อย่างไรก็ดี ความโศกเศร้าที่ถาโถมของประชาชนชาวฮ่องกง ซึ่งเกาะถูกส่งคืนจากสหราชอาณาจักรมายังจีนตั้งแต่ปี 2540 กลับสะเทือนไปถึงอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งพยายามรวบอำนาจ และเข้ามาแทรกแซงประชาธิปไตยในฮ่องกงด้วยความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ประชาชนที่นำดอกไม้และการ์ดมาวางเพื่อไว้อาลัยแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในบริเวณเขตแอดไมรัลตี กลับกลบภาพจำของฮ่องกงที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมอังกฤษ โดยหลังจากที่ฮ่องกงถูกส่งคืนมาให้แก่จีนโดยสหราชอาณาจักร จีนได้ประกาศการใช้นโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” ซึ่งเป็นการมอบคำสัญญาจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ว่า วิถีชีวิตของชาวฮ่องกงภายใต้สหราชอาณาจักรจะยังคงเดิมไปอย่างน้อยอีก 50 ปี
อย่างไรก็ดี รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนกลับเข้าปราบปราบ และแทรกแซงประชาธิปไตยในฮ่องกงอย่างเปิดเผย ด้วยการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ และอนุญาตให้เพียงแต่ “ผู้รักชาติ” เท่านั้น ที่จะสามารถขึ้นมาเป็นคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงได้ ส่งผลให้ประชาชนชาวฮ่องกงหลายฝ่ายมองว่า จีนคอมมิวนิสต์ผิดคำสัญญาที่ตนเคยให้ไว้
หลี่เหม่ยถิง อาจารย์ด้านการศึกษาวัฒนธรรมและศาสนา ที่มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง กล่าวว่า “มันอารมณ์ที่ผสมปนเปกันไปอย่างซับซ้อน” โดยนอกสถานกงสุลอังกฤษประจำฮ่องกง ประชาชนต่างเดินทางมาร่วมไว้อาลัย พร้อมกันกับการเปิดเพลงชาติสหราชอาณาจักร “ก็อดเซฟเดอะควีน” จากโทรศัพท์มือถือ เพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
พ่อแม่ชาวฮ่องกงพาลูกของตนออกมาไว้อาลัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วย มีพ่อคนหนึ่งห่อผ้าลูกสาววัย 7 เดือนของเขา ด้วยธงชาติสหราชอาณาตักร “ผมจำไม่ได้ว่าผมเคยเห็นชาวฮ่องกงทำสิ่งนี้กับผู้นำคนใดที่ล่วงลับไปแล้ว” เท็ด ฮุย อดีต ส.ส.ฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ระบุกับสำนักข่าว BBC
ในฮ่องกง ประชาชนทั่วเกาะต่างเรียกสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่า “สี่เถ่าป่อ” ซึ่งได้แปลว่า “นายหญิง” ในภาษากวางตุ้ง ทั้งนี้ ประชาชนส่วนมากที่มาต่อแถวรอถวายความอาลัยมักเป็นผู้สูงอายุ ลี วัย 60 ปี นำดอกเบญจมาศมาร่วมวางไว้อาลัย โดยเขาระบุว่า “ผมไม่เคยซื้อดอกไม้มาก่อน แม้แต่จะตอนจีบสาวก็เถอะ”
ลีระบุอีกว่า ตนรู้สึกสำนีกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หลังจากที่เศรษฐกิจของฮ่องกง มีความเจริญรุ่งเรืองและเปิดกว้าง และมีความเป็นเสรีนิยมอยู่มากในช่วงอยู่ภายใต้ยุคอาณานิคมอังกฤษ ประชาชนหลายฝ่ายลงความเห็นว่า ฮ่องกงมีระบบการศึกษาและการแพทย์ที่ดีขึ้น รวมถึงการปกครองภายใต้หลักนิติธรรมจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ
ฮ่องกงกลายมาเป็นอาณานิคมอังกฤษ หลังจากที่จีนในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์พ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ให้กับทางสหราชอาณาจักร เมื่อช่วงคริสตศวรรษที่ 19 โดยการปกครองของสหราชอาณาจักรเหนือฮ่องกง ดำเนินมายาวนานถึง 156 ปี ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ กลับพบกับวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งการเกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่ และการปฏิวัติวัฒนธรรม
“ฮ่องกงเคยสงบสุขในช่วงวันเหล่านั้น” ฟุงวัย 75 ปีกล่าว ทั้งนี้ ชาวฮ่องกงต่างโหยหายุคที่เกาะของตนเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยเฉพาะในช่วงยุคทศวรรษที่ 1970 ถึง 1990 “ผู้คนที่เคยพบเจอกับช่วงเวลาดังกล่าว มักเรียกว่ามันเป็นยุคทองของฮ่องกง” หลี่ระบุ
รัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของตนในฮ่องกง เพื่อตอบสนองต่อการจลาจลต่อต้านอาณานิคมที่ร้ายแรงในปี 2510 ซึ่งเกิดขึ้นจากข้อพิพาทของแรงงาน และการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์แผ่นดินใหญ่ หลี่กล่าวว่ารัฐบาลอาณานิคมมีการสร้างที่พักอาศัยสาธารณะมากขึ้น และมีการมอบการศึกษาระดับประถมศึกษาฟรี โดยส่วนหนึ่งของนโยบายเหล่านี้ เป็นความพยายามในการลดแรงเสียดทานในทางสังคมของฮ่องกง
แต่นักเคลื่อนไหวที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ อย่าง เจฟฟรีย์ โงะ กล่าวว่า ช่วงสามทศวรรษสุดท้ายของยุคอาณานิคมไม่ได้ให้ภาพรวมที่สมบูรณ์ และจักรวรรดิอังกฤษได้แสดง “บทบาทที่สำคัญมาก” ในการปูทางฮ่องกงมาสู่สถานการณ์ปัจจุบัน “นักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้กฎหมายที่รัฐบาลอาณานิคมกำหนดและไม่เคยถูกเพิกถอนก่อนปี 2540” โงะยังกล่าวอีกว่า สหราชอาณาจักรเปลี่ยนแปลงให้ฮ่องกงเป็นประชาธิปไตยในระดับที่น้อยมากในช่วงยุคอาณานิคม
สำหรับประชาชนฮ่องกงบางคน การรำลึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นวิธีแสดงความไม่พอใจต่อคณะผู้บริหารฮ่องกงอย่างหนึ่ง เนื่องจากการประท้วงไม่สามารถจัดขึ้นได้อีกต่อไปภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีน และกฎการคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวด เซ ชายชาวฮ่องกง ได้นำสุนัขคอร์กี้สัตว์เลี้ยงของเขาพร้อมกับธงชาติสหราชอาณาจักร เดินทางมาร่วมไว้ทุกข์สมเด็จพระราชินีนาถที่ 2 เพื่อเป็น “รูปแบบทางเลือกในการแสดงออกทางการเมือง”
เซระบุว่า การโบกธงชาติสหราชอาณาจักรในทุกวันนี้บนเกาะฮ่องกง จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการถูกจับกุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ แต่รัฐบาลฮ่องกงจำเป็นจะต้องกัดฟันทนไม่ทำอะไร เมื่อประชาชนนำธงชาติสหราชอาณาจักรมาโบก เพื่อไว้อาลัยต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
รัฐบาลจีนและฮ่องกงมักกล่าวหาผู้เคลื่อนไหวเพื่อระบอบประชาธิปไตยว่า ได้รับการสนับสนุนและแทรกแซงจากต่างชาติ ประชาชนบางคนในแถวที่ต่อเพื่อรอเข้าไว้อาลัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กำลังวางแผนที่จะเดินทางออกจากเกาะ ประชากรของฮ่องกงลดลงเกือบ 200,000 คนใน 2 ปีที่ผ่านมา และหลายคนวางแผนไปตั้งรกรากในสหราชอาณาจักรแทน
ประชาชนคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงหลายคน ที่เกิดมาไม่ทันยุคอาณานิคมอังกฤษ ก็มีมาเข้าแถวรอเพื่อเข้าไว้อาลัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วย ประชาชนหลายคนเกรงกลัวว่า อดีตของฮ่องกงในการเป็นอาณานิคมอังกฤษ จะถูกกลบฝังภายใต้ความพยายามในการเข้ามาบิดแปลงเกาะฮ่องกงของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน
หนังสือเรียนของฮ่องกง ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน เริ่มมีการสอนเด็กว่า ฮ่องกงไม่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ แต่เกิดจากการเข้ามายึดครองโดยอำนาจขากต่างชาติ นอกจากนี้ นักเขียนหนังสือเด็กยังถูกศาลตัดสินจำคุก หลังจากเขียนหนังสือที่มีภาพวาดแกะถูกหมาป่าเข้ามาคุกคาม ถูกศาลตีความว่าเป็นการเปรียบเปรยว่าจีนเข้ามาคุกคามชาวฮ่องกง
แซม นักศึกษากฎหมายระบุว่า ย่าของตนเองว่ายน้ำข้ามจากแผ่นดินใหญ่มายังเกาะฮ่องกง “เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองบอกย่าผมว่า สี่เถ่าป่อ (นายหญิง-สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) ของพวกเราเป็นผู้หญิงเหมือนกัน เธอเลยได้รับการดูแลอย่างดีบนเกาะฮ่องกง”
คริสโตเฟอร์ วัย 15 ปี กล่าวว่าร่องรอยของประวัติศาสตร์อาณานิคมของฮ่องกงยังคงปรากฏให้เห็นได้อยู่ เช่น ธนบัตรเก่ และป้ายตามถนน “แต่มันรู้สึกเหมือนว่าพวกมันกำลังจางหายไป”
“ไม่ว่าเราจะวิจารณ์อย่างไร ยุคอาณานิคมเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ฮ่องกงของเรา” หลี่กล่าว
ที่มา: