'วอยซ์ออนไลน์' จึงขอพาย้อนสถิติที่น่าจดจำของรัฐสภาไทยหลังที่ 2 ที่ใช้ประชุมสมาชิกรัฐสภาถัดจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งสถานที่ทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ตระหง่านรับใช้ สภาเลือกตั้งและแต่งตั้ง มาตลอด 4 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปยังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตย ที่กำหนดให้อำนาจสูงสุดเป็นคณะราษฎร โดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ก่อนบังคับใช้ "ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว" เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2475 "พระที่นั่งอนันตสมาคม" ก็ถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับ "การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก" เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2475 เวลา 14.00 น. มี 'ผู้แทนราษฎรชั่วคราว' 70 คน จากการแต่งตั้งของ "คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร" ใช้ห้องโถงชั้นบนเป็นที่ประชุม จัดโต๊ะเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลมระนาบเดียวกัน
พร้อมทั้งตั้ง 'มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี' เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และ 'หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม' หรือนายปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎร สายพลเรือน เป็น "เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก" จากนั้นจึงเลือก "พระยามโนปกรณ์นิติธาดา" เป็น "ประธานคณะกรรมการราษฎร" หรือ "นายกรัฐมนตรีคนแรก"
สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือสถานที่ประชุมรัฐสภาแห่งแรกของไทย เป็นสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ออกแบบโดย แกลิเลโอ คินี สถาปนิกชาวอิตาลี สัญญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองแห่งนี้ อยู่รับใช้สมาชิกรัฐสภาจนถึงปี 2517 รวม 42 ปี
(รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ในพระที่นั่งอนันตสมาคม)
เมื่อสัดส่วนประชากรเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้จำนวนของสมาชิกสภาผูู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นตาม
ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2513 จึงกราบบังคมทูล ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขอพระราชทานที่ดินด้านหลัง พระที่นั่งอนันตสมาคม บริเวณถนนอู่ทองใน เขตดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ของหน่วยรถถัง กรมตำรวจ เพื่อจัดสร้าง "อาคารรัฐสภาแห่งใหม่" หรือ อาคารรัฐสภาที่กำลังจะปิดฉากลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยมี "นายพล จุลเสวก" สถาปนิกใหญ่แห่งกรมโยธาธิการเป็นผู้ออกแบบเป็นโครงสร้างแบบ "เปลือกบาง" คลุมพื้นที่ราว 11,000 ตารางเมตร ไม่มีเสากลาง กินเนื้อที่ทั้งหมดราว 20 ไร่ สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลังจึงมีชื่อเล่นว่า "สภาหินอ่อน"
ประกอบด้วย อาคารหลัก 3 หลัง ได้แก่ 1. ตึก 3 ชั้น ใช้เป็นที่ประชุมส.ส. ส.ว. และร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
2. ตึก 7 ชั้น เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา และ3.ตึก 2 ชั้น ใช้เป็น "สโมสรรัฐสภา"
"บริษัท พระนครก่อสร้าง จำกัด" เสนอราคาก่อสร้าง เฉพาะอาคาร 3 หลัง ต่ำที่สุด เป็นเงิน 51,027,360 บาท รวมครุภัณฑ์และการตกแต่งโดยรอบคิดเป็นเงินราว 100 ล้านบาท พร้อมทำสัญญา เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2513 มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 850 วัน
โดยสามารถเปิดใช้ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2517 สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนแรกที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม หากนับจนถึงต้นปี 2562 ที่คาดว่าจะรองรับการประชุม สนช. จนถึงเดือน ก.พ. จะถือว่า รัฐสภาอู่ทองในรับใช้ ส.ส. ส.ว. และ สนช. มากว่า 44 ปี
(อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน)
ตลอดเวลากว่า 86 ปี ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทั้ง 2 แห่งนั้น มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาแล้วทั้งสิ้น 20 คน แบ่งเป็นในสมัยที่ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม 7 คน และอาคารัฐสภาอูู่ทองในอีก 13 คน รวมถึงเลขาธิการวุฒิสภาอีก 7 คน
หากนับเฉพาะช่วงเวลา 44 ปี ของอาคารรัฐสภาอู่ทองใน ตามข้อมูลจากสำนักวิชาการสภาผู้แทนราษฎร และสถาบันพระปกเกล้า พบว่า รับใช้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้ง 12 ชุด โดยชุดสุดท้ายคือ สภาผู้แทนราษฎร ลำดับที่ 24 ผ่านการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภามาแล้ว 17 คน จากทั้งหมด 30 คน
โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ หรือ 'ขุนค้อน' ถือเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา คนล่าสุดที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเคยทำหน้าที่บนบัลลังก์อันทรงเกียรติแห่งนี้ จนถึงวันที่ 9 ธ.ค. 2556
ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนล่าสุด ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงปัจจุบัน
(สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์รุมประท้วงขณะทำหน้าที่ประธานการประชุม)
รัฐสภาอู่ทองใน แห่งนี้ ยังมีตำนานให้จดจำบันทึกลงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาทุกยุค ทั้งยังเป็นสถานที่แห่งการตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance) ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งหมด 17 คน ล่าสุดที่มาจากการเลือกตั้งคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯคนที่ 28 ซึ่งถือเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย
ด้านการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ของนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถาม กรรมาธิการ(กมธ.) หรือใช้เป็นสถานที่ซักฟอกรัฐมนตรี หรือ อภิปรายไม่ไว้วางใจมา 35 ครั้ง
โดยคนล่าสุดที่โดนซักฟอกคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร -ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ 41 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2556
สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีครั้งแรกในห้องประชุมรัฐสภา อู่ทองใน เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้เสนอญัตติ ในครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. 2517
(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้แจงที่ประชุม สนช. เพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหาที่ถูกถอดถอนในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว)
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกฯคนที่ 29 ยังไม่เคยถูกสมาชิก สนช. ตรวจสอบอย่างจริงจัง
แม้รัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้ สมาชิก สนช. ทำหน้าที่ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. สามารถยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ แต่ สมาชิก สนช. ชุดนี้ที่มาจากการทำคลอดของ คสช. กลับไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารแต่อย่างใด
สมาชิก สนช. ชุดดังกล่าว ยังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย โดยเป็นสภาที่มาจากการรัฐประหาร ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ คนที่ 28 ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้พ้นจากเส้นทางการเมือง ด้วยมติเห็นชอบให้ถอดถอน 190 ต่อ 18 เสียง เมื่อวันที่วันที่ 23 ม.ค. 2558
(วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ทำท่าเชือดคอ ขณะนับผลลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
ภูมิสถาปัตยกรรมรอบอาคารรัฐสภา อู่ทองใน ถูกจัดวางโดย นายแสงอรุณ รัตนากร (19 ม.ค. 2465 - 15 ต.ค. 2522) สถาปนิกผู้ทรงวุฒิ ผุดประติมากรรมลอยตัว ซ้ายมือหน้าอาคารหลัก จะพบกับ 'ดอกไม้ทอง' ทำจากเหล็ก ลอยเด่นเหนือบ่อปลาคาร์ฟ ซ่อนนัยยะผ่านกลีบที่เบ่งบานลดหลั่นกันไป มีเพียงหนึ่งกลีบที่ผลิแย้มชูชันเด่น เป็นสัญลักษณ์ความงอกงาม ของระบอบการปกครองบรรลุตามครรลองประชาธิปไตย ส่วนกลีบที่ลดหลั่นกันไปบ่งบอกถึงอุปสรรคการพัฒนาระบบการปกครองของวันวาน
รอบด้านหน้าอาคารและหลังอาคาร 4 มุม ก็จะพบ"ประติมากรรมหินอัดลอยตัวเหนือน้ำ" ไล่เรียงตามลำดับจากข้างหน้าเริ่มที่ รูปปั้นผู้หญิง สีขาว ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่ง "หญิงยืนแบกหม้อน้ำไว้บนไหล่" สื่อถึงน้ำ
ฝั่งหนึ่ง 'หญิงยืนแบกท่อนไม้' สื่อถึงดิน
ส่วนด้านหลังเป็น "ประติมากรรมหินอัดลอยตัวอยู่บนแท่น" ฝั่งหนึ่ง "รูปปั้นนก" สื่อถึงลม ความเย็น ความสงบ และสันติสุข
ฝั่งหนึ่ง "รูปปั้นไฟ" สื่อถึงพลังงาน ทั้ง 4 ด้านจึงสื่อความหมายถึง "ความแข็งแกร่ง ความเจริญรุ่งเรือง ความสงบสุข และความมั่นคงของรัฐสภา" (ร้องเรื่องเมืองไทย: จิตกรรมและประติมากรรมบริเวณอาคารรัฐสภา)
นอกจากนี้ยังมีศิลปะแขนงอื่นกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณของทั้ง 3 อาคาร ที่สะท้อนถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น อาคารแรก มี ภาพวาดติดผนังบันไดทางขึ้นชั้น 3 ช่วงทางเชื่อมไปอาคารรัฐสภา 2 "รูปเด็กในไข่ทอง" หมายถึง ประชาชนรุ่นใหม่ของประเทศ พร้อมพันธุ์ไม้ผลิดอกรับแสง และรังผึ้ง สะท้อนถึงความสมบูรณ์ ที่หากใช้ไม่เป็นก็จะสูญสิ้น
หรือ ภาพติดผนังทางเข้าห้องฟังการประชุม เช่น 'ภาพบ้านเมือง' มีพื้นสีแดงเรื่อ หมายถึง ความรุนแรงก่อนที่จะใช้ตึกแห่งนี้เป็นที่ประชุม เมื่อปลายปี 2517 "ภาพรัฐธรรมนูญ" อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ วางอยู่บนมัดของธัญพืชเป็นสัญลักษณ์ของสังคมและการกสิกรรมของเรา...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง