ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างชาติทั่วทุกมุมโลกรายงานถึงเหตุการณ์กราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในจังหวัดหนองบัวลำภูของประเทศไทย โดยหลายสื่อรายงานว่า เหตุการณ์กราดยิงในไทยเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ดี ต้นตอของปัญหาการกราดยิง ได้รับการเปิดเผยจากนักวิชาการสหรัฐฯ ประเทศที่เกิดเหตุกราดยิงอยู่บ่อยครั้งว่า มันมีเชื่อมโยงกันกับปัญหาทางจิต และภาครัฐควรค้นหาผู้ที่กำลังประสบปัญหาทางจิต เพื่อนำมาบำบัดใจให้หายดี ก่อนที่พวกเขาจะลงมือก่อเหตุได้

ไม่ต่างจากไทย ในสื่อสหรัฐฯ มักมีการรายงานถึงผู้ก่อเหตุกราดยิงว่าไม่ต่างอะไรไปจาก “ปิศาจ” เมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงใดๆ เกิดขึ้นในแต่ละมลรัฐของประเทศ อย่างไรก็ดี จิลเลียน ปีเตอร์สัน รองศาสตราจารย์ด้านอาชญวิทยา จากมหาวิทยาลัยแฮมลิน และ เจมส์ เดนส์ลีย์ ศาสตราจารย์ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จากมหาวิทยาลัยเมโทรสเตท พยายามออกมาชี้ถึงปัญหาในอีกมุมมองหนึ่ง ที่ต่างออกไปจากการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลัก พร้อมมองว่าการเรียกผู้ก่อเหตุว่าเป็น “ปิศาจ” ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร และนักการเมืองตลอดจนภาครัฐต้องหันมาลงมือแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม


ไม่เข้าใจปัญหา คือ ต้นเหตุของปัญหา

ในมุมมองของ 2 นักวิชาการ ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ Politico ชี้ว่า ความล้มเหลวในการทำความเข้าใจกับปัญหาการกราดยิง และการอิงข้อมูลตามหลักฐานมากขึ้นว่าทำไมผู้ก่อเหตุกราดยิงถึงลงมือก่อเหตุ ดูเหมือนจะเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะหยุดยั้งเหตุการณ์ต่อไปไม่ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ นักวิชาการทั้งสองได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันยุติธรรมแห่งชาติสหรัฐฯ ที่เป็นหน่วยงานวิจัยของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในการเก็บฐานข้อมูลผู้ก่อเหตุกราดยิงทุกคน ตั้งแต่ปี 2509 ซึ่งยิงและสังหารคนตั้งแต่ 4 คนขึ้นไปในที่สาธารณะ และทุกเหตุการณ์ในการยิงที่โรงเรียน สถานที่ทำงาน และสถานที่ทางศาสนาตั้งแต่ปี 2542

ปีเตอร์สันและเดนส์ลีย์ยังได้รวบรวมประวัติชีวิตโดยละเอียดเกี่ยวกับมือปืน 180 คน โดยพวกเขาทำการพูดคุยกับคู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนสมัยเด็ก เพื่อนร่วมงาน และครู แต่สำหรับมือปืนเองนั้น ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักตายไปก่อนจากการปลิดชีพตนเอง แต่มีมือปืน 5 คน ที่ได้พูดคุยกับนักวิชาการทั้งสองจากเรือนจำ ในขณะที่พวกเขากำลังได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยนักวิจัยทั้งสองยังพบอีกว่า มีหลายคนที่เคยวางแผนจะก่อเหตุกราดยิง แต่เปลี่ยนใจในท้ายที่สุด

จากผลการวิจัยของทั้งสอง ที่ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ The Violence Project: How to Stop a Mass Shooting Epidemic เมื่อปี 2564 เผยให้เห็นถึงความคล้ายคลึงอย่างเห็นได้ชัด ในหมู่ผู้กระทำความผิดจากเหตุกราดยิง และทั้งสองได้เสนอแนะแนวทางที่อิงตามข้อมูลสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ที่สามารถระบุชี้ชัดและนำมาจัดการกับผู้ที่อาจจะก่อเหตุกราดยิงในอนาคตต่อไปได้

นักวิจัยทั้งสองชี้ว่า เหตุการกราดยิงที่เกิดขึ้นใกล้ๆ กันในแต่ละครั้ง มีโอกาสที่ผู้ก่อเหตุในแต่ละกรณีอาจมีความรู้สึกที่เชื่อมโยงกัน โดยหลังจากเกิดเหตุกราดยิงในที่หนึ่งก่อนหน้า และสื่อมีการนำเสนอชื่อของผู้ก่อเหตุในรายแรกไปทั่วทุกหนแห่ง เมื่อมือปืนอีกคนที่ยังไม่ก่อเหตุพบเห็นการรายงานข่าวในกรณีการกราดยิงก่อนหน้า การนำเสนอข่าวดังกล่าวอาจฝังใจให้ผู้ก่อเหตุรายต่อไปตัดสินใจลงมือ 

ปีเตอร์สันเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “ทฤษฎีการแทนที่” ทั้งนี้ เดนส์ลีย์ระบุว่า ผู้ก่อเหตุกราดยิงมักศึกษาการกราดยิงจากเหตุกราดยิงอื่นๆ และพวกเขามักรู้สึกว่าตัวเองเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าว “มันมีคนข้างนอกตรงนั้น ที่รู้สึกเหมือนกันกับฉัน” เดนส์ลีย์กล่าวเพื่อสะท้อนภาพความรู้สึกของผู้ก่อเหตุ

ปีเตอร์สันระบุว่า จากข้อมูลของงานวิจัยชี้ว่า ผู้ก่อเหตุกราดยิงมักมีปัญหาในด้านสุขภาพจิต จำนวนมากสอดคล้องกันกับบาดแผลทางจิตใจในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงในครัวเรือน การล่วงละเมิดทางเพศ การฆ่าตัวตายของผู้ปกครอง การถูกกลั่นแกล้งอย่างรุนแรง ฯลฯ จากนั้น ปัญหาเหล่านี้จะนำผู้ก่อเหตุไปสู่ความสิ้นหวัง ความหมดหวัง ความโดดเดี่ยว ความเกลียดชังตนเอง การถูกปฏิเสธจากคนรอบข้างบ่อยครั้ง นั่นกลายเป็นจุดวิกฤตที่สามารถระบุถึงต้นตอได้แน่ชัด โดยผู้ลงมือมักตอบรับกับปัญหาที่แตกต่างกัน บางรายอาจพยายามฆ่าตัวตายก่อน


ไม่ใช่แค่ฆาตกรรม แต่คือฆ่าตัวตายแบบลากคนอื่นไปตายด้วย

ปีเตอร์สันระบุต่อไปอีกว่า สิ่งที่แตกต่างไปจากการฆ่าตัวตายแบบดั้งเดิม คือ ความเกลียดชังตัวเองกลับกลายไปเป็นการต่อต้านกลุ่มทางสังคม ผู้ก่อเหตุกราดยิงเริ่มถามตัวเองว่า ควาหมดหวังในชีวิตของตน “นี้เป็นความผิดของใคร” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้หญิง หรือกลุ่มศาสนา หรือเป็นเพื่อนร่วมชั้นของฉันหรอ ความเกลียดชังดังกล่าวกลับกลาย และแสดงออกมายังภายนอก นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุยังอาจมีความคิดในการแสวงหาชื่อเสียงและความอื้อฉาวให้แก่ตัวเองอีกด้วย

จากปัญหาในจิตใจของผู้ก่อเหตุข้างต้น ปีเตอร์สันชี้ว่า เหตุการณ์กราดยิงเป็นรูปแบบของการฆ่าตัวตาย ที่อาศัยการลากคนอื่นไปตายกับตัวเองด้วย หรือเป็นสิ่งที่เรียกว่าการฆ่าตัวตายด้วยการใช้ความรุนแรง ปีเตอร์สันระบุว่า ปัญหาดังกล่าวไม่เป็นที่รับรู้ในผู้คนทั่วไป ว่าการกราดยิงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นอีกเรื่องไปจากการฆาตกรรมทั่วไป โดยผู้ก่อเหตุกราดยิงได้ออกแบบสิ่งเหล่านี้ ให้เป็นฉากสุดท้ายในชีวิตของพวกเขา เมื่อผู้คนตระหนักถึงสิ่งนี้ได้ มันจะพลิกความคิดอย่างสิ้นเชิงว่า ใครบางคนที่มีปืนอยู่ในที่เกิดเหตุจะขัดขวางเหตุการณ์ดังกล่าว โดยหากมีสิ่งใดที่เป็นแรงจูงใจสำหรับบุคคลเหล่านี้ ที่พยายามจะเข้าขัดขวางเหตุการณ์ พวกเขาก็จะถูกผู้ก่อเหตุฆ่าไปด้วย

ในทางกลับกัน เมื่อสื่อนำเสนอข่าวถึงผู้ก่อเหตุกราดยิง โดยใช้คำเรียกว่าผู้ก่อเหตุเป็น “ปิศาจ” หรือ “เลวบริสุทธิ์” เดนส์ลีย์ชี้ว่า หากเราอธิบายว่าปัญหาการกราดยิงนี้เป็นความชั่วร้ายหรือแปะป้ายอื่นๆ เช่น การโจมตีของผู้ก่อการร้าย หรืออาชญากรรมจากความเกลียดชัง เราจะรู้สึกดีขึ้นกับเรื่องราวดังกล่าว เพราะมันทำให้ดูเหมือนว่าเราพบแรงจูงใจและไขปริศนาเหตุกราดยิงได้แล้ว

เดนส์ลีย์กล่าวว่าในความเป็นจริงก็คือ เราไม่ได้แก้ไขอะไรเลย เราแค่เพิ่งอธิบายปัญหาออกไปว่ามันคืออะไร คำศัพท์ที่ให้คุณค่าในแง่ลบเพื่อใช้เรียกผู้ก่อเหตุกราดยิงนี้ ทำให้เราไม่สามารถรับรู้ว่ามือปืน คือ หนึ่งในพวกเราเอง อย่างไรก็ดี มันเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุกราดยิง เพราะบุคคลเหล่านี้ได้ทำสิ่งเลวร้ายอย่างใหญ่หลวง แต่ 3 วันก่อนหน้านั้น มือปืนกราดยิงในโรงเรียนเป็นเพียงแค่ลูกชาย หลานชาย เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมชั้นของใครบางคน เดนส์ลีย์ย้ำว่า เราต้องยอมรับว่าผู้ที่อาจลงมือก่อเหตุเป็นมนุษย์ที่มีปัญหา ก่อนที่เราจะเข้าไปตัดสินทันทีว่าพวกเขาเป็นแค่ “ปิศาจ”

ปีเตอร์สันยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์กราดยิง ในเมืองบัพฟาโลของมลรัฐนิวยอร์กก่อนหน้านี้ว่า ผู้ลงมือก่อเหตุบอกกับครูของตนเองว่า เขาจะลงมือฆ่าตัวตายพร้อมกับการฆาตกรรมคนยกหมู่ หลังจากmujเขาเรียนจบแล้ว ผู้คนไม่เคยคิดกันว่าคำพูดดังกล่าวของเขาอาจกลับกลายมาเป็นเรื่องจริงได้ เพราะคนที่คิดว่าผู้ก่อเหตุกราดยิงเป็นเพียงแค่ปิศาจ สัตว์ประหลาดที่ป่วยทางจิต ส่วนนี่คือเด็กในชั้นเรียนของฉันเอง มันดูไม่เชื่อมโยงกัน แต่ปีเตอร์สันชี้ว่า ความคิดดังกล่าว คือ การก้าวข้ามปัจจัยที่สำคัญของต้นตอให้การเกิดเหตุการกราดยิงไป

อย่างไรก็ดี ปีเตอร์สันย้ำว่า การนำเสนอแนวทางที่จะไม่เรียกผู้ก่อเหตุกราดยิงว่าเป็นปิศาจ ไม่ใช่การแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ลงมือสังหารผู้อื่น โดยไม่สนใจชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่ถูกสังหารไปด้วย ปีเตอร์สันระบุว่า ตนไม่ได้พยายามสร้างข้อแก้ตัวใดๆ หรือกำลังพูดว่าผู้ก่อเหตุไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขา แต่ตนกำลังอธิบายถึงเส้นทางที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่ง เลือกเดินไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อมนุษย์คนอื่นๆ ปีเตอร์สันชี้อีกว่า หากเราไม่เข้าใจเส้นทางดังกล่าว เราจะไม่มีวันแก้ไขปัญหาการกราดยิงได้


แก้ไขปัญหาผ่านกฎหมายและการตระหนักรู้

เดนส์ลีย์ระบุว่า การแก้ไขปัญหาอย่างง่ายที่สุดในขั้นแรก คือ การควบคุมอาวุธ ในขณะที่ปีเตอร์สันกล่าวเสริมว่า สถาบันต่างๆ ควรสร้างทีมงานในการสืบสวน เพื่อหากลุ่มคนที่เกิดวิกฤตชีวิต ที่เกี่ยวข้องกันกับปัญหาสุขภาพจิต ปีเตอร์สันชี้ว่า สถานให้บริการปรึกษาด้านจิตวิทยาหาได้ยาก ในขณะที่เราไม่มีชุมชนด้านสุขภาพจิต หรือโรงเรียนด้านสุขภาพจิต เนื่องจากยังขาดการส่งเสริมด้านเงินทุนเพื่อการส่งเสริมการจัดการปัญหาสุขภาพจิต

ปีเตอร์สันระบุว่า จากบริบทของสหรัฐฯ ตนสนับสนุนการออกกกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ในหมู่คนที่มีความเสี่ยงจะใช้ความรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่การกราดยิง ปีเตอร์สันชี้ว่า งานวิจัยชี้ว่าผู้กระทำความผิดจำนวนมาก มักแสดงสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนออกมา พวกเขามักพูดถึงการลงมือก่อเหตุ และบอกผู้คนว่าพวกเขามีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย การมีกฎหมายจัดการกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เพื่อการบำบัดสุขภาพจิตจะช่วยรับมือกับเรื่องดังกล่าวได้

เดนส์ลีย์ชี้ว่า มี 2 สิ่งที่เราควรทำ คือ การฝึกฝนและการตระหนักรู้ปัญหา ผู้คนต้องรับรู้ถึงการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการบังคับใช้กลไกกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการจำกัดการใช้อาวุธ นอกจากนี้ ปีเตอร์สันเสนอว่า เราควรจัดการการศึกษาของตำรวจ หน่วยงานด้านสุขภาพจิต และการสอนในโรงเรียน หากใครแสดงสัญญาณในการก่อความรุนแรง พวกเขาจะได้รับการปรึกษาและรักษาสุขภาพจิตได้ทันกาล


บริบทการกราดยิงในไทย ศูนย์เด็กเล็กไม่ใช่ที่แรก

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ถึงกรณีจ่าสิบเอกกราดยิงเพื่อนร่วมงานจนเสียชีวิตในวิทยาลัยการทัพบก กรมยุทธศึกษาทหารบก ไว้ว่ตนมองว่าไม่ได้เกิดจากการลอกเลียนแบบความรุนแรงของผู้ที่อยู่ในสายงานเดียวกันครั้งก่อนหน้า เพราะไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันและทิ้งระยะห่างเป็นปี จึงไม่ใช่การเลียนแบบ 

โดยปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าในกลุ่มผู้เข้าถึงอาวุธได้ง่าย มีข้อดีในการบังคับบัญชาได้แต่มีจุดอ่อนในกลุ่มผู้ที่ปัญหาแต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ หรือการใช้อำนาจมากเกินไป ซึ่งเป็น 2 ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบฝ่ายความมั่นคง ดังนั้น องค์กรทั่วโลกจึงแก้ปัญหาให้ตรงจุด คือ 1.ทำให้การใช้อำนาจไม่ถูกต้องเกิดขึ้นน้อยที่สุด 2.ทำให้คนทำงานพูดได้ ขอคำปรึกษาได้ และ 3.การควบคุมการใช้อาวุธไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนที่เปราะบาง โดยมีจิตแพทย์ให้คำปรึกษาได้

เมื่อสำนักข่าว Hfocus ถามถึงปัญหาความรุนแรงของไทย นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ท่ามกลางความยากลำบากทางสังคมทั้งวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจในประเทศ ภาวะความขัดแย้งต่างประเทศก็ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ก็เป็นการเติมความเครียดให้กับคนในจำนวนมาก โดยรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น คือ 1.ภาวะซึมเศร้ามากขึ้นกว่า 20% 2.ปัญหาการฆ่าตัวตายก็เพิ่มขึ้นตามมามาก ดังนั้นสังคมต้องร่วมกันทำให้เพิ่มขึ้นน้อยที่สุด หรือทำให้คนได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด และ 3.ความรุนแรงที่เกิดทั้งในและนอกครอบครัว เช่น ท้องถนน ที่ทำงาน ซึ่งความรุนแรงจะไต่ระดับจากคำพูด ความรุนแรงทางกายภาพและสูงสุดคือทำร้ายจนเสียชีวิต โดยองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญการควบคุมเครื่องมือที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง เช่น อาวุธปืนทั้งที่ถูกและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนได้ง่าย เพราะเราคาดเดาไม่ได้ว่าใครจะมีความเครียดจนถึงใช้ความรุนแรง

นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่มผู้ที่ป่วยทางจิตเพียง 4% ดังนั้น 95% ที่เหลือเป็นความรุนแรงจากคนที่ไม่ป่วยแต่มีความเครียดสูง ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ เมื่อต้องดูกลุ่มเสี่ยงใหญ่ ก็สามารถดูจากการเอาอาชีพเป็นตัวตั้ง เช่น ฝ่ายความมั่นคงที่ง่ายต่อการใช้อาวุธ เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือมองภาพใหญ่ของสังคมเป็นตัวตั้ง ก็จะทำให้ 95% ของปัญหาดีขึ้น

เหตุกราดยิงไม่ใช่เหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้นมาเฉยๆ อย่างไม่มีต้นตอ และมันเป็นมากกว่าแค่การฆาตกรรมทั่วไป งานวิจัยชี้ชัดว่า ผู้ก่อเหตุกราดยิงมักตัดสินใจในการกราดยิงสังหารผู้อื่น เพื่อเป็นการปิดฉากชีวิตตนเอง หลังจากที่พวกเขาเห็นกรณีการกราดยิงก่อนหน้า ซึ่งเป็นเส้นทางสู่การจบปัญหาทุกอย่างของพวกเขา จากภาวะวิกฤตด้านสุขภาพจิต การด่วนสรุปว่ามนุษย์คนหนึ่ง “เลวบริสุทธิ์” ไม่ต่างอะไรไปจากการเปิดประตูต้อนรับผู้ก่อเหตุกราดยิงคนต่อๆ ไป ที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อของสังคมไทย โดยเฉพาะบริบททางอำนาจของรัฐไทยเอง ที่ผู้มีอำนาจกดหัวให้ผู้น้อยหลังชนฝา 

หากการละเลยต้นตอของปัญหาการกราดยิงที่แท้จริง ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในสังคมเรา เพื่อให้เราได้ชุดคำตอบสำเร็จรูปว่า ผู้ลงมือเป็นเพียงแค่คนเลวคนหนึ่ง ที่ตัดสินใจกราดยิงไปแบบมั่วๆ ไม่มีเหตุจูงใจอันใด “ปิศาจ” ตัวต่อไป อาจเป็นคนในครอบครัวของคุณเองก็เป็นได้


ที่มา:

https://www.politico.com/news/magazine/2022/05/27/stopping-mass-shooters-q-a-00035762

https://www.hfocus.org/content/2022/09/25952?fbclid=IwAR33PB5v-uFNJ6fgI02PEFnrHgaQKOirwX2Oxx_QqVdga_8kuKqNSCBKcZk