เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2563 (ครบ 1 ปี) โดย สถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 1 – 15 ส.ค. 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
การติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล พบว่า ประชาชนร้อยละ 78.6 ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยแหล่งข้อมูลที่ติดตามมากที่สุดคือ โทรทัศน์ (ร้อยละ 93.7) รองลงมา ได้แก่ อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 50.1 ในขณะที่ประชาชน ร้อยละ 21.4 ไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยให้เหตุผล เช่น ไม่สนใจ ไม่มีเวลา/ไม่ว่าง และไม่ชอบ
ความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 33.4 และในระดับปานกลาง ร้อยละ 48 ซึ่งนโยบายที่ประชาชนพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
เรื่องที่ชุมชน หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ คนในชุมชนว่างงาน ไม่มีอาชีพที่มั่นคง ร้อยละ 29.9 สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 18.7 สินค้าเกษตรกรราคาตกต่ำ/ต้นทุนการผลิตสูง ร้อยละ 18. ภัยธรรมชาติ ร้อยละ 16.7 และปัญหายาเสพติด ร้อยละ 7.3
เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ได้แก่ ปัญหาการว่างงาน ร้อยละ 41.2 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง ร้อยละ 20.4 เป็นต้น
ส่วนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 29.8 เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ48.7 เชื่อมั่นน้อยและน้อยที่สุด ร้อยละ 18.4 และไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 3.1
ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ อาทิ ควรช่วยเหลือกลุ่มคนตกงาน ว่างงาน โดยควรมีการดำเนินการเชิงรุกในระดับชุมชน หมู่บ้าน ควรให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านค่าครองชีพ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น การควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและการลดค่าสาธารณูปโภค