คิม คาร์ดาเชียน เรียลลิตีสตาร์และนักธุรกิจด้านความงามผู้ถือครองสินทรัพย์มากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรากฎตัวที่งาน Met Gala 2022 ในชุดสีครีมยาวเรียบหรูซึ่งหลายคนมองในครั้งแรกแล้วอาจรู้สึกว่า 'เบาไปมาก' ในมาตรฐานของคิม อย่างไรก็ตาม ที่มาที่ไปของชุดนี้ถึงขึ้นเป็นชุดแห่งประวัติศาสตร์เลยทีเดียว และมีมูลค่ามากกว่า 5 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
"ไอเดียนี้เกิดขึ้นหลัง Met Gala ปีที่แล้ว ฉันคิดกับตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นอเมริกันที่สุด สำหรับฉันนั่นคือ มาริลิน มอนโร" คิมให้สัมภาษณ์กับ VOGUE
ชุดสีเนื้อประดับคริสตัล 6,000 เม็ดคือชุดที่ 'ช็อก' คนทั้งสหรัฐฯ มาแล้วซึ่งเป็นที่จดจำกันในชื่อชุด "The Happy Birthday Dress" โดย มาริลิน มอนโร ในยุคที่เธอประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการบันเทิงและเป็นหนึ่งในนักแสดงที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ปรากฏตัวในชุดนี้ที่งานฉลองวันเกิดปีที่ 45 ของอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี หรือ JFK เมื่อกลางปี 2505 เพียงไม่กี่เดือนก่อนเธอเสียชีวิตในเดือน ส.ค.ของปีเดียวกัน
บนเวทีในงานสำคัญนั้นเธอค่อยๆ ปลดชุดคลุมขนเฟอร์สีขาวออกเผยให้เห็นชุดสีเนื้อประดับคริสตัลที่แทบจะมองทะลุผ่านได้ ก่อนเริ่มร้องเพลง Happy Birthday ให้กับ JFK อดีตผู้นำคนสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาอย่างมากในสังคมขณะนั้น
ก่อนหน้านั้นมีข่าวเชิงลบเรื่องการถ่ายปฏิทินวาบหวิวของมอนโร จนทำให้ต้นสังกัดอย่าง Fox Studios สั่งห้ามมอนโรใส่ชุดโชว์สัดส่วนในภาพยนตร์ แต่เธอไม่สนใจ เพราะขณะนั้นเธอได้ออกจากต้นสังกัดเรียบร้อยแล้ว จึงเดินหน้าทำตามสิ่งที่ต้องการในการสวมชุดนี้
"ทุกวันนี้ใครๆ ก็ใส่ชุดสีเนื้อบางๆ ได้ แต่สมัยก่อนมันไม่ใช่เลย ในความรู้สึกก็คือนี่เป็น 'ชุดวาบหวิวแบบต้นฉบับ' นั่นคือเหตุผลว่าทำไมชุดนี้ของมอนโรถึงสร้างความช็อกให้กับทั้งประเทศ" คิมกล่าว
VOGUE เผยว่ามอนโรจ่ายเงิน 1,440 ดอลลาร์ให้กับดีไซนเนอร์ชาวฝรั่งเศส Jean-Louis เพื่อออกแบบตัดเย็บชุดนี้สำหรับเธอในปี 2505 และในปี 2542 ชุดนี้ถูกประมูลไปด้วยมูลค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ และถูกประมูลอีกครั้งที่งาน Julien’s Auctions ปี 2559 ด้วยราคาสูงถึง 4.8 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่ทางพิพิธภัณฑ์ Ripley’s Believe It Or Not จะได้ชุดนี้มาไว้ในครอบครองในปัจจุบัน ทำให้เดรสชุดนี้เป็นชุดที่ถูกประมูลด้วยราคาสูงที่สุดตลอดกาล และถูกเก็บอย่างดีในห้องควบคุมสภาพอากาศ ความชื้น และอุณหภูมิ
"ฉันรักการประมูลและเป็นเจ้าของทรัพย์สินของ JFK อยู่หลายชิ้น และฉันก็เป็นเพื่อนกับเจ้าของ Julien's ด้วย ก็เลยได้เริ่มพูดคุย(เรื่องการยืมชุด)จาก Ripley's" คิมเล่าพร้อมระบุว่าการลองชุดในครั้งแรกเป็น 'ชุดเหมือน' ที่ทำขึ้นสำรอง เธอไม่สามารถใส่ได้จนต้องกลับมาทุ่มเทการออกกำลังกายและควบคุมอาหารอย่างหนักอยู่ระยะหนึ่ง จนถึงวันที่ได้ลองชุดอีกครั้งและเธอสามารถทำได้สำเร็จ
ด้วยความที่เดรสชุดนี้เป็นเสมือนสมบัติชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์อเมริกัน เจ้าหน้าที่พร้อมหน่วยรักษาความปลอดภัยนำชุดจริงจากออร์แลนโดมาให้คิมที่แคลิฟอร์เนียด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ในวันงานเธอไม่ได้สวมชุดจริงขณะที่เดินออกจากโรงแรม คิมเข้าเปลี่ยนเป็นชุดจริงเมื่อถึงข้างบันไดพรมแดงของงานแล้วเท่านั้น และสวมชุดจริงบนพรมแดงเพียงไม่กี่นาทีก่อนจะรีบเปลี่ยนเป็นชุดสำรองอีกครั้งเมื่อเดินเข้างานสำเร็จ
"ทุกขั้นตอนถูกกำกับแบบเป็นนาที เราทำงานกันอย่างหนักเพื่อรักษาสภาพของชุดนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" คิมกล่าว ซึ่ง VOGUE ฟังแล้วถึงขั้นรู้สึกว่า "นี่มันยิ่งกว่าปฏิบัติการทางการทหารซะอีก"
ทั้งนี้ Met Gala จัดขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือน พ.ค.ของทุกปี นี่คืองานเลี้ยงประจำปีเพื่อหารายได้เข้าสถาบันเครื่องแต่งกายแห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันในนครนิวยอร์ก (The Metropolitan Museum of Art in New York City, the Met) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เดอะ เมต กาลา" (The Met Gala) หนึ่งในงานแฟชั่นประจำปีครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด Met Gala กลับมาจัดตามปกติหลังการประกาศยกเลิกในปี 2563 เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564
ดินเนอร์หรูนี้ยังมีชื่อเรียกแบบไม่เป็นทางการอีกหลายชื่อ เช่น "ปาร์ตี้แห่งปี" "งานออสการ์ของฝั่งตะวันออก" "เมต บอล" หรือ ชื่อที่ 'พอล วิลมอต' นักหนังสือพิมพ์ตั้งให้ ซึ่งดูจะตรงกับจุดประสงค์การจัดงานมากที่สุด อย่าง "เอทีเอ็มของเมต" นั่นเป็นเพราะตามปกติราคาบัตรเข้าร่วมงานมีสนนราคาที่ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.1 ล้านบาท ขณะที่ราคาเข้าร่วมงานสำหรับ 1 โต๊ะอยู่ที่ 200,000-300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.4-9.6 ล้านบาท ซึ่งเงินทั้งหมดจะเข้าสู่สถาบันแฟชั่นที่เดอะเมตดูแลเพื่อสนับสนุนการดำเนินการ
ธีมการจัดงานของปีนี้คือการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์แฟชั่นของสหรัฐฯ 'In America: An Anthology of Fashion' โดยแม่งานอย่างแอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารโว้กอเมริกากำหนดการแต่งตัวในปีนี้เป็น Gilded Glamour ซึ่งคือยุค Gilded Age หรือยุครุ่งโรจน์ของแฟชั่นในสหรัฐฯ
ช่วงเวลานั้นสหรัฐฯ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นยุคแห่งการร่ำรวยขึ้นของผู้คน(บางกลุ่ม) และการโอ้อวดความร่ำรวยผ่านการสร้างอสังหาริมทรัพย์ การจัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ และการแต่งกายแบบโอ่อ่าฟู่ฟ่า หลายครอบครัวเดินทางไปยังยุโรปบ่อยครั้งขึ้น มีการเข้าถึงการตัดเย็บเสื้อผ้าในแวดวงชั้นสูงที่กรุงปารีส แล้วนำเอาความฟู่ฟ่านั้นกลับมายังสหรัฐฯ กันมากขึ้น โดยยุค Gilded Age กินเวลาในช่วงปี ค.ศ. 1870-1900 หรือ พ.ศ. 2413-2443
เป็นธรรมดาของทุกปีที่ผู้ชมมักจะมีความสงสัยและเสียงวิพากษ์วิจารญ์ว่าคนดังที่ตบเท้าเข้าร่วม Met Gala นั้นทำตามโจทย์ที่ได้มาอย่างไร เพราะหลายคนอาจปรากฎตัวในชุดที่ดูจะไม่เข้าธีมงานเอาซะเลยในสายตาของบางคน นั่นอาจเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์และสีสันของงานนี้ก็เป็นได้ เพราะ 'การตีความ' เพื่อการแต่งตัวเข้าร่วมงานและ 'การนำเสนอ' ของคนดังแต่ละคนถือเป็นหนึ่งในสีสันหลักที่ทุกคนต่างเฝ้ารอดูในแต่ละปี