ในคดีให้-รับสินบน บริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) ธุรกิจในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งลงทุนโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียในประเทศอินโดนีเซีย หรือ “คดีปาล์มอินโด”
ทว่าเมื่อ 1 ใน 3 ที่มีรายงานข่าวออกมา ว่า คือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ทำให้วงการปราบปรามการทุจริต ดังกระหึ่มขึ้นไปอีก
ภายหลังปรากฎข่าวไต่สวนผู้บริหารระดับ สูงของสำนักงานป.ป.ช. ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ-ปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ควรแสดงต่อป.ป.ช.จำนวน 260 ล้านบาท โดยคณะกรรมการป.ป.ช.จะพิจารณากันในวันที่ 13 ส.ค.นี้
แม้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ระบุเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ยืนยันว่าคดีของน.ส.สุภา เป็นเพียงกระแสข่าวที่ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนและไม่เป็นความจริง ซึ่ง ป.ป.ช.มีการท้วงติงผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีและนำเรื่องนี้เข้ามาตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีมูล แต่หากอินโดนีเซียมีการฟ้องศาลเอาผิดคนไทย ก็ต้องรอดูความชัดเจนในอนาคต ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลเป็นทางการมาผ่านกระบวนการความร่วมมือทางอาญา
แต่เมื่อตรวจดูผลงานที่ “สร้างชื่อ” ให้กับ “สุภา” จนแสลงหูนักการเมืองบางค่าย คือ การออกมาระบุในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงคลังในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2556 ว่า โครงการรับจำนำข้าว “มีโอกาสและความเสี่ยง” เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน และเปิดตัวเลขความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 2 แสนล้านบาท
ทำให้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รมว.คลัง ในขณะนั้นออกคำสั่งแต่งตั้ง “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดกระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการสอบ “สุภา”
ปลายปี 2555 “สุภา” สร้างวีรกรรมหิ้วเอกสารไปส่งถึงสำนักงาน ป.ป.ช. และศาลปกครองให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของการประมูลใบอนุญาต 3 จี หลบเลี่ยงระเบียบ-ระบบอี-ออคชั่น และเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ภายหลังทำหนังสือทักท้วงไปยังประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ต้นเดือนมิ.ย. 2556 “สุภา” ถูกโยกหน้าที่ - ความรับผิดชอบจากรองปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลด้านรายจ่ายและทรัพย์สิน เข้ากรุงานประชาสัมพันธ์ โดยให้ “พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” รองปลัดกระทรวงการคลังอีกคนมาทำหน้าที่แทน
(สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.)
สาเหตุอันเนื่องมาจาก “สุภา” ไม่ลงนามในสัญญาเงินกู้ 4 หมื่นล้านบาท ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เนื่องจากไม่มีรายละเอียดโครงการ และสุ่มเสี่ยงผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ชื่อของ “สุภา” กลายเป็นตัวตาย-ตัวแทน “วิชา มหาคุณ” อดีต กรรมการป.ป.ช.ทันที
ด้วยบุคลิก-สไตล์การตรวจสอบแนว “สายเหยี่ยว” ยังรับไม้ต่อ – รวมทั้งยังเป็นทายาทสืบต่อจากนายวิชา เพราะต้องรับผิดชอบคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับชาติ
โดย “สุภา” มีคดีร้อนในมือ-เป็นเจ้าของคดีทุจริตระดับ “บิ๊กสตอร์รี่” ทั้ง ดคีสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่มีนักการเมืองระดับแถวหน้าทั้งในอดีต-ปัจจุบันเข้าไปพัวพัน
คดีสด ๆ ร้อน ๆ ที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายวิรัช รัตนเศรษฐ และ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.พลังประชารัฐ กับพวก รวม 24 ราย กรณีทุจริตในการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการก่อสร้างสนามฟุตซอลไม่สามารถใช้งานได้จริง ในเขต 2 จ.นครราชสีมา กว่า 4 พันล้านบาท
ขณะที่ คดีโรงพัก-แฟลตตำรวจ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 8 เสียง ชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) กับพวก ใน 2 คดี กรณีการก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 396 หลังเสียหาย 1,728 ล้านบาทเศษ และคดีก่อสร้างอาคารที่พักตำรวจ (แฟลต) 163 หลัง เสียหาย 3,994 ล้านบาท รวมความเสียหาย 5,722 ล้านบาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งนั้นขาดเพียง ‘สุภา’ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมลงมติด้วย เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียงสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง
แต่ “สุภา” ก็เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ 4 ข้อสำคัญ-พิรุธในการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.)
ข้อสังเกต 4 ข้อ ได้แก่ ในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่กระจายการจัดซื้อจัดจ้าง ผิดมติ ครม. การคำนวณราคากลางโดยไม่สำรวจในพื้นที่จริง และรูปแบบจัดทำสัญญาฉบับเดียว
เป็นการดําเนินการที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549
ในช่วงที่ “สุภา” เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ถูกร้องคัดค้าน-เปลี่ยนตัวในคดีที่ “สุภา” นั่งอยู่ในคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. รวมถึง “คดีปาล์มอินโดฯ” ที่เป็นข่าวอื้อฉาวอยู่ในขณะนี้
แม้กระทั่งคดีแหวนแม่-นาฬิกา (ยืม)เพื่อน” ของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมกระทรวงกลาโหมยุครัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์สมัยที่สอง ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. “ตีตก” ไม่มีมูลเพียงพอ
เป็น “สุภา” เอง ที่เป็น “เสียงข้างน้อย” 5 ต่อ 3 เสียงที่เห็นว่าเมื่อเทียบกับ “คดีสุพจน์ ทรัพย์ล้อม” อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณีการครอบครองรถโฟล์ค ราคา 2.9 ล้านบาท ซึ่งอ้างว่า “ยืมเพื่อนมา” เช่นเดียวกัน
กว่าจะมาเป็น “สุภา” เจ้าของตำแหน่ง “มือปราบหญิง ป.ป.ช.” ในวันนี้
เธอเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แทนนายใจเด็ด พรไชยา อดีตกรรมการ ป.ป.ช.
โดยเริ่มต้นชีวิตข้าราชการชั้นผู้น้อย ก่อนจะเลื่อนขั้นเป็น ผู้อำนวยการส่วนบริหารหลักทรัพย์ในปี 2538 นักวิชาการคลัง 9 ชช. ปี 2539 ผู้อำนวยการสำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ ปี 2540
ก่อนเส้นทางชีวิตข้าราชการจะพุ่งขึ้นเป็นรองอธิบดีกรมบัญชีกลางในปี 2544 ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังในปี 2547 และขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในปี 2552 ก่อนกลับมาเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังอีกหนในปี 2553
ทว่าระหว่างทางชีวิตข้าราชการต้องปะทะกับฝ่ายการเมืองเกือบทุกยุคสมัย ทำให้ไม่สามารถก้าวขึ้นสูงผู้บริหารระดับสูงได้ จบเส้นทางในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลังเท่านั้น
หากดูเส้นทางคอนเน็คชันในหมู่นักการเมือง นักธุรกิจตัวท็อป-เจ้าสัว และเทรคโนแครตทั้งตำรวจ-ทหาร-พลเรือน เพราะเคยเข้าอบรมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 45 และสถาบันวิทยาการตลาดทุนรุ่นที่ 8
ประวัติส่วนตัวเกิดวันที่ 12 ม.ค. 2497 เริ่มต้นเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดสังข์กระจาย เรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดอัปสรสวรรค์ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาเข้าศึกษาต่อในระดับรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ทั้งหมดนี้ คือประวัติและเส้นทางผลงานก่อนเข้ามาสู่มือปราบของ ป.ป.ช.จนนักการเมืองอีกขั้วหนึ่งแสลงหูจนถึงวันนี้!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง