The Economist เปิดเผยการจัดอันดับประเทศที่บรรดาอภิมหาเศรษฐีสามารถหาผลประโยชน์จากการมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลได้มากที่สุดในโลก ผ่านบทความพิเศษ 'The Parasite Economy' หรือ 'เศรษฐกิจปรสิต' ในรูปแบบของการเทียบสัดส่วนความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีกับ GDP ของประเทศนั้นๆ ในปี 2564 ที่ผ่านมา
ข้อมูลชุดนี้ได้เจาะลึกถึงสิ่งที่เรียกว่า 'Crony Sector' หรือภาคส่วนธุรกิจที่ได้รับการเอื้อประโยชน์จากรัฐบาล ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์จะรู้จักกันในชื่อ 'ทุนนิยมพวกพ้อง' และอีกคำหนึ่งที่จะมาด้วยกันก็คือ 'Crony Capitalism' หรือระบบทุนนิยมพวกพ้อง โดยธุรกิจที่เข้าข่ายได้แก่ การธนาคาร บ่อนคาสิโน การผลิตสินค้าจากการขุดหรือนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ และธุรกิจด้านการป้องกันประเทศ
The Economist ชี้ว่าได้ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลการจัดอันดับความมั่งคั่งคนรวยจาก Forbes ย้อนหลังในระยะเวลา 25 ปี และได้เปรียบเทียบอันดับของปี 2564 และปี 2559 ให้เห็นอย่างชัดเจน
ข้อมูลจาก Forbes เผยให้เราเห็นว่าในปี 2564 อภิมหาเศรษฐีที่ถูกสำรวจจำนวน 2,755 คนมีความมั่งคั่งสุทธิรวมกันทั้งสิ้น 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 435.49 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินของไทยในปี 2564 ที่ 3.3 ล้านล้านบาท พบว่ามากกว่าราว 132 เท่า
สถิตินี้มีการแบ่งประเภท 'ที่มาความมั่งคั่ง' ออกเป็น 2 ประเภทคือ Crony Sector: ธุรกิจที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล และ Non-crony Sector: ธุรกิจที่ไม่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล
'ไทย' รั้งอันดับที่ 9 ของโลกในปี 2564 เพิ่มขึ้น 3 ตำแหน่งจากอันดับที่ 12 ในการจัดอันดับเมื่อปี 2559
อันดับประเทศที่อภิมหาเศรษฐีสามารถหาผลประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลได้มากที่สุดในโลก 20 อันดับแรกประจำปี 2564 เทียบกับปี (2559) คือ
1(1)รัสเซีย 2(2)มาเลเซีย 3(4)สิงคโปร์ 4(3)ฟิลิปปินส์ 5(5)ยูเครน 6(6)เม็กซิโก 7(9)อินเดีย 8(7)อินโด 9(12)ไทย 10(11)จีน (นับรวมมาเก๊าและฮ่องกง) 11(10)ไต้หวัน 12(15)บราซิล 13(8)ตุรกี 14(13)แอฟริกาใต้ 15(14)อังกฤษ 16(17)อาร์เจนตินา 17(16)สหรัฐฯ 18(18)ฝรั่งเศส 19(21)โปแลนด์ 20(19)ญี่ปุ่น
'รัสเซีย' ยังคงครองอันดับ 1 เช่นเคย ยืนยันความแข็งแกร่งของสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและ 'เจ้าสัวแถวหน้า' ของประเทศ โดยพวกเขาครองความมั่งคั่งสุทธิมากเท่ากับสัดส่วนถึง 28% ของ GDP รัสเซียในปีที่ผ่านมา ซึ่งมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบปี 2559 ซึ่งขณะนั้นมีความมั่งคั่งต่อ GDP อยู่ที่ 18% อย่างไรก็ตามตัวเลขของปี 2565 จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนหลังเผชิญการคว่ำบาตรจากนานาชาติเพราะการก่อสงครามต่อยูเครน
จริงอยู่ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญทำให้ผู้คนและธุรกิจสามารถถีบตัวขึ้นมาเป็นเศรษฐี หรือแม้แต่อภิมหาเศรษฐีกันโดยไม่ต้องเข้าหารัฐบาลมากเท่าเดิม แต่
ใช่ว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มาจากการเอื้อประโยชน์โดยรัฐนั้นจะลดลงเสมอไป โดยเฉพาะในหลายประเทศที่แม้จะมีอันดับที่ลดลงหรือเท่าเดิมในลิสต์ 'เศรษฐกิจปรสิต' แต่ผลประโยชน์ในลักษณะ 'Crony' กลับอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่ดี
ตัวอย่างเช่น 'มาเลเซีย' ที่ก่อนหน้านี้ในปี 2563 อดีตนายกรัฐมนตรีถูกสั่งจำคุกเพราะคดีคอร์รัปชั่นและรับข้อกล่าวหาหนักอย่างน้อย 32 กระทง จากกรณีการยักยอกเงินจากโครงการ 1MDB กว่า 4,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 141,975 ล้านบาท แต่มาเลเซียก็ยังติดที่อันดับ 2 ของโลกเช่นเคยทั้งในปี 2559 และ 2564 ขณะที่ใน 'อินเดีย' มีธุรกิจที่ได้ผลประโยชน์จากการเอื้อประโยชน์โดยรัฐบาลเพิ่มจาก 29% เป็น 43% ของ GDP ใน 5 ปี
ในทางตรงกันข้าม 90% ของอภิมหาเศรษฐีจาก 'สหรัฐฯ' เป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่งจากการสร้างตัว หรือเป็นแบบ Non-crony Sector หรือ ธุรกิจที่ไม่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล เป็นอัตราส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มจาก 11% เป็น 17% ในช่วง 5 ปีล่าสุด อันเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม มีการสืบสวนมากยิ่งขึ้นในช่วงหลังถึงความโปร่งใสในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และหากมีการจัดระเบียบบรรดาบริษัทเทคโนโลยีใหม่ กลุ่มที่เป็น 'Crony' อาจเพิ่มสัดส่วนต่อ GDP สหรัฐฯ จาก 2% เป็น 7%
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนผลิตคนรวยระดับอภิมหาเศรษฐีที่มีเงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ได้รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ จาก 89 คนในปี 2553 เป็น 714 คนในปัจจุบัน เทียบเท่ากับ 70% ของเศรษฐีกลุ่มนี้ในสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขามีความมั่งคั่งรวมกันมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แม้ตัวเลขสัดส่วนความมั่งคั่งโดยรวมของบรรดาอภิมหาเศรษฐีจีนจะลดลงจาก 44% เหลือเพียง 24% แต่สัดส่วนความมั่งคั่งของกลุ่มธุรกิจ Crony ต่อ GDP จีนยังคงไม่มีความแตกต่างมากนัก The Economist ชี้ว่า นี่คือผลพวงจากการที่ธุรกิจในจีนไม่ถูกรัฐบาลมองว่าเป็น 'ลูกรัก' ของรัฐบาลอีกต่อไป
และเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นตัวธุรกิจก็จะได้รับผลกระทบอันน่าเจ็บปวดตามมา ดังเช่นในกรณีของอาลีบาบาเมื่อปี 2563 และเคสของ Mikhail Khodorkovsky ที่เคยมีความมั่งคั่งถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2004 กลับต้องถูกยึดบริษัทน้ำมันหลังผิดใจกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน นับเป็นตัวอย่างที่ทำให้โลกได้เห็นว่าในกลุ่มประเทศ 'เผด็จการ' อนาคตของคนรวยมีความเปราะบางและขึ้นตรงต่อต่อจิตใจอันไม่แน่นอนของรัฐบาล