จากที่เคยตั้งตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2562 ไว้ที่ 41 ล้านคน ล่าสุดหลายสถาบันรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงและปรับลดตัวเลขประมาณการนักท่องเที่ยวปีนี้ลงมาอยู่ที่ 39 ล้านคน เนื่องจากปัจจัยบั่นทอนมีหลายส่วนทั้ง เศรษฐกิจโลก การแข่งขันทางธุรกิจของประเทศเพื่อนบ้าน และเงินบาทแข็ง ที่สร้างความเสียเปรียบด้านอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงปีที่ผ่านมานี้บั่นทอนศักยภาพอุตสาหกรรมความหวังของประเทศจนผู้ประกอบการหลายรายเจ็บตัวไปตามๆ กัน
ทั้งนี้ ภายใต้ภาพใหญ่ของการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว อุตสาหกรรมย่อยอย่าง 'ไมซ์' (MICE) ตามที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ให้ความหมายว่าคืออุตสาหกรรมที่เน้นให้บริการและรองรับการประชุมนานาชาติของกลุ่มบริษัทเอกชน การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลของพนักงานในองค์กรต่างประเทศ การประชุมเฉพาะกลุ่ม และการจัดแสดงสินค้าต่างๆ กลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากแทบไม่รู้จักและรับรู้ถึงศักยภาพในการนำมาพัฒนาธุรกิจ
ในปี 2561 ที่ผ่านมา ตลาดไมซ์ (MICE : Meetings, Incentives, Conferences, and Exhibitions) ทำรายได้ให้ประเทศสูงถึง 95,624 ล้านบาท ด้วยจำนวนนักเดินทางเพียง 1.2 ล้านคน สอดคล้องกับที่ 'พัฒนชัย สิงหะวาระ' ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคใต้และภาคตะวันออก ส่วนงานพัฒนาเครือข่ายไมซ์ TCEB กล่าวว่า ตลาดไมซ์สามารถสร้างรายได้มากกว่าการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3 - 5 เท่า
ตามข้อมูลจาก TCEB ในปี 2561 ระบุว่า ตัวเลขนักเดินทางไมซ์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.85 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวปกติเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.9 ยังไม่นับผลกระทบในปีนี้ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีน กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของประเทศดูจะเติบโตไม่เข้าเป้าที่ภาครัฐตั้งไว้
การละเลยศักยภาพที่ประเทศตัวเองมีและยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ จึงเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้การท่องเที่ยวของไทยกลายเป็นเรื่องจำเจ นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยจึงเลือกเดินทางไปประเทศอื่นที่แปลกใหม่มากกว่าแถมยังถูกกว่า ถ้าหันมาเทียบเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาคมาตลอดทั้งปี
สร้างภาพจำที่โดดเด่น
จุดเด่นของธุรกิจไมซ์คือการมอบประสบการณ์ไปพร้อมกับการทำงานหรือการมาสัมมนาเพื่อหาความรู้ของผู้ร่วมคณะ เมื่อเรากำลังพูดถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังทรัพย์ในการใช้จ่ายจำนวนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ผู้ประกอบการจึงต้องคิดให้มากขึ้นว่าทรัพยากรที่ตนมีในมือจะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้ตนเองกลายเป็นจุดหมายปลายทางของไมซ์ได้อย่างไร
'เบญจภพ เบญธรรมธร' เจ้าของรีสอร์ท สิชล คาบานา (Sichon Cabana) นักธุรกิจหนุ่มที่กลับมายังอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเกิดเพื่อสร้างรีสอร์ตเป็นของตัวเอง พูดถึงอดีตของจังหวัดนครศรีธรรมราชว่าแม้จะมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และวัฒนธรรมที่แข็งแรง แต่นครศรีธรรมราชก็เป็นได้แค่ทางผ่านไปยังจังหวัดสงขลาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม 'เบญจภพ' เลือกสร้างภาพจำใหม่ให้กับชายหาดของอำเภอสิชล และเปลี่ยนให้หาดธรรมดาแห่งนี้กลายเป็น Active Beach หรือชายหาดเพื่อกิจกรรมทางทะเล
สิ่งที่เจ้าของรีสอร์ตแห่งนี้สร้างคือ กิจกรรมทางน้ำแทบทุกอย่าง ทั้ง วินเซิร์ฟ ไคท์เซิร์ฟ ฟลายบอร์ด และเวคบอร์ด นอกจากนั้น เขายังเปลี่ยนให้รีสอร์ตขนาด 31 ห้องพัก กลายเป็นแคมป์ฝึกการปั่นจักรยานเสือภูเขา โดยนำประโยชน์จากลักษณะภูมิประเทศของนครศรีธรรมราชที่มีภูเขาติดกับทะเลมาใช้
'เบญจภพ' ย้ำว่า แม้ตลาดที่ตนเลือกในการสร้างภาพจำจะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ด้วยความเฉพาะกลุ่มนี้ทำให้กิจกรรมต่างๆ มีออกมารองรับความต้องการของผู้สนใจไม่เพียงพอ ดังนั้นการจัดกิจกรรมต่างๆ จึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลตอบรับอย่างดี และถือเป็นเกราะป้องกันเศรษฐกิจที่ซบเซา
"เศรษฐกิจอาจจะตกลงก็จริง แต่สิชลเราขาขึ้น เราคือ Multi-sport Paradise จริงๆ" เบญจภพ กล่าว
นอกจากนี้ 'เบญจภพ' ยังเสริมว่า การสร้างแรงดึงดูดให้กับนักท่องเที่ยวไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองแต่จะต้องทำร่วมกัน ในมิติของชายหาด นครศรีธรรมราชพยายามเชื่อมโยงชายหาดใน 3 อำเภอไว้ด้วยกันในรูปแบบที่แตกต่าง โดยมีอำเภอขนอมนำเสนอด้านความผ่อนคลาย อำเภอสิชลนำเสนอด้านกีฬาทางน้ำ และอำเภอท่าศาลานำเสนอด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น
ขณะที่ ความพยายามในการผลักดันด้านวัฒนธรรมล่าสุดของจังหวัดคือการยื่นขอองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้วัดพระธาตุวรมหาวิหารเป็นมรดกโลก
การดึงดูดนักท่องเที่ยวไมซ์ให้มายังจังหวัดหรือประเทศไม่สามารถทำได้โดยการปรับตัวของโรงแรมหรือรีสอร์ตอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือประสบการณ์เฉพาะด้านที่นักท่องเที่ยวไมซ์จะได้กลับไป จังหวัดที่อยากจะมาจับธุรกิจการท่องเที่ยวนี้จริง จำเป็นต้องสำรวจความพร้อมของตนว่ามีเพียงพอต่อการรองรับความต้องการหรือไม่
จากตัวอย่างของจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากชายหาดทั้ง 3 อำเภอ ที่นครศรีธรรมราชพยายามจะผลักดัน จังหวัดยังเข้ามาสนับสนุนการเข้าไปทำเวิร์กชอปในสวนโกโก้ การเข้าไปดูตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการแปรรูป เพื่อสะท้อนศักยภาพของวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ปรับตัวจากการขายผลโกโก้กิโลกรัมละ 30 - 40 บาท ไปเป็นการขายโกโก้ที่แปรรูปมูลค่าที่สูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 2,000 บาท รวมทั้งการเข้าไปศึกษาสวนส้มโอสายพันธุ์ทับทิมสยามที่เป็นสินค้าที่ได้รับตราสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI
อย่างไรก็ตาม การจะก้าวเข้ามาเป็นจังหวัดที่รองรับอุตสาหกรรมไมซ์อย่างเต็มรูปแบบยังคงต้องการการพัฒนาอีกมาก จังหวัดจำเป็นต้องมีศูนย์ประชุมที่รองรับการเข้ามาของงานสัมมนาขนาดใหญ่รวมทั้งการจัดแสดงสินค้าต่างๆ การทำเวิร์กชอปจำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และประสบการณ์ให้สมกับเม็ดเงินที่เขาจ่ายมามากขึ้น และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากท้องถิ่น ภาครัฐ และภาคเอกชน
อุตสากรรมการท่องเที่ยวของประเทศไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับขาลงที่มาจากความจำเจและคู่แข่งต่างๆ หากมีการปรับตัวและรู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของตน ไทยจะยังสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ โดยไม่ต้องเอาธรรมชาติไปเป็นตัวประกัน ไม่ต้องแบกเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่สูงแต่มูลค่าเม็ดเงินน้อยนิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;