วันที่ 7 ก.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงข้อเสนอล็อกดาวน์ประเทศว่า ตนเองได้ยืนเช่นนั้นเหมือนกัน ขณะนี้รอข้อเสนอที่เป็นทางการและจะรับพิจารณาพร้อมกับย้ำว่า ศบค. จะฟังกระทรวงสาธารณสุขเป็นอันดับแรก เนื่องจากขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ จึงต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา ส่วนจะออกมาตราการแบบไหน จะต้องหารือกันอีกครั้ง
เลขาธิการ สมช.ย้ำว่า ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับคำว่าล็อกดาวน์ ซึ่งได้มีมาตรการออกมาเมื่อเม.ย.ปี 2563 และหลังจากนั้นเป็นการออกมาตราการปิดกิจการชั่วคราวและลดการเคลื่อนย้าย
ส่วนการประเมินการออกมาตรการจะยังเป็นวันที่ 12 ก.ค. หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็จะมีการประเมินเร็วขึ้นตาม แต่หากมีผู้ติดเชื้อทรงตัวก็จะยังคงเป็นวันที่ 12 ก.ค.เช่นเดิม เพื่อการประเมินที่ครบถ้วนแต่ย้ำว่า ไม่ใช่การนั่งรอดูตัวเลขเฉย ๆ แต่จะควบคู่ไปมาตราการอื่นๆ เช่นการควบคุมการเคลื่อนย้าย การรักษาพยาบาล จัดหาเตียงเพิ่มเติม เป็นต้น
ส่วนการล็อกดาวน์จะเป็นเพียงพื้นที่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาหรือเหมือนกันทั้งประเทศนั้น เลขา สมช. ระบุว่า อาจจะไม่เหมือนกัน และเน้นแต่ละพื้นที่ต่างกัน อย่าง กทม. และปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นก็ต้องมีมาตรการที่สูงด้วยเช่นกัน เพราะหากเป็นการล็อกดาวน์หรือกึ่งล็อกดาวน์ ก็ต้องมีการประเมินและลดหลั่นไปตามลำกับ
พล.อ.ณัฐพล ระบุว่าไม่ได้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่าล็อกดาวน์ของประเทศ เพราะคำว่าล็อก คือการไม่ให้ไปไหน แต่ที่ผ่านมายังอนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้แต่เมื่อไหร่ที่จำเป็นจะต้องใช้ มาตรการล็อกดาวน์ไม่ว่าจะเป็นบางห้วงเวลาหรือบางพื้นที่จะต้องมีความชัดเจนในสถานการณ์
"นิยามของคำว่าล็อกดาวน์ของ ศบค. คือเหตุการณ์เมื่อ เม.ย. 2563 และจะต้องมีมาตรการเพื่อเยียวยาประชาชนรองรับ และข้อมูลที่กระทรวงการคลังแจ้งมาว่า เม.ย. 2563 ใช้งบประมาณเยียวยากว่าเดือน 3 แสนล้าน และยังไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึง ศบค. จึงมีมีการเน้นย้ำ ให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้แต่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามต้องมีการวิเคราะห์ปัจจัยแท้จริงคืออะไร แต่ถามต้นเหตุแท้จริงคือทั้งหมด ก็อาจจำเป็นจะต้องล็อกดาวน์ ซึ่งต้องหารับฟังข้อเสนออย่างเป็นทางการอีกครั้ง"
ส่วนกรณีที่ ครม.ได้มีการอนุมัติจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า วัคซีนซิโนแวคยังมีประสิทธิภาพอยู่ และยี่ห้ออื่นยังไม่สามารถจัดหาได้ในเวลานี้ ถ้าหากรอวัคซีนชนิดอื่นก็จะไม่มีวัคซีนฉีดให้กับประชาชน
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ทยอยเข้ามาก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นต้องมีวัคซีนอื่นๆ และกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะต้องฉีดอย่างไร เช่น การฉีดแบบภาพชนิดที่กำลังมีการพิจารณากันอยู่ โดยย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าวและขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ยังชี้แจงว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพพอ เพียงแต่อาจไม่ได้ตามที่ประชาชนต้องการ 'มีตรงนี้ก็ฉีดตรงนี้ไปก่อน' แต่หากมีที่ดีกว่าก็จะพิจารณาก็จะมีการจัดหายี่ห้ออื่นเข้ามาร่วม
ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อนหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลระบุว่า คงต้องแบ่งสัดส่วนเนื่องจากแพทย์บางส่วนก็มีความเห็นว่า ยังสามารถรอได้ แต่บางส่วนที่อยู่หน้างานก็มองว่าเสี่ยงและกังวล จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงขวัญและกำลังใจ ขอรอผลการพิจารณาจากกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุขก่อน ยอมรับว่าศบค. เป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์/ผู้สูงอายุ/ผู้ที่มีโรคประจำตัว/และพื้นที่การแพร่ระบาด
ส่วนวัคซีนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาบริจาคให้มา ส่วนหนึ่งต้องแบ่งให้กับชาวต่างชาติด้วย เพราะหากฉีดให้กับคนไทยทั้งหมดโดยไม่ดูแลชาวต่างชาติเลย ก็อาจจะกระทบกับความรู้สึกของชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศหรือมีครอบครัวเป็นคนไทย พร้อมย้ำว่า ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ที่จะพิจารณาในสัดส่วนต่อไป
ส่วนกรณีที่สถิติการเวิร์คฟอร์มโฮมของประชาชนยังไม่ถึงร้อยละ 50 นั้น ข้อกำหนดระบุไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีเวิร์คฟอร์มโฮมเต็มขีดความสามารถ แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานราชการที่ยังคงต้องให้บริการประชาชนหรือฝ่ายความมั่นคงจำเป็นที่จะต้องมาทำงาน เพราะไม่สามารถที่จะบริการประชาชนจากที่บ้านได้ แต่ ศบค.ได้เน้นย้ำว่าต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันยอมรับว่าเห็นใจภาคเอกชนบางส่วนที่ทำงานที่บ้านไม่ได้ แต่บางส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง