ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดตรวจพยานหลักฐาน ครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ในคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายอริสมัน พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทยกับพวกซึ่งเป็นเอกชน รวม 14 คน
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157 ซึ่งนัดนี้จำเลยต้องมาศาลทุกคน โดยมีนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เป็นทนายความจำเลยในคดีนี้
นายวัฒนา กล่าวหลังการตรวจพยานว่า พยานในคดีมีทั้งหมด 20 ปาก ของฝ่ายโจทก์ 10 ปาก นัดสอบวันที่ 3 มิถุนายนและจำเลยอีก 10 ปากนัดสอบเดือนกันยายน ซึ่งคาดว่าศาลคงเร่งให้เสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณเพราะหากเลยเดือนตุลาคมไปแล้วอาจมีการเกษียณอายุแต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะสืบพยานทันหรือไม่ ซึ่งศาลให้ฝ่ายจำเลย ทำหนังสือเปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทางนายวัฒนาและพวกในฐานะจำเลย ขอแถลงเปิดคดีเป็นวาจา ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องให้ศาล พิจารณาว่าจะมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่ ในวันที่ 3 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันแรกของการสืบพยานฝ่ายโจทก์
นายวัฒนา กล่าวด้วยว่า ความจริงคดีนี้ไม่มีอะไร ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติและผู้ประกอบการ ต่างไม่มีความผิดและโครงการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีตามขั้นตอน ไม่ได้ทำให้หน่วยงานหรือทางราชการเสียหาย พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้ ป.ป.ช ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช.ส่งเรื่องสู่ศาลโดยไม่มีการประกาศลงเว็บไซต์ ป.ป.ช.ตามปกติ แต่ปิดเรื่องเงียบไว้ เพราะกลัวการขอและไม่กล้าให้ความเป็นธรรมกับตนแต่ต้น
ตนเชื่อว่า การ ป.ป.ช.ชุดนี้เพิ่งมาดำเนินการทั้งที่เรื่องเกิดขึ้นมา 10 กว่าปีและดำเนินการอย่างผิดปกตินั้น เป็นเพราะตนท้าทายผู้มีอำนาจและเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุค คสช.พร้อมสำทับว่า ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมไม่ได้อยู่ข้างฝ่ายตัวเอง เพราะทำอะไรก็เป็นความผิดแม้แต่หายใจเสียงดัง จึงต้องรอให้บ้านเมืองเป็น ประชาธิปไตยอำนาจอยู่ในมือประชาชนคนในกระบวนการยุติธรรมถึงจะเป็นตัวของตัวเองได้
ส่วนจะมีการฟ้องเอาผิดกับ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น นายวัฒนา กล่าวว่า ยังไม่มีเวลาคิดเรื่องนี้ ที่สำคัญ ป.ป.ช.เอง มีกฎหมายฉบับใหม่คุ้มครอง ซึ่งต้องใช้เสียง ส.ส.ในสภาจำนวนมากหรือไม่ก็ต้องใช้รายชื่อประชาชนหลายหมื่นคน ในการถอดถอนหรือฟ้องร้อง ป.ป.ช.จึงทำอะไรได้โดยไม่กลัวสิ่งใด ซึ่งจำเป็นต้องแก้กฎหมายเกี่ยวกับ ป.ป.ช.ในอนาคตด้วย