วันที่ 12 มี.ค. 2564 ที่พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงท่าทีหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ต้องมีการประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่าจะประสงค์ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การหารือในวันนี้ได้ดำเนินการพิจารณาคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้ ในการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคฝ่ายค้านที่เสนอเข้าไปยังรัฐสภา แต่ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาอนุญาตให้แก้ไขทั้งฉบับได้ ดังนั้นในที่ประชุมจึงมีความคิดเห็นว่าในกรณีเช่นนี้ จะดำเนินการต่อไปโดยไม่ให้ผิดเกี่ยวกับมติของศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะดำเนินการขอแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอำนาจของรัฐสภาที่มีอยู่ขณะนี้ ดำเนินการในวาระ 3 ต่อไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เป็นเรื่องที่ค้างอยู่ในสภา ซึ่งการดำเนินการในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ประธานรัฐสภาควรจะนำเรื่องเกี่ยวกับการลงมติในวาระ 3 เข้าสู่ที่ประชุม แต่อย่างไรก็ตามจะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยคงจะมีการคัดค้านไปตามเรื่อง จึงอยากให้ประชาชนได้ติดตามสิ่งต่างๆ ที่ทำไปเป็นแนวทางที่ประชาชนต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่า อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐสภาตั้งแต่ต้น การที่มีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวาน ถือได้ว่าเป็นคำยืนยันความปกติของรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ฉีกง่ายกว่าแก้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรล้มล้างการปกครองหรือรัฐประหารอย่างเดียว ซึ่งการลดทอนอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการประวิงเวลา ที่ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นสอดคล้องกับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่และวาระที่1 และ 2 ไม่เป็นโมฆะเดินหน้าไปสู่วาระที่สามในวันที่ 17 -18 มี.ค. ซึ่งกระบวนการที่ทำอยู่นั้นเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่ร่างฉบับใหม่ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา 256 การที่มีสมาชิกรัฐสภา
"พยายามลดทอนอำนาจของตัวเองอีก 1 ครั้ง โดยถือว่าวาระ 1 และวันที่ 2 เป็นโมฆะ ถือเป็นการตีความที่ไม่เห็นหัวประชาชน และไม่ถูกต้องเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมีอยู่ สอดคล้องและชอบทำกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" พิธา
พิธาระบุว่า แม้วันที่ 17 -18 มี.ค.นี้ ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกบรรจุไว้ในวาระที่ 3 แล้ว ทุกคนคงทราบดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้เป็นการพายเรืออยู่ในอ่าง มีความพยายามที่จะถ่วงเวลาตั้งคณะกรรมการศึกษาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสืบทอดอำนาจไว้ให้นานที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะแสดงให้เห็นได้ถึงความจริงใจในการแก้ไข พร้อมตั้งคำถามว่าถ้ารัฐบาลจริงใจ เหตุใดจึงต้องโหวตคว่ำปิดประตูการแก้ไข ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแสดงถึงวิธีการลดอุณหภูมิการเมืองการแก้ไขวิกฤตรัฐธรรมนูญ และแก้ไขปัญหาการเมืองของประเทศไทย โดยการถามถึงประชามติว่าต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใดหรือไม่ตามมาตรา 166 ให้อำนาจกุญแจการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองอยู่ที่ ครม. ซึ่งรัฐบาลควรมองเห็นตรงนี้ในการทำประชามติตามมาตรา 166 ว่าประชาชนต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560
วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ได้บรรจุการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ซึ่งเป็นฉบับที่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่เสนอเข้ามา ซึ่งจะต้องให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ค้างอยู่ในสภา การที่จะนำเรื่องอื่นมาอภิปรายหรือหารือก่อนถึงลงมติ ตนคิดว่าประธานรัฐสภาคงทราบดี เพราะจะทำให้เรื่องที่พิจารณาอยู่นั้นตกไป ตนเชื่อว่าทุกคนคงเข้าใจในหลักการนี้ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในฉบับนี้ใช้เวลามากกว่าปีกว่า และเริ่มต้นจากนโยบายของรัฐบาล แต่ถูกยื้อเวลาด้วยการตั้งกรรมาธิการไปศึกษาก่อน ตนมองว่าเสียเวลาเป็นรายเดือน
วันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า มีบางฝ่ายไม่จริงใจ ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อสังเกตว่า เมื่อจะมีการแก้ไขซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่กลับปรากฏว่าให้มีการศึกษาก่อน ฉันก็มีการเปิดให้มีการตั้งกรรมการศึกษาก็เห็นว่าควรแก้ไขเข้าสู่สภา โดยมองว่ามีพรรคพวกไม่สนใจประชาธิปไตยอยากลิ้มรสเหตุการณ์เสนอให้ศึกษา 2 รอบซึ่งเสียเวลาไปเป็นกว่าเมื่อพิจารณายังมีความไม่สนใจส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเป็นลบ แต่เมื่อวานมีคนบอกให้แก้ได้ แต่ต้องถามความเห็นจากประชาชนก่อนแต่ก็ยังมีการเตรียมตัวในรัฐสภาให้ล้มการลงมติในวาระ 3 มาแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา 256 แสดงถึงความไม่จริงใจล้มความคิดของประชาชน และประชาชนไม่ได้เรียกร้องให้มีการกระทำแบบนี้ซ้ำซาก แล้วประเทศจะอยู่ได้อย่างไร พร้อมขอสมาชิกรัฐสภาเห็นหัวประชาชนบ้าง อยู่ทุกวันนี้ประชาชนมีความยากลำบากประชาชนเดือดร้อนไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นมีประชาชนและทำตามใจที่คิดว่าควรจะทำ
'ก้าวไกล' บี้รัฐบาลจัดทำประชามติถามอยากมี ส.ส.ร.หรือไม่หลังร่าง รธน.ถูกคว่ำ
ต่อมา พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ต่อกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยพรรคก้าวไกลยืนยันว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจเต็มของรัฐสภา ที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอดจนถึงขณะนี้ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่ถูกต้องและขอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ
ส่วนกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ ยังอยู่ในชั้นของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อเปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ยังมิได้เข้าสู่ชั้นของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ใช้บังคับแล้ว การที่ในขณะนี้ยังไม่มีการออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงมิได้เป็นเหตุให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ต้องสิ้นผลไป การออกเสียงประชามติดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นได้ภายหลังการการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ตราบที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังไม่ประกาศใช้ ดังนั้นการลงมติในวาระสามจะต้องเกิดขึ้น ไม่มีทางถูกตีความเป็นอย่างอื่นได้ และไม่มีทางถูกขวางกั้นโดยกระบวนการอื่นใดได้อีก” แถลงการณ์ระบุ
พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมาแล้ว และที่จะเดินหน้ากันต่อไปเพื่อให้มีร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) เป็นกระบวนการให้รัฐสภาและประชาชนร่วมกันใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ เพื่อเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกรอบเงื่อนไขที่กำหนดทั้งสิ้น และหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกท่านจะร่วมกันลงมติเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อส่งต่ออำนาจไปให้ประชาชนได้ลงประชามติเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่งต่ออนาคตให้ประชาชนได้กำหนดด้วยมือของพวกเขาเอง
พรรคก้าวไกล แสดงจุดยืนว่า เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นการแสดงถึงเจตจำนงของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจขั้นปฐมภูมิที่ไม่อาจถูกทัดทานด้วยเงื่อนไขใดๆ หรือโดยองค์กรใดๆ ที่มีศักดิ์ต่ำกว่าได้ หากการลงมติในวาระที่สามถูกคว่ำลงโดยเจตนาของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ต้องการให้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการหาทางออกให้ประเทศ คณะรัฐมนตรีจะต้องผลักดันให้มีการจัดทำประชามติโดยเร็วที่สุด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่
"โดยที่การจัดทำรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในครั้งนี้จะต้องไม่ถูกจำกัดมิให้จัดทำในเนื้อหาสาระใดๆ ทั้งสิ้น หากไม่ดำเนินการเช่นนี้แล้วย่อมจะไม่เหลือทางออกให้กับประเทศผ่านกระบวนการการใช้อำนาจในวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญอีกเลย และหากรัฐสภาและสถาบันการเมืองในระบบทั้งหมด ยังคงประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนอยู่เช่นนี้ อีกไม่นานประชาชนย่อมต้องเรียกร้องหาทางออกด้วยวิถีทางอื่นที่พ้นไปจากโซ่ตรวนของข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง