ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยประชาชนร้อยละ 76.2 พึงพอใจระดับปานกลาง รัฐบาลเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตามแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 5,800 คน ระหว่างวันที่ 2-16 ม.ค. 2563 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ซึ่งมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวง เสนอ

โดยสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. การติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมือง พบว่า ประชาชนร้อยละ 77.4 ติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมือง โดยแหล่งข้อมูลที่ติดตามมากที่สุด คือ โทรทัศน์ (ร้อยละ 95.5) รองลงมา คือ อินเทอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ (ร้อยละ 39.4) ขณะที่ประชาชนร้อยละ 22.6 ไม่ได้ติดตาม โดยให้เหตุผล คือ ไม่สนใจ ไม่มีเวลา/ไม่ว่าง

2. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน พบว่าประชาชนร้อยละ 74.5 ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับชาติที่ผ่านๆ มา โดยกิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากที่สุด คือ การชักชวนเพื่อน ญาติ คนในครอบครัว และคนรู้จักไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (ร้อยละ 82.1) รองลงมา คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง (ร้อยละ 81.9)

3. ความพึงพอใจในภาพรวมต่อภาครัฐในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด (ร้อยละ 76.2) ขณะที่มีความพึงพอใจน้อยและน้อยที่สุดอยู่ที่ ร้อยละ 18.9 และ 4.9 ตามลำดับ

4. ความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยประชาชนให้ข้อเสนอแนะ 5 อันดับแรก คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง (ร้อยละ 10) รองลงมา คือ การทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ (ร้อยละ 9) การแก้ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีราคาแพง (ร้อยละ 7.4) การแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตร ภัยแล้ง และที่ดินทำกิน (ร้อยละ 4.1) และการดูแลเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุ (ร้อยละ 2.1)

5. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อเสนอแนะ คือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองให้ประชาชนรับรู้และมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การวางแผนหรือการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ให้ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนได้ โดยต้องมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 และ พร้อมกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับรู้ตามความต้องการของประชาชนผ่านการสื่อสารสองทาง คือ รับฟังความคิดเห็นและตอบข้อซักถามของประชาชน รวมถึงมีการติดตาม ประเมินผลเพื่อพัฒนาและปรับปรุงตามความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง