ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ร่วมปัจฉิมกถา 90 ปี ประชาธิปไตย ชี้ การเมืองคือความหวัง และการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่นำประชาธิปไตยในอนาคตจะโปร่งใส เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามา

เวลา 12.45 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2565 ที่ห้องคุณหญิงพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงศ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปัจฉิมกถาในวาระ 90 ปี ประชาธิปไตยไทย ผ่านมุมมองการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ชัชชาติ กล่าวว่า ตนนั้นก็เป็นน้องใหม่ในประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่ผ่านมาอาจจะมองว่าเป็นบริบทนักการเมือง แต่ตนไม่ได้คิดเช่นนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนโฉมนักการเมืองไปเป็นนักคิดที่มีความหวัง สร้างความหวัง เมื่อ 3 ปีที่แล้วเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ เพราะไม่รู้จะไปลาออกกับใคร แต่ก็ไม่ได้รับเงินเดือนจากพรรคแล้ว

ชัชชาติ กล่าวว่า หลังจากออกมาจากพรรคเพื่อไทยได้ 3 ปี ยืนยันว่าเป็นอิสระแน่นอน ขณะที่ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็เริ่มทำกันแค่สามถึงสี่คน ก็มีปัญหาที่ถามตัวเองอยู่เสมอว่า หากจะทำการเมือง เราเข้าใจในสิ่งที่จะทำดีพอหรือไม่ เพราะเรามีลูกจ้างข้าราชการใน กทม. อีกแปดหมื่นคน คุณจะเป็นหัวหน้า คุณเข้าใจเรื่องกวาดถนนดีเท่าพนักงาน กทม. หรือยัง การเมืองคือเรื่องของเทคนิคที่ต้องเข้าใจในระดับหนึ่ง

ชัชชาติ กล่าวว่า ในการเข้ามาบริหารงานกรุงเทพมหานคร ตนมี 3 แนวคิดคือ คุณมีความเข้าใจปัญหาที่ประชาชนพบเจอดีพอหรือยัง ซึ่งเมื่อเราเข้าใจแล้ว เราจะสามารถออกนโยบายที่ไม่เชย นี่คือการเมืองยุคใหม่ คุณต้องมาด้วยเนื้อหาและทางออก ไม่ใช่มาด้วยการสร้างความกลัวและความเกลียด เรามีนโยบายหลายร้อยข้อ เวลาจะออกนโยบายมีไม่กี่นโยบายที่เป็นนโยบายสำคัญ แต่โลกประชาธิปไตยในอนาคตจะมี Nich Market เยอะ ต้องมีทางออกที่ตอบโจทย์ทุกคนได้ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ต้องมีส่วนร่วม

ชัชชาติ ได้ยกตัวอย่างการทำหนังสือพิมพ์ที่ระบุนโยบายทั้งหมด ซึ่งผู้คนสามารถนำหนังสือพิมพ์นั้นไปห่อดอกไม้หรือให้เด็กไปทำว่าวเล่นได้

ชัชชาติกล่าวอีกว่า ตอนไปเยี่ยมลูกที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้แนวคิดเรื่องป้ายหาเสียงขนาดเล็กมา โดยนำมาปรับใช้ซึ่งจะต้องเป็นป้ายป้ายเล็ก และป้ายน้อย ซึ่งป้ายของตนนั้นก็ยังคงยืนเด่นท้าทายเมื่อเวลาลมพัด ไม่ใช่เรื่องของไสยศาสตร์แต่เมื่อป้ายมันเล็กลมมันจึงไม่พัด

"นี่คือวิธีการสื่อสารของคนรุ่นใหม่เวลาเราเอาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำการเมืองมันเลยคิดฟุ้ง มันเป็นการเมืองประชาธิปไตยที่สนุก อันนี้คือการสื่อสารที่คนรุ่นเก่าคิดไม่ได้" ชัชชาติ กล่าว

ขณะที่สื่อในแอปพลิเคชั่น Tiktok นั้น ชัชชาติ กล่าวว่า คนที่ดูมากที่สุดคือเด็ก เวลาเราไปเดินตลาดคนที่รู้จักเยอะคือเด็ก และมีผลทำให้พ่อแม่เลือกชัชชาติ บางครั้งพ่อแม่อาจจะเกลียดชัชชาติ เมื่อลูกพูดทุกวัน พ่อแม่ก็เปลี่ยนใจ หลายคนที่มาถ่ายรูปกับตนก็ล้วนถ่ายให้ลูกไม่ได้ถ่ายให้ตัวเอง

ชัชชาติ เสริมว่า ในการทำการเมืองต้องสนุก ต้องไม่เป็นการเมืองที่เครียดและมีความเกลียดชัง สังเกตคือตนไม่เคยด่าใคร ถ้ามีคนมาด่าแล้วเป็นความจริงเราต้องปรับปรุงแต่ถ้าไม่จริงเราต้องชี้แจง จะเห็นได้ว่าเราโฟกัสที่ความสนุกจนนาทีสุดท้าย เราไม่ได้มีการจัดปราศรัยใหญ่ อาศัยเพียงแค่มีลัง 1 ใบ และไปยังสถานที่ที่มีรถไฟฟ้า เช่นสยาม สีลม ข้าวสาร และเยาวราช เป็นแคมเปญเหมือนไฮปาร์ค และเราได้พื้นที่สื่อ 100% ในอนาคตแล้วสเต็ปของการเมืองจะเปลี่ยนไปการใช้อารมณ์ที่มีความเกลียดชังจะน้อยลงและมีเหตุผลมากขึ้น

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า เรามีการวิเคราะห์ social listening ตลอด และเราใช้ช่องทางสื่อสารมากขึ้น อันนี้สำคัญ คนรุ่นใหม่ต้องมอนิเตอร์ว่าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและตนได้คะแนน 1.3 ล้านเสียง จะเห็นได้ว่า เราสามารถขโมยส่วนแบ่งของคะแนน ส.ก.มาได้ คนที่โหวตข้ามมาเลือกเรามันเยอะ ซึ่งเป็นการรวมคนเข้าด้วยกัน

ที่สำคัญนั้นแต่ก่อนเราคิดว่ามีนโยบายจะเขียนอย่างไรในกระดาษเล็กๆ 214 นโยบายมันไม่พอ แม้ว่ามันจะเยอะ แต่นโยบายต้องละเอียด ตอบโจทย์ทุกคนได้ ซึ่งบางนโยบายเราก็สามารถทำได้เลย

ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ที่มาอยู่ตรงนี้ได้ มันคือประชาธิปไตย เลยอยากจะฝากบอกว่า แม้ว่าเราจะมาคนเดียว แต่เรามาด้วยความรู้ และทางออกที่แก้ปัญหาได้ อันนี้คือความหวังคนรุ่นใหม่ การเมืองไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ประชาธิปไตยคือความรู้ความสามารถ ขอแค่คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมการเมืองเยอะขึ้น คุณอย่ารับแต่ทางออก แต่ต้องสร้างทางออกด้วย นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย และอนาคตมันจะเข้มแข็งขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาร่วมทำให้โปร่งใส