ไม่พบผลการค้นหา
“ศิลปินที่มีชื่อเสียงถือขวดเหล้าขวดหนึ่ง โอ้โห จะเป็นจะตาย กลัวว่าวัยรุ่นจะแห่ดื่มเหล้าชนิดนี้กันทั้งโลก ถ้ามันทำได้แบบนั้นคนเขาทำกันไปนานแล้ว คุณคิดว่า ถ้าศิลปินคนเดียวกันอุ้มพระพุทธรูปแล้วคนทั้งโลกเขาจะมาซึ้งในรสพระธรรมไหมครับ? ทำสิครับถ้าทำแบบนั้นได้”

ประเด็นร้อนที่ศิลปินชื่อดัง ‘ลิซ่า BLACKPINK’ โฆษณาวิสกี้แบรนด์หนึ่ง จนเป็นที่ฮือฮากันในสังคมไทย นำไปสู่การตั้งคำถามต่อ ‘พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551’ หากใครอ่านพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะพบว่าในช่วงท้ายจบด้วย ‘หมายเหตุ’ ที่ระบุเหตุผลของการควบคุมและจำกัดการซื้อ-ขาย-โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไว้ว่า

“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัดรักษา หรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดชนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องใช้พระราชบัญญัตินี้”

เราจึงชวน ‘ยุกติ มุกดาวิจิตร’ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มานั่งคุยเรื่องการควบคุมสุราในสังคมอันดีงามแบบไทยๆ ว่า เราจะมองเหล้าเบียร์อย่างไร ให้ไกลไปกว่า ‘อบายมุข อันเป็นต้นเหตุแห่งความฉิบหายทั้งปวง’


Yukti2.jpg

“มนุษย์อยู่กับสุรามานานกว่าศาสนาพุทธ” เราไม่ได้ดื่มเหล้าแค่ให้เมาอย่างเดียว

“การดื่มเหล้ามันมีวัฒนธรรมมายาวนานในสังคมมนุษยชาติ จริงๆ สุรามันก็มีฟังก์ชันหลายๆ อย่าง หนึ่งคือในเรื่องของศาสนา สุรามันนำเราไปสู่สภาวะพิเศษที่ไม่ปกติ ในแง่หนึ่งมันกลายเป็นสภาวะของความศักดิ์สิทธิ์ มันก็ไปเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ถ้าคุณบอกว่าคุณอยากจะฟื้นฟูความเป็นไทย อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่งก็คือ สุรากับความเชื่อเรื่องผี ซึ่งมันมีมาด้วยกันก่อนที่ศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ ที่ห้ามการดื่มสุราจะเข้ามาในภูมิภาคนี้

ศาสนาพุทธอายุแค่ 2,000 ปี อายุน้อยมากเมื่อเทียบกับอายุของมนุษย์ที่อยู่มา 2-3 แสนปีที่เต็มไปด้วยความเชื่ออื่นๆ ด้วย มนุษย์อยู่กับสุรามานานกว่าศาสนาพุทธ แล้วคนไทยก็อยู่กับสุรามานานกว่าการมีศาสนาพุทธ ถ้าคุณเชื่อว่ามีคนไทยมาก่อนศาสนาพุทธ ถ้าคุณไปในสังคมที่ยังเชื่อในศาสนาผี เวลาที่คนแปลกหน้ามาเจอกัน สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องทำก่อนเลยคือดื่มเหล้า เพราะการดื่มเหล้าเป็นการเรียกผีของทั้งสองฝ่ายมาประชุม มาสนทนา มาทำความรู้จักกัน ความสัมพันธ์ระหว่างคนไม่ได้เกิดขึ้นแค่ระหว่างคนอย่างเดียว มันเกิดขึ้นกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ถามว่าทำไมเราถึงมาเรียกเหล้าว่าเป็นอบายมุข? มันเป็นความเชื่อทางศาสนา คือคุณเชื่อศาสนาพุทธและไม่ใช่พุทธที่สากลทั้งหมดด้วย เพราะว่าไม่ใช่ทุกพุทธที่รังเกียจเหล้าเท่าพุทธในสังคมไทย

นอกจากนี้การดื่มมันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางสังคม อย่างในสถานศึกษา ทำไมถึงยอมให้มีบาร์อยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะการเรียนการสอนมันเคร่งเครียด ที่สำคัญความรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียน ความรู้อีกมากเลยมันเกิดนอกห้องเรียน และบางทีมันเกิดในร้านเหล้าด้วยซ้ำ เพราะคนกล้าที่จะคุยมากขึ้น

ในญี่ปุ่นเขามักจะจัดสัมมนาประมาณห้าโมงเย็นเพื่อที่จะไปดื่มต่อ ช่วงเสวนาพอถึงประมาณสักสี่โมงเย็นเขาจะเริ่มมีกระดาษเวียนแล้วว่าใครจะไปต่อบ้าง เขาจะได้นัดร้าน ผมเคยไปอยู่ญี่ปุ่นหกเดือน นี่คือวัฒนธรรมของเขา พอไปถึงที่ร้าน เขาจะเก็บเงินพวกอาจารย์มากกว่านักศึกษา บางทีนักศึกษาก็ช่วยออกบ้างหลักพันเยน แต่อาจารย์อาจจะออกห้าพันถึงหมื่นเยน ลงขันตามระดับรายได้ ในแง่ทางสังคม สุรามันช่วยลดความตึงเครียดระหว่างกัน ช่วยลดกำแพงของความเกรงใจ พอเราเกรงใจกันน้อยลงคนก็พูดตรงมากขึ้น บางทีอยู่ในห้องเรียนไม่กล้าคุยกับอาจารย์ แต่พอไปร้านเหล้าก็กล้าคุยมากขึ้น”


ถ้าเหล้าเป็นอบายมุข ทำไมประเทศที่มีบาร์ในสถานศึกษายัง ‘เจริญ’ ได้?

“มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในโลก ผมไม่เห็นมหาวิทยาลัยไหนห้ามดื่มเหล้าในมหาวิทยาลัย ทั้งในญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี โซนยุโรปอเมริกานี่ไม่ต้องพูดถึง อย่างในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่ผมเคยไปเรียน มีบาร์ของมหาวิทยาลัยเองที่เป็นสโมสรนักศึกษา ขายเหล้าขายเบียร์ แต่เขามีกำหนดอายุตามกฎหมายว่าอายุ 21 ปีถึงจะดื่มได้ เพราะฉะนั้นคุณจะต้องโชว์บัตร เคยมีอาจารย์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่มีส่วนในการคิดค้นเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ กำลังจะถูกซื้อตัวไปที่อื่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกับผู้บริหารของเมืองจับมือกันบอกว่า ‘เราจะลงทุนทุกวิถีทางเพื่อจะให้คนๆ นี้อยู่ต่อ’ อาจารย์คนนี้ขออะไรรู้ไหม?  อันนี้เรื่องจริงนะครับ เขาขอตึกๆ หนึ่งให้เป็นตึกที่ใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์และใต้ตึกนั้นหรือชั้นหนึ่งจะต้องมีบาร์ เพื่อที่จะให้คนทั้งนักศึกษาและอาจารย์สามารถมาคุยแลกเปลี่ยนกันในบรรยากาศสบายๆ ได้ มหาวิทยาลัยและเมืองรับปากและสร้างตึกขึ้นมา เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว

มหาวิทยาลัยเกียวโตกับมหาวิทยาลัยวาเซดะของญี่ปุ่น สองมหาวิทยาลัยนี้จับมือกันลงทุนค้นคว้าในสองด้าน คือโบราณคดีและไบโอเทคโนโลยี เพื่อที่จะเอายีสต์และมอลต์ที่คนอียิปต์โบราณเคยใช้ในการหมักบ่มเบียร์มาผลิตเบียร์ที่มีขายเฉพาะในสองมหาวิทยาลัยเท่านั้น มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเองก็ลงทุนเปิดภาควิชาที่สอนทำเบียร์ เพราะว่าลูกหลานของรัฐวิสคอนซินเป็นเกษตรกร ภาควิชาการเกษตร เศรษฐศาสตร์ทางการเกษตร และวิทยาศาสตร์การอาหารของวิสคอนซินจึงโด่งดังไปทั่วโลก รวมทั้งการผลิตเบียร์ เบียร์ต้องการอะไรบ้าง? มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ น้ำ มอลต์กับฮอปส์ สำคัญมากเป็นฐานการเกษตรได้ ตอนหลังๆ ก็มีคนปลูก ฮอปส์เต็มไปหมดเลย อันนี้มันเป็นเรื่องเศรษฐกิจและการศึกษาอะไรหลายอย่างที่เชื่อมโยงกัน

ในขณะที่ประเทศอย่างประเทศไทย ซึ่งก็ไม่ได้เจริญอะไรเลย เราไม่ได้เป็นประเทศที่เจริญนะครับอย่าลืม ขอโทษนะ การห้ามดื่มสุราทำให้ประเทศไทยมันเจริญขึ้นมายังไงครับ? โอเค การส่งเสริมการดื่มสุราไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเจริญ แต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปส่งเสริมการดื่มไง แต่เราปลดปล่อยการผลิต เราต้องทำให้การผลิตเป็นเรื่องเสรี”


Yukti1.jpg

ผูกขาด-อำนาจนิยม การควบคุมสุราสะท้อนสภาพสังคม

“ประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะปลดปล่อยการผลิตในระดับครัวเรือนเมื่อปี 1983 นี่เอง แล้วก็ค่อยๆ เปิด ไม่ใช่ทุกรัฐที่เปิดพร้อมกัน ทุกวันนี้ยังมีบางรัฐที่ห้ามผลิตสุราในบ้าน แต่ว่าส่วนใหญ่ผลิตได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันมา อย่างน้อยประมาณช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงจะค่อยๆ เริ่มอนุญาตให้ผลิตได้ ผ่านการต่อสู้กันมายาวนาน ที่อื่นในโลกผมก็เชื่อว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นกันง่ายๆ เพราะว่าสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นสิ่งที่มนุษย์ชอบ ขายได้ จริงๆ แล้วต้นทุนการผลิตไม่ได้สูงเลย รัฐส่วนใหญ่กลัวว่าคนจะไปเสพสิ่งเสพติดที่จริงๆ ต้นทุนไม่ได้สูง รัฐก็เลยสร้างกำแพงภาษี เก็บเป็นรายได้ของรัฐไป

คำถามคือ ทำยังไงที่รัฐจะสร้างความสมดุลระหว่างการบริโภคสิ่งเสพติดมึนเมา กับการให้เสรีภาพในการผลิต ในการดื่มและบริโภค มันจะต้องมีความสมดุลกัน ต้องไม่ใช่วิธีการผูกขาด คุณสร้างการผูกขาด สร้างภาษีสูงลิบลิ่ว รัฐได้ภาษีเอาไปใช้ ขณะเดียวกันนายทุนกลุ่มหนึ่งก็ได้กำไรจากการขายสุราหรือจากการนำเข้าสุราอยู่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อันนี้เป็นความไม่ยุติธรรมในสังคมอีกแบบหนึ่ง

ผมว่าการควบคุมการดื่มและการผลิตแอลกอฮอล์มันมักจะสัมพันธ์กับสังคมที่เป็นแบบอำนาจนิยม เรานึกถึงรัฐจำนวนหนึ่งที่บอกว่าตัวเองเป็นรัฐศาสนา มันมีรัฐลักษณะนั้น แต่เขาก็ขีดเส้นว่า ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในศาสนาที่รัฐอุปถัมภ์ คุณสามารถอยู่ในระเบียบอีกแบบหนึ่งได้ ตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัวก็คือมาเลเซีย คนมาเลเซียถ้าคุณถูกสงสัยว่าเป็นชาวมุสลิม โอเค คุณซื้อแอลกอฮอล์ไม่ได้ แต่ว่าคนอื่นๆ สามารถซื้อเบียร์ซื้อสุราดื่มยืนอยู่ริมถนนก็ยังได้ ไม่เป็นไร ไม่ได้เข้มงวดเท่ารัฐไทยด้วยซ้ำ

รัฐไทยไม่ได้ประกาศตัวว่าเป็นรัฐศาสนา แต่ทำตัวเข้มงวดขนาดนั้นเพราะอะไร มันอยู่ที่การเป็นรัฐอำนาจนิยม ซึ่งสอดคล้องกับการควบคุมเข้มงวดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเฉพาะกลุ่ม ผมตั้งข้อสังเกตแบบนี้ อำนาจนิยมกับการผูกขาดทำไมถึงมาด้วยกัน? ก็เพราะว่าการผูกขาดอาศัยอำนาจนิยมเพื่อจรรโลงการกระจุกตัวของอำนาจไว้ อำนาจในการผลิตกระจุกตัวอยู่กับบางตระกูล ต้องพยายามที่จะหล่อเลี้ยงไม่ให้เกิดความเสมอภาคในการผลิต ความเสมอภาคในการบริโภค การจะผ่านบางกฎหมาย คุณก็ต้องไปอิงกับวาทกรรมทางศาสนา ศาสนาจึงถูกนำมาอ้างเพื่อการผูกขาด

คุณอย่ามาพูดเลยว่าโฆษณามันมีผลแต่กับโลกของประชาชนทั่วไป อิทธิพลของระบบทุนนิยมมีต่อทุกคน ...ประชาชนเขาไม่โง่ครับ เขาไม่ได้ซื้อเหล้าแบบเฮโลกันไป โอ้โห นี่ มีคนบอกว่า อันนี้อร่อย ล่าสุดศิลปินที่มีชื่อเสียงถือขวดเหล้าขวดหนึ่ง โอ้โห จะเป็นจะตาย กลัวว่าวัยรุ่นจะแห่ดื่มเหล้าชนิดนี้กันทั้งโลก ถ้ามันทำได้แบบนั้นคนเขาทำกันไปนานแล้ว คุณคิดว่าถ้าศิลปินคนเดียวกันอุ้มพระพุทธรูปแล้วคนทั้งโลกเขาจะมาซึ้งในรสพระธรรมไหมครับ? ทำสิครับถ้าทำแบบนั้นได้ มีเงินเท่าไหร่ทุ่มไปเลยกับศิลปินคนนี้ ขอจ้างอุ้มพระพุทธรูปให้ประเทศไทยหน่อยเหอะ แล้วจะทำให้คนไทยซึ้งในรสพระธรรม ช่วยทำหน่อยดิ มันทำไม่ได้หรอกครับ คนมีสมองนะ

ปัญหาคือคุณคิดว่าประชาชนโง่ คุณเท่านั้นที่ฉลาด ถ้าคุณคิดแบบนี้ คือคุณคิดในกรอบของความคิดที่ว่า มีแต่พวกคุณเท่านั้นที่มีอำนาจในการที่จะดูแลตัวเองได้ ประชาชนไม่มีอำนาจในการดูแลตัวเอง คุณไม่เชื่อในประชาชน คุณไม่เชื่อว่ามนุษย์มันเท่ากัน คุณเชื่อในระบบอำนาจนิยม แค่นี้เอง”


“จน เครียด กินเหล้า” ผลักภาระให้คนมีรายได้น้อยในสังคมที่มองคนไม่เท่ากัน

“แคมเปญรณรงค์ลดดื่มเหล้า มันผลักภาระให้กับชนชั้นล่างเป็นส่วนใหญ่ มองว่าการดื่มของคนบางกลุ่มไม่มีความรับผิดชอบ สังคมไทยมองกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นแรงงานว่า เขาไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ‘ดูสิเนี่ย เงินก็มีน้อย แถมยังเอาไปลงกับสุรา ไม่ได้ช่วยอะไรให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น’

จริงๆ แล้วเด็กและวัยรุ่นเองก็ถูกมองเหมือนเป็นชนชั้นแรงงานเช่นกัน คือมองว่ายังรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีรายได้ หรือถ้ามีรายได้ก็น้อย ยังจะต้องแบมือขอเงินพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งถูกมองว่ามีความรับผิดชอบสูงกว่า สามารถควบคุมตัวเองได้ มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า มันสะท้อนว่าสังคมนี้มองคนไม่เท่ากัน หรือไม่คิดว่าคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือคนที่มีรายได้น้อย เขาก็มีสติปัญญาเหมือนกัน เขาก็คิดได้ เขาก็รู้ว่าอะไรดีไม่ดี

สิ่งที่เราควรจะพูดกันมากกว่า คือ โครงสร้างและการจัดการ คุณจะสามารถทำให้คนเรียนรู้การดื่มสุราอย่างรับผิดชอบได้ไหม คุณสร้างระบบการขนส่งที่มีความปลอดภัยได้ไหม เพื่อที่คนจะไม่ต้องเมาแล้วขับ คนญี่ปุ่นจำนวนมาก รุ่นผมซึ่งอายุ 50 ขึ้นไป ขับรถไม่เป็น เพราะเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขับรถ เขาจะไปเมาแค่ไหนก็ได้ เขาก็นั่งรถไฟกลับบ้าน อย่างมากถ้าตกรถไฟก็นั่งแท็กซี่กลับบ้าน หรือไม่ก็นอนในผับในบาร์ ซึ่งหลายที่เขาก็เปิดจนสว่างไปเลย เมาก็หลับอยู่ที่นั่นแล้วกัน ความรับผิดชอบตรงนี้ ทั้งสังคมต้องร่วมสร้างขึ้นมาด้วย ไม่ใช่ผลักภาระว่า ปัญหาอุบัติเหตุมีสุราเป็นสาเหตุทั้งหมด มันไม่ใช่นะครับ"


Yukti5.jpg

สังคมที่มีวุฒิภาวะในการดื่มเป็นอย่างไร?

“สังคมที่มีวุฒิภาวะในการจัดการกับสุรา เขาจะมีวิธีการที่จะสั่งสอนลูกหลานและเด็กๆ ให้เรียนรู้เป็นกระบวนการ อย่างในสหรัฐอเมริกา เขาจะมีที่เก็บเหล้าที่เด็กเอื้อมไม่ถึง พอโตขึ้นก็ให้เขาค่อยๆ เรียนรู้ ให้เขาเลือกเองว่าชอบหรือไม่ชอบ แล้วก็ให้รู้จักมีความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้มันเริ่มจากในบ้านด้วยซ้ำ

ในเวียดนาม เด็กจะไปนั่งกับผู้ใหญ่ที่อยู่ในร้านเหล้าด้วย เขาก็จะรู้มารยาทต่างๆ คนเวียดนามมารยาทจัดมากในการดื่มเหล้า เขาจะไม่ดื่มคนเดียว ถ้าไปนั่งอยู่ด้วยกัน เวลาจะดื่มจะต้องชวนคนอื่นดื่มด้วย เพราะว่าสุราเป็นเรื่องของสังคม คุณจะไม่อยู่ๆ ยกแก้วขึ้นดื่มคนเดียวโดยไม่ชวนคนอื่น ไม่ได้ คุณจะต้องชวนเป็นมารยาท ถ้าคุณเคยไปเวียดนาม คุณจะไม่เห็นคนตีกันในร้านเหล้านะ ผมไปอยู่เวียดนามมาสามปีไม่เคยเห็นเลย เขาเสียงดังต่างคนต่างดื่มในโต๊ะของตัวเองไป

ที่ญี่ปุ่น คุณจะเห็นว่ามันเงียบมากใช่ไหม ถ้าใครพูดเสียงดังคนจะหันมาค้อน คุณอาจจะถูกตำหนิได้ บนรถไฟฟ้าห้ามโทรศัพท์ ห้ามคุยเสียงดัง แต่ในร้านเหล้าจะเป็นที่ที่เสียงดังที่สุดและไม่มีใครต้องเกรงใจใคร ไม่มีใครว่ากัน เสียงดังในร้านเหล้าได้เต็มที่ โดยปกติคนแปลกหน้าเขาจะไม่ค่อยคุยกัน แต่ผมเคยมีคนแปลกหน้าเลี้ยงเหล้ามาแล้วในร้านอิซากายะหรือร้านเหล้าในญี่ปุ่นเพราะคุยกันแล้วถูกคอ ในสังคมแบบนี้ทุกคนรู้จักดูแลตัวเอง เขาสร้างวัฒนธรรมของการดื่มจนถึงจุดที่คนยอมรับกันได้ว่า ร้านเหล้าเป็นจุดที่คุณสามารถปลดปล่อยตัวเองได้ คุณเมาคนอื่นก็ยอมรับ ไม่เป็นไร มันเป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้กัน

สังคมที่มีวุฒิภาวะในการดื่มสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่คนดื่มอย่างควบคุมตัวเอง ความคิดที่ว่าเมาแล้วจะต้องวิวาทกัน สุราเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท อันนี้เป็นเรื่องของสังคมที่ไม่ยอมปล่อยให้คนเติบโตขึ้นมากับการดื่ม”


ถ้า ‘สุราชุมชน’ เกิดขึ้นได้จริง ชาวนาอาจจะไม่ต้องมานั่งประท้วงอย่างทุกวันนี้?

“เราจะได้สังคมอีกแบบหนึ่งที่มันต่างไปเยอะเลย ตั้งแต่ระดับวัตถุดิบ เช่น ข้าวที่สามารถนำมาผลิตได้ หรืออาจจะมีบางพื้นที่ที่ปลูกฮอปส์ได้แต่เรายังไม่ได้พัฒนา แล้วมันจะนำไปสู่การผลิต จะมีเกษตรกรที่พัฒนาเทคโนโลยีการปลูกฮอปส์และพืชผลอื่นๆ ที่คนใช้ในการผลิตเบียร์หรือไวน์แบบต่างๆ การแปรรูปวัตถุดิบธัญพืชแบบต่างๆ มันจะตามมา อย่างในเวียดนาม มีการเอาเสาวรสมาทำเบียร์และสุรา เอากล้วยมาทำสุรา เหล้ากล้วย ใสเลยนะครับแต่มีกลิ่นกล้วย มีวัตถุดิบอื่นๆ อีกมากมายที่นำมาทำได้ อันนี้คือระดับเศรษฐกิจพื้นฐานที่ผมคิดว่ามันจะเติบโตแน่นอน

สองคือในระดับธุรกิจของการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าชุมชนผลิตเองได้ เขาจะเป็นอิสระจากธุรกิจขนาดใหญ่ เช่นในเวียดนามอีกเหมือนกัน เขาอนุญาตให้ชาวบ้านผลิตขายในชุมชนได้ในปริมาณหนึ่งโดยที่ไม่เก็บภาษี คุณจะได้เหล้าที่บริสุทธิ์มากๆ ดีมากๆ เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น ลิตรหนึ่งประมาณห้าสิบบาท เหล้าอย่างดี 50-55 ดีกรีเลยนะครับ ใสมาก กลั่นเอาน้ำแรกๆ จริงๆ บริสุทธิ์มากๆ ถามว่ามีการควบคุมคุณภาพไหม? ชาวบ้านเขาควบคุมกันเองเพราะเขาดื่มเองเขารู้ว่า อันนี้ดี ร้านนี้ดี ร้านนี้ไม่ดี ของดีของไม่ดีให้เป็นเรื่องของชุมชนจัดการกันเอง คุณกระจายรายได้ คุณตัดการผูกขาด ในเวียดนามมีบริษัทสุราใหญ่ๆ ไหม มี มีการนำเข้าสุราจากต่างประเทศไหม มี แต่ชาวบ้านไม่ต้องไปพึ่งสิ่งเหล่านั้น พึ่งสุราชุมชนได้

ตัดภาพมาในญี่ปุ่น มีโรงสาเกแทบทุกเมืองไม่รู้เท่าไหร่ มีธุรกิจท้องถิ่น สามารถที่จะตัดขาดไม่ให้บริษัทขนาดใหญ่มาครอบงำ ในสหรัฐอเมริกามีโรงเบียร์ มีผับที่ทำเบียร์ของตัวเองขายเฉพาะในผับและสาขาของเขา มีอยู่เต็มไปหมด มันก็จะสัมพันธ์กันกับการเอาวัตถุดิบมาค่อยๆ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

สามคือเรื่องร้านค้าบริการต่างๆ ก็ตามมาเต็มไปหมดเลย สร้างงานมากขึ้น สี่คือเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy คุณสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ คุณสร้างสูตรอะไรใหม่ๆ สาเกคุณใช้ข้าวอะไร ข้าวทำโมจิเวลาเอามาทำสาเกแล้วรสชาติต่างไปยังไง ลองเปลี่ยนยีสต์ดูซิ เปลี่ยนน้ำดูซิ คุณก็จะได้วาไรตี้ต่างๆ นี่คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งคนมันจะไปแข่งกันที่สูตรและความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ทุกวันนี้ผู้ผลิตคราฟเบียร์ในประเทศไทยจริงๆ มีนับไม่ถ้วน คนที่รอและพร้อมที่จะสร้างแบรนด์ท้องถิ่นมีนับไม่ถ้วน แต่ละเจ้าก็มีเบียร์ของตัวเองหลากหลายแบบ แค่นี้คุณได้อะไรมากแค่ไหนแล้ว นำไปสู่ต้นทางของวัตถุดิบ การผลิต การบริการ และอะไรอีกมากมาย ถามว่าคุณไปกักเก็บพลังเหล่านี้ไว้เพื่ออะไรถ้าไม่ใช่เพื่อการผูกขาดของบริษัทบางบริษัท”


เวียดนามไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่ทำไมให้เสรีสุรา?

“เวียดนามมีลักษณะพิเศษ เขาเป็นสังคมอำนาจนิยม ใช่ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เขาจะต้องแคร์ ก็คือการรวมศูนย์อำนาจที่ทำยังไงให้ประชาชนไม่บ่น เพราะมันอยู่ยากในโลกปัจจุบัน ถ้าคุณยังหวงอำนาจอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียว โดยที่ไปผูกขาดเรื่องอื่นๆ ด้วย คุณอยู่ยาก ไม่งั้นคุณจะกลายเป็นเกาหลีเหนือ เวียดนามไม่ได้อยากเป็นเกาหลีเหนือ อย่างประเทศจีนผูกขาดอำนาจทางการเมืองและทางอุดมการ์ณเป็นหลัก เวียดนามก็เหมือนกัน แต่อำนาจทางเศรษฐกิจปล่อยมากขึ้นเรื่อยๆ มีผู้ผลิตรายย่อยเต็มไปหมด

คุณคิดดูแล้วกันขนาดประเทศที่เติบโตมากับอำนาจนิยม เขายังไม่อยากผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศนี้ไทยกลับพยายามผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างการผูกขาดอำนาจในการผลิตแอลกอฮอล์ในนามของศีลธรรมอันดีงาม อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของความผิดฝาผิดตัว มือถือสากปากถือศีลอยู่อย่างนี้”


Yukti3.jpg

“ปิดกั้นความเป็นคน” ในประเทศผูกขาด ประชาชนสูญเสียมากกว่ารสชาติในชีวิต

“ผมยังอยากจะคิดว่า เพลงทุกประเภทมันมีความดีงามของมันเอง อยู่ที่ว่าคนชอบหรือไม่ชอบ บางคนก็ไม่ชอบฟังดนตรีคลาสสิก ถ้าคุณจะบอกว่าไม่ชอบฟังดนตรีคลาสสิก ‘ดนตรีคลาสสิกกระจอก’ เราพูดไม่ได้เด็ดขาดใช่ไหม เราจะบอกว่าวิสกี้ที่บริษัทนี้ผลิตมันงี่เง่า กระจอก มันพูดไม่ได้หรอก แต่ปัญหาก็คือว่า เพลงลูกกรุงสมัยเมื่อ 70-80 ปีก่อน มันก็เพราะนะฟังสบายๆ แต่ถ้าคุณถูกห้ามไม่ให้ผลิตเพลงอื่นอีกเลย ห้ามฟังเพลงประเภทอื่น เพลงประเภทอื่นผิดกฎหมายหมด คุณคิดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคม? เรากำลังทำสิ่งเดียวกันกับสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

คุณรู้จักอาหารจานหนึ่งที่เรียกว่าพระรามลงสรงไหม? เป็นอาหารที่ฮิตมากในช่วงวัยที่ผมเป็นเด็ก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตอนนี้อาหารจานนี้มันยังมีอยู่ที่ร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศไทยคุณหากินยากมาก อันนี้คือเสรีภาพในการกิน มันตกยุคไปคนก็ไม่กิน แล้วมันมีอาหารใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ คุณเห็นไหมว่าอาหารไทยมันไม่เคยหยุดนิ่ง เราจะบอกว่าอาหารไทยมันจะต้องอย่างนู้นอย่างนี้ มันไม่จริง มันไม่เคยหยุดนิ่ง มันมีอะไรใหม่ๆ ตลอด แต่คุณไม่อนุญาตให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในการดื่มแอลกอฮอล์ คุณไปปิดกั้นสิ่งเหล่านี้ก็คือคุณปิดกั้นเสรีภาพในการบริโภค คุณปิดกั้นเสรีภาพในการมีชีวิต คุณปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก คุณปิดกั้นเสรีภาพในความเป็นคน ในการที่จะลิ้มรสต่างๆ

คุณบอกว่าคุณจะต้องวาดภาพแบบนี้เท่านั้น นั่นมันยุคนาซี ยุคนาซีมีการประกาศว่าศิลปะแบบนี้คือศิลปะที่เสื่อมทราม นี่มันคือนาซีในวัฒนธรรมการดื่ม คุณกำลังสร้างระบบของการผูกขาดปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงการบริโภค เข้าถึงรสชาติ รสสัมผัสในแบบที่มันแตกต่างออกไป ในขณะเดียวกันคุณสร้างชนชั้นเพราะว่าคนที่มีสตางค์เท่านั้นถึงจะบริโภคความหลากหลายเหล่านี้ได้ เพราะเขารวยเขาจึงรับผิดชอบได้ ส่วนคุณมันจน คุณไม่มีความรับผิดชอบจึงไม่สมควรได้รับเสรีภาพนี้”



เรื่อง: วิรดา แซ่ลิ่ม, ฉัทดนัย ทิพยวรรณ์

ภาพ: ฉัทดนัย ทิพยวรรณ์

วิรดา แซ่ลิ่ม
15Article
0Video
0Blog