แต่เป็นพลังนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ต้องการเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลง ยากยิ่งกว่ายากในการบริหารจัดการ
พลงอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เอ่ยปากว่า ต้องหาวิธีการบริหารจัดการให้ได้ตามที่เคยบอกว่าจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นนักศึกษาภายในเดือนนี้นั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เตรียมการไว้แล้ว เดี๋ยวต้องไปพูดคุยกัน แต่อย่าเพิ่งให้รัฐบาลและนายกฯลงไปโดยตรงตอนนี้ พูดจริงๆเขาจะเล่นงานนายกฯ ในส่วนของฝ่ายบริหารตอนนี้ให้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนเศรษฐกิจจำนวนมาก
นอกจาก 'เปิดเวที' รับฟังความเห็นจากคนรุ่นใหม่ เปิดให้คุยวันแรกที่ จ.ระยอง ผ่านงานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร 24-25 ส.ค.นี้ พิง “เส้นตาย” เดือนกันยายน ที่กลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ได้ประกาศให้รัฐบาลทำตาม 3 ข้อเรียกร้อง แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน หากไม่ทำตามจะยกระดับ
ทว่า ทางออกเดียวที่นักเลือกตั้งทุกขั้วอำนาจพยายาม 'ปลดชนวน' ระเบิดออกจากม็อบยังบลัด คือเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติกำลัง 'คิกออฟ' ให้เกิดขึ้น ฟากรัฐบาลขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มี 'พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายสายตรงจากทำเนียบฯ เป็นประธาน
มีแผนชง 3 โมเดลข้อเสนอถึง 'พล.อ.ประยุทธ์' 1.แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ปลดล็อกวิธีการแก้รัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น ไม่ต้องง้อเสียง ส.ว. 2.แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 พ่วงสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ 3.แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา
'วิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรี หมอกฎหมายรัฐบาล เคยอรรถาธิบายกลางห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ฟื้นโมเดล “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 'รายมาตรา' ที่เป็นปัญหาของนักการเมือง และ นักศึกษา ไม่ต้องผ่านการทำประชามติ - มี ส.ส.ร.
ขณะที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในพลังประชารัฐ 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค บอกว่า ไม่รู้เดี๋ยวเขาก็เสนอมา เดี๋ยวดูเขาเสนอมายังไง แล้วก็ต้องมีการประชุม คณะกรรมการบริหารพรรคประชุมก่อน
นักข่าวถามว่า จุดยืนสอดคล้องกับรัฐบาลที่พร้อมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “มันก็ต้องแก้อยู่แล้ว”
ดังนั้นตามบริบทของ “พล.อ.ประวิตร” ถือว่าไม่ขัดข้องหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วน 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มือกฎหมายเคลื่อนการเมืองใต้ดิน - บนดิน ในฐานะรองประธาน กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พยายาม 'ขายไอเดีย' แก้รายมาตราต่อสังคม ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ไม่ต้องทำประชามติ
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลต่างโน้มเอียงไปยังการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยให้มี ส.ส.ร.เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะ 'นักเลือกตั้ง' รู้ดีถึงพิษสงของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ในทางปฏิบัติยังต้องเงี่ยหูฟังผู้มีอำนาจ ผู้กำหนดความเป็นไปของรัฐบาลและเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี
ในวงนินทาการเมืองฝ่ายค้าน สะท้อนว่า พรรคพลังประชารัฐก็อยากแก้รัฐธรรมนูญ อยากมีรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะพลังประชารัฐ กับ ประยุทธ์ คนละคนกัน
แต่ในความเป็นจริง คนที่ 'กุมอำนาจ' เป็นผู้คุมเกม คือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังเป็นผู้ชี้ขาดในเกมแก้รัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาล
ขณะที่ฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดย ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ‘สงคราม กิจเลิศไพโรจน์’ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ‘นิคม บุญวิเศษ’ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ‘นภาพร เพ็ชร์จินดา’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย
ปักธงแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ตามโมเดลฝ่ายค้าน ให้มี ส.ส.ร. 200 คนทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส.ส.ร.ให้มาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยให้คำนวณจำนวน ส.ส.ร.ที่แต่ละจังหวัด 'พึงมี' ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร. 200 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน และให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 คณะ ใช้เวลายกร่าง 120 วัน
แต่การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน ไร้ชื่อ 'พรรคก้าวไกล' เพราะจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประกบอีกทอดหนึ่ง
เบื้องหลังในการประชุมพรรคฝ่ายค้านเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ส.ค. เกิดความไม่ลงตัว – ขัดข้องทางเทคนิค ‘เห็นไม่ตรงกัน’ บางประการ ในส่วนของ ส.ส.ร. เมื่อ ‘ก้าวไกล’ แพ้โหวต ที่สุดแล้วต้องยื่นร่างรัฐธรรมนูญประกบภายหลัง
มีการชี้แจงในกลุ่มไลน์ของพรรคกกล่าวไกล ว่า “พรรคก้าวไกลไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย เนื่องจากขอสงวนความเห็นในเนื้อหาสำคัญบางประการเกี่ยวกับ ส.ส.ร. แต่ยืนยันเจตนารมณ์ว่า พรรคยังผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. และยังจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. โดยการยกเลิกมาตรา 269-272”
แต่หมุดหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฝ่ายค้าน – ฝ่ายรัฐบาลถือกำเนิดขึ้นแล้ว
ไม่ว่าจะแก้รายมาตรา หรือ แก้รัฐธรรมนูญ รื้อทั้งฉบับโดยใช้ ส.ส.ร. 200 คน
แต่อย่าลืมว่าผู้คุมเกม คือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ขาดในเกมแก้รัฐธรรมนูญทั้งมวล
มีแต่สังคมเท่านั้นที่จะกดดัน-เปลี่ยนใจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง