเสียงเห็นด้วยหรืองดออกเสียงจากมติการระงับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะถูกรัสเซียจัดอยู่ในประเทศจำพวก “ท่าทางไม่เป็นมิตร” ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของรัสเซียกับชาตินั้นๆ
การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะดำรงตำแหน่งทุกๆ 3 ปี โดยรัสเซียกำลังอยู่ในตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในสมัยที่สอง อย่างไรก็ดี ผลดังกล่าวไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายใดๆ โดยมติดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่การสะท้อนเสียงจากรัฐสมาชิกสหประชาชาติเท่านั้น
ประเทศที่ลงมติเห็นด้วยกับการระงับรัสเซียจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่วนใหญ่ คือชาติพันธมิตรตะวันตก โดยมีสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป เช่นเดียวกันกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ฯลฯ ในขณะที่ประเทศที่ลงมติไม่เห็นด้วยยังคงเป็น จีน เบลารุส เกาหลีเหนือ เอริเทรีย รัสเซีย ตามมาด้วยลาวและเวียดนาม รวมถึงชาติอำนาจนิยมอื่นๆ โดยประเทศที่งดออกเสียงนอกจากไทยยังคงมี บราซิล กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ
ทั้งนี้ ตัวแทนจากประเทศไทยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติระบุเหตุผลถึงการลงมติงดออกเสียงในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ไทยรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวยูเครน และไทยกังวลต่อการยกระดับสถาณการณ์ความขัดแย้งและวิกฤตด้านมนุษยธรรมในยูเครน โดยไทยชี้ว่ากระบวนต่างๆ ควรดำเนินไปอย่างโปร่งใส และครอบคลุมในข้อมูลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนการตั้งการสอบสวนที่เป็นอิสระเพื่อหาความรับผิดชอบ รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองบูชาของยูเครน
ที่มา: