ไม่พบผลการค้นหา
‘เศรษฐา-ชัชชาติ’ ชนหมัดประสานทำงาน ‘กทม.-รัฐบาล’ แบบไร้รอยต่อ ‘พี่นิด’ บอก พร้อมช่วยเหลือ ‘น้องชาย’ พัฒนากรุงเทพให้น่าอยู่ จ่อดัน ‘Winter Fest’ ติดปฏิทินโลก

วันนี้ (18 กย.) เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันหามือแลกเปลี่ยนการบริหารราชการของกรุงเทพฯ และ รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากมีบรรยากาศนั่งคุยกันแบบเป็นกันเอง และเชื่อว่าวิธีเจอกันแบบนี้จะทำให้คุยกันได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องมีองคาพยพใหญ่ และกรุงเทพมหานคร ถือเป็นเมืองที่ใหญ่ มี GDP 1 ใน 3 ของประเทศ​ ประชาชนมีความคาดหวัง ทั้งรายได้ การท่องเที่ยว และปัญหารถติด รวมถึงเรื่องฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นที่ที่ๆทุกอยากเข้ามาใช้ชีวิต 

นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนและชัชชาติ รู้จักกันมานาน ได้คุยกันตั้งแต่ก่อนโควิด เคยแนะนำให้ชัชชาติลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯไปเลย ไม่ต้องมาลงรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. แล้วให้ตนเองมาลงสมัครผู้ว่าแทน จะได้ร่วมกันทำงานแบบพี่น้อง แต่ก็ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมามีบรรยากาศแบบวันนี้ ได้นั่งคุยกันแบบพี่น้อง เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกฯ​เมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชัชชาติ คือคนสำคัญที่คิดถึงเป็นคนแรกๆ เพราะเขาได้รับตำแหน่งมาด้วยฉันทามติมาอย่างท่วมท้นถึง 1.4 ล้านเสียง ถือเป็นประวัติศาสตร์ จึงอยากสนับสนุนผู้ว่าฯชัชชาติ ให้ทำงานลุล่วงไปด้วยดี 

นายกฯ ยังย้ำว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนทุกนโยบายของกรุงเทพมหานคร แต่งบประมาณอาจมีจำกัด หน้าที่รัฐบาลคือสนับสนุนผู้ว่าฯ ให้แก้ไขปัญหาแบบ “ควิกวิน” อะไรสำคัญให้ทำไปก่อน บางนโยบายอาจจะใช้งบประมาณน้อย หรือบางอันอาจจะไม่ใช้เลย แต่จะเน้นหนักไปที่การประสานงานหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงต่อนายกฯ​ให้มาสนับสนุนผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าจะเป็นการจราจร หรือปัญหาอาชญากรรม เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งวันนี้ผู้ว่าฯ​กทม. มีควิกวินมานำเสนอ และหน้าที่ของนายกฯ​มีหน้าที่สนับสนุน ทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองน่าอยู่

ด้านชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่มีชัดเจนคือการประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพราะ กทม.มีอำนาจจำกัด หากมีการประสานงานที่เข้มข้น มีหน่วยงานที่ชัดเจน จากฝ่ายบริหาร เชื่อว่าปัญหาหลายอย่างจะบรรเทาลงแน่นอน ส่วนคณะทำงานจากภาครัฐบาล

กลุ่มนี้จะทำงาน ไม่เน้นการลงทุนขนาดใหญ่ แต่จะเน้นที่จะแก้ปัญหาขนาดใหญ่ที่ติดขัด การแก้ปัญหาโครงสร้าง ต้องดำเนินการอีกแบบหนึ่ง ส่วนปัญหาในระยะเร่งด่วน เรื่องการประสานงาน ให้ทำไปร่วมกับคณะทำงานที่ตั้งมาอยู่แล้วเบื้องต้น ให้โจทย์ว่า คณะทำงานห้ามเกินพิซซ่า 2 ถาด ซึ่งนายกฯ เห็นด้วย และขอชมนายกฯ ที่เห็นด้วยกับแนวทางการทำงาน “คนน้อย แต่งานเยอะ” 

ชัชชาติ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหารถติด จะแก้ได้ด้วยรถไฟฟ้า แต่ต้องดู รถเมล์ ฟุตปาธ ทางเท้า องค์ประกอบรวม รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาที่อยู่อาศัย ใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนมาเป็นที่อยู่ของคนไร้บ้าน ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แค่แบ่งปันพื้นที่กัน ประชาชนก็จะใช้ชีวิตอยู่ในท่ากลางเศรษฐกิจแบบนี้ได้ ส่วนอีกแนวคิดที่คุยกันคือการท่องเที่ยว ปัญหาที่ทูตหลายประเทศสะท้อนมา คือความปลอดภัยและทรัพย์สิน อยากให้ประสานกับตำรวจท้องที่ และ ตำรวจท่องเที่ยว หากร่วมกันได้อย่างบูรณาการ จะแก้ปัญหากันได้ดี 

ทั้งนี้ ชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ยังมีแนวคิดที่จะจัด winter fest กลางเดือนธันวาคม หากทุกภาคส่วนมาร่วมกัน ให้เป็นเทศกาลที่ใหญ่อยู่ในปฏิทินโลก จะทำให้เศรษฐกิจเราดีขึ้นได้ ส่วนเรื่องที่คนกรุงเทพบ่นกันเยอะ คือปัญหาสายสื่อสาร กทม.สามารถจัดการเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องได้รับการร่วมมือจาก กสทช. การไฟฟ้านครหลวง เราเองทำได้แค่ขอความร่วมมือ หากจัดเป็นนโยบายชัดเจน จะผลักดันได้เร็วขึ้น ทั้งหมดที่พูดมา ไม่ได้พูดถึงงบประมาณ แต่พูดถึงการประสานงาน ดึงเป้าหมายให้ตรงกัน จะเห็นภาพกันได้อย่างรวดเร็ว 

นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า พร้อมสนับสนุนผู้ว่าฯ ชัชชาติ ซึ่งเป็นน้องชาย ที่ดูแลภาคส่วนที่ใหญ่คือ กทม. และจะช่วยสั่งการหน่วยงานที่ดูแล ที่ผู้ว่าฯ ไม่สามารถสั่งการโดยตรง อย่างเช่น เรื่องการจราจร คมนาคม เป็นต้น วันนี้หลังจากคุยกันจะมีคณะทำงานเกิดขึ้น และจะนำเสนอผลงาน ขั้นตอนการทำงานให้กับสื่อมวลชน 

ส่วนเรื่องรถไฟฟ้า BTS ชัชชาติ กล่าวว่า ขั้นตอนอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่ง กทม.รอจะชี้แจง หากเรียบร้อยก็จะรายงานต่อนายกรฐมนตรี แต่เรื่องนี้อยากจะแจ้งกับนายกฯ​ว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งประชาชน และ เอกชนที่มาลงทุน ว่าอนาคตอาจจะมีรถไฟฟ้าอีกหลายสาย จะต้องให้ความโปร่งใส และความมั่นใจ ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด แต่วันนี้กระบวนการยังอยู่ในสภา กทม. และภายใน 1-2 สัปดาห์จะส่งให้กระทรวงหมาดไทย

จากนั้น เศรษฐา และ ชัชชาติ ได้ชนหมัดกันตามคำขอของผู้สื่อข่าว บรรยากาศการแถลงข่าวเป็นอย่างชื่นมื่น โดยเฉพาะเศรษฐา และ ชัชชาติ ก่อนกลับเข้าไปพูดคุยกันเพิ่มเติม ก่อนที่นายกฯ จะเดินทางไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติครั้งที่ 78 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สำหรับคณะทำงานที่ตั้งร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร มีชื่อว่า คณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมี เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานคณะทำงาน