เมื่อการเรียนเป็นรูปแบบการต่อยอดความรู้ที่ค่อยๆ ไต่ระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ หากเผลอหลุดโฟกัสก็ยากจะต่อติด และพอพลาดเรื่องพื้นฐานแล้ว เรื่องแอดวานซ์ๆ ก็อย่าเพิ่งพูดถึงเลย
ด้วยความเชื่อในการเรียนรู้ และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ‘ชิน วังแก้วหิรัญ’ จึงทดลองหาเครื่องมือใหม่ๆ ทางการศึกษา เพื่อจะช่วยทำให้เด็กเรียนรู้ได้โดยไม่ท้อไปเสียก่อน กระทั่งมาลงตัวกับ ‘แชทบอท’ (Chatbot) หรือระบบจำลองบทสนทนาอัตโนมัติ ซึ่งนำเสนอบทเรียนขนาดกะทัดรัดที่ทั้งสนุก ง่าย และฟรี
“โดยธรรมชาติ คนเราชอบการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่จะไม่ชอบการเรียนรู้ที่มันเกินเอื้อม ถ้ามันยากเกินไปจะรู้สึกว่าท้อแล้ว”
‘วอนเดอร์’ (Vonder) แชทบอทกระรอกน้อยสีแดงบนเฟซบุ๊ก เป็นทางเลือกใหม่ทางการศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้ปรับพื้นฐานความรู้กันใหม่ ด้วยกระบวนการเปลี่ยนบทเรียนเครียดๆ กลายเป็นการเล่นเกม เพียงคุยกับเจ้ากระรอกไปเรื่อยๆ ก็ได้รับความรู้ และความสนุกราวกับคุยอยู่กับเพื่อน
ปัจจุบันมีผู้เข้ามาเล่นๆ เรียนๆ กับแชทบอทกระรอกน้อยตัวนี้แล้วกว่า 55,000 คน โดยเบื้องต้นมีเนื้อหาวิชาเคมี ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์ ให้เลือก
จากประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษา ชินเห็นปัญหาของโรงเรียนในชนบท และพบนักเรียนที่มีความรู้ต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น กรณีเด็กมัธยม 3 กลับมีความรู้เท่ากับเด็กประถม 6 เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีเครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลาย และครอบคลุมไปถึงเด็กกลุ่มนี้
“เราทำเนื้อหาที่เป็นเบสิค เพื่อจะปรับพื้นฐานเด็กกลุ่มที่อ่อนจริงๆ แล้วอยากจะยอมแพ้กับการเรียน เพราะเนื้อหามันยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่เข้าใจ ก็ไม่อยากเรียน”
สำหรับกลุ่มเด็กเรียนเก่ง แม้ต้องเผชิญกับเนื้อหาบทเรียนรูปแบบไหนพวกเขาก็สามารถเรียนรู้ได้ ดังนั้น หน้าที่หลักของ Vonder จึงมุ่งเป้าโฟกัสไปยังการปูพื้นฐานให้กับกลุ่มเด็กเรียนอ่อน ซึ่งต้องการเครื่องมือการเรียนรู้จริงๆ โดยจะเริ่มต้นจากเนื้อหาพื้นฐานกันก่อน อย่างวิชาภาษาอังกฤษจะเริ่มจากเรื่องประเภทของคำ รูปแบบของกริยา และการฝึกฟังคำศัพท์จากเพลงฮิต ส่วนวิชาเคมีก็มีเรื่องของตารางธาตุ และโครงสร้างอะตอม
ชินยกตัวอย่างว่า วิชาเคมีที่เด็กไทยหลายๆ คนขยาดนั้น มีเนื้อหาที่ยากยิ่งกว่าที่เรียนกันในตะวันตกเสียอีก แต่พวกเขากลับเพิ่งได้เรียนกันจริงจังช่วงมัธยมปลาย ซึ่งเป็นระยะเวลาสั้นมาก ทำให้มีเวลาปูพื้นฐานน้อย แต่แชทบอทเป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กสามารถเรียนด้วยตัวเองได้ง่ายๆ และสามารถเรียนกี่รอบก็ได้
“มันไม่จริงนะครับว่า ทุกคนไม่อยากเรียนรู้ เราอยากเรียนรู้กันอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้มีเครื่องมือเป็นทางเลือกเยอะขนาดนั้น โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่เข้าไม่ถึงโอกาส เขามีแค่หนังสือในห้องกับครูในโรงเรียน นอกนั้นเขาก็ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรอย่างอื่นแล้ว เพราะฉะนั้น Vonder เลยพยายามจะสร้างอีกทางเลือกหนึ่งของคอนเทนต์ ที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกว่า โอเค พื้นฐานเขาอ่อน แต่คอนเทนต์นี้ออกแบบมาเพื่อเขา”
การเรียนกับแชทบอท Vonder คล้ายกับการคุยกับเพื่อนบนเฟซบุ๊ก ไม่ต้องโหลดแอปฯ ใดๆ โดยเจ้ากระรอกจะคอยถามคำถามให้เลือกตอบ ประกอบกับภาพกราฟิกเข้าใจง่าย สามารถเรียนได้หลายรอบ รวมถึงมีชีทสรุปเนื้อหา และแบบทดสอบให้ลองทำ
การเรียนวันละนิดกับเนื้อหาขนาดกะทัดรัด ทำให้ใครก็สามารถเรียนจนจบได้ โดยสมาธิไม่หลุดเสียก่อน และหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การโต้ตอบของแชทบอทกระรอกที่คอยตั้งคำถามให้ตอบทีละเรื่องนั้น ทำให้ผู้เรียนได้คิดตาม ต่างจากการเรียนรู้ผ่าน e-learning รูปแบบเดิมๆ ที่ผู้เรียนทำได้เพียงดูคลิปวิดีโอไปเรื่อยๆ คล้ายกับการเรียนพิเศษกับเทปที่บันทึกไว้ ซึ่งทำกันมานานแล้ว
“คนที่เป็นคนแก้ไขปัญหาการศึกษา ต้องกล้าจะลองคิดอะไรแปลกๆ แล้วลองทำมันจริงๆ ที่ผ่านมาเราสอนในรูปแบบแปลกๆ เพิ่มด้วย อย่างเช่นไปเอาเพลงฝรั่งมา แล้วให้เด็กเขาฝึกฟังศัพท์จากเพลง ก็กลายเป็นว่าบทเรียนตัวนั้นป๊อบปูลาร์มาก คนเล่นจบสามหมื่นกว่าคนในประมาณอาทิตย์เดียว”
นอกจากนี้ การเรียนกับ Vonder ก็มีคะแนนสะสมคล้ายกับเกม โดยได้คะแนนทั้งจากการเรียนจบบท และการสอบ เพราะทีมงานมองว่า การทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญ
“เราถามเด็กที่เล่นว่า ทำไมคุณถึงยังเล่นอยู่ เขาบอกว่าเวลาเล่นแล้วมันผ่อนคลาย มันเหมือนเขาไม่ได้เรียนอยู่ แล้วมันก็รู้สึกเหมือนไม่มีใครมาตัดสินว่าทำไมไม่ฉลาด เขาจะได้คะแนนเท่าไร เขาจะเล่นกี่รอบก็ได้ ผมก็รู้สึกว่าเราค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ขึ้นมา”
เดิมที Vonder ถูกออกแบบมาให้เด็กมัธยมต้นเล่น เนื้อหาเริ่มจากความรู้ระดับมัธยมต้น เช่น ภาษาอังกฤษจะสอนคำนาม คำสรรพนาม หรือ หลักการใช้เทนส์ แต่ทีมงานกลับพบว่า คนที่มาเล่นส่วนใหญ่กลับเป็นเด็กมัธยมปลาย โดยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานเป็นเด็กมัธยม 6 ที่กำลังเตรียมสอบ เด็กมหาวิทยาลัยก็มีอยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยเด็กคณะวิทยาศาสตร์จะนิยมเรียนวิชาเคมีกันเยอะ และที่น่าแปลกใจคือ ครูเองก็เล่น และนำไปใช้สอนนักเรียนในห้องด้วย ในระยะยาวทีมงานจึงหวังจะผลิตเนื้อหาที่ยากขึ้นกว่านี้
“ตอนแรกเราต้องดึงด้วยวิชาที่เด็กเขาเรียนก่อน เพราะเวลาเขาเข้ามาจะได้รู้สึกว่าอันนี้เอาไปใช้สอบได้ เพราะเขาเรียนในห้องเรียนไม่รู้เรื่อง แต่มีวิชาอีกหลายวิชามากที่ทีมเราคิดว่ามันสอนผ่านบอทได้ แต่มันยังไม่ได้สอน”
ชินเล่าถึงกรณีต่างประเทศ ซึ่งมีการสอนวิชาความรู้ทางการเงินว่า บางทีชาวตะวันตกเลือกจะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย บางคนเรียนจบจะไปทำธุรกิจของตัวเอง ก็จำเป็นต้องมีความรู้พอที่จะไม่เป็นหนี้ เรื่องนี้จึงต้องสอนตั้งแต่มัธยมปลาย ต้องมีความรู้ว่า ใช้บัตรเครดิตอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ และไม่ก่อหนี้ เปิดพอร์ตหุ้นอย่างไร จ่ายภาษีอย่างไร
“จริงๆ การเงินมันเป็นคอนเทนต์ที่ง่ายกว่าแคลคูลัสที่สอนมัธยมปลายอีก มันง่ายกว่ามาก แต่มันไม่ได้สอน เราก็เลยอยากจะใส่ลงไปในบอทด้วย แล้วก็วิชาอื่นๆ เช่น วิชาการคิดอย่างมีเหตุผล (logical thinking) สอนในบอทนี่คือเหมาะเลย อย่างเช่นง่ายๆ นะครับ ไปเอาสเตตัสเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ก็ได้ แล้วก็ให้เด็กดูว่า ข้อนี้ผิดตรรกะวิบัติข้อไหน แล้วก็ให้เลือก อันนี้เรามีแผนว่าเราอยากจะทำ แล้วมันจะสนุกด้วย”
อย่างไรก็ตาม ชินยอมรับว่า Vonder ยังมีข้อจำกัดอยู่ อย่างการสอนวิชาสายคำนวณนั้น อย่างไรก็ต้องมีกระดาษทด นักเรียนต้องได้ลองทำกระบวนการคิด ลองผิดพลาดดู หรือการสอนเรื่องที่นักเรียนต้องมีส่วนรวมอย่างการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเองก็ไม่สามารถทำผ่านแชทได้ แชทบอทจะเหมาะกับการทำความเข้าใจเรื่องที่เป็นคอนเซปต์มากกว่า หากเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ก็อาจจะพอสอนเรื่องสถิติได้
“ผมคิดว่า ในการเรียนรู้ของคนเรา มันไม่มีอะไรที่เป็นแหล่งเพียงหนึ่งเดียวที่เราจะเรียนรู้ได้ อย่างเช่นเราไม่ได้มีแต่ครูในห้องเรียนอย่างเดียวที่เราจะเรียนรู้ได้ เราแค่เข้ายูทูบไปเราก็เจอที่เรียนรู้แล้ว เราไปเดินตามถนนแล้วเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมาต่อหน้าเรา นี่ก็การเรียนรู้แล้ว เพราะฉะนั้น Vonder มันก็เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่ง
“ทัศนคตินี้สำคัญนะ สำหรับคนที่ทำงานด้านการศึกษา คือคุณอย่าคิดว่าเราเป็น one-stop service มันเป็นไปไม่ได้ครับ เราทำได้แค่สร้างทางเลือกให้เขามากพอ เยอะพอที่มันจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียนได้ แต่มันไม่มีทางที่เราจะเป็นสภาพแวดล้อมเดียวที่จะทำให้เขาเรียนรู้ได้”
ในฐานะสตาร์ทอัพด้านการศึกษาที่มีทีมงาน และค่าใช้จ่าย อย่างไรรายได้ก็เป็นส่วนสำคัญในพัฒนา แต่ Vonder ซึ่งมีจุดประสงค์ตั้งต้นคือ การเป็นเครื่องมือการศึกษาที่นักเรียนทุกคนเข้าถึงได้นั้น เลือกจะไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากนักเรียนผู้ใช้งานเอง รวมถึงไม่มีการขายโฆษณามาคั่นให้เสียจังหวะการเรียนรู้
โมเดลธุรกิจของ Vonder คือการนำความรู้ และพื้นฐานในการพัฒนาแชทบอทอีกตัวหนึ่งเป็น Vonder สำหรับองค์กร ที่จะเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของคนในองค์กรไป โดยทีมงานจะทำงานกับแผนกทรัพยากรบุคคลของบริษัท นอกจากการทำคอนเทนต์ให้พนักงานเรียนแล้ว ยังสามารถออกแบบตามการใช้งานได้ เช่น ให้บอทเป็นที่ปรึกษาทางอาชีพ พนักงานสามารถทดสอบได้ว่า เหมาะกับบทบาทแบบไหนในองค์กร
“อย่างเช่นผมอยู่แผนกมาร์เก็ตติง ผมอยากรู้ว่าแผนกวิเคราะห์ข้อมูลทำงานยังไง ผมทำได้หรือเปล่า บอทตัวนี้ช่วยได้นะครับ จริงๆ แล้วฝ่ายบุคคลหาวิธีกันมาสักพักแล้วว่า จะทำยังไงที่จะเอาคนมาบรรจุในที่ที่เหมาะสม เพราะบางคนเข้ามาในแผนกที่ไม่ได้เหมาะกับตัวเองตั้งแต่แรก แต่ตอนนั้นมันได้ตรงนั้นพอดี อันนี้คือเรื่องของการให้คำปรึกษาด้านอาชีพที่เราทำแล้ว”
นอกจากนี้ ยังมีบอทในลักษณะอื่นๆ เช่น ในอุตสาหกรรมที่มีพนักงานจำนวนมาก เช่น ร้านอาหารที่มีพนักงานสาขา โดยปกติวิธีการแบบเก่าคือการส่งโค้ชวิชาชีพ (career coach) ไปเทรนด์ที่สำนักงานใหญ่ แล้วโค้ชก็ไปสอนผู้จัดการร้าน ผู้จัดการร้านก็สอนพนักงานในร้านต่อ จึงไม่มีสายตรงที่วัดผลได้เลยว่าพนักงานหน้าร้านนับหมื่นคนเข้าใจคอนเซปต์เรื่องที่สอนไปหรือเปล่า แต่แชทบอทสามารถเข้าถึงคนทุกคนได้ และหลังบ้านของแชทบอทก็มีผลวิเคราะห์ที่ดูได้ว่าการเรียนรู้ของแต่ละคนเป็นอย่างไร
“ตอนนี้กลายเป็นว่าเราได้โอกาสไปทำแชทบอทเพื่อการเรียนรู้ให้บริษัทใหญ่ๆ ซึ่งตรงนี้ทำรายได้เยอะมาก เพราะเวลาเขาลงทุนกับ e-learning เขาลงเยอะอยู่แล้ว เราก็เลยกลายเป็นคนที่ทำแชทบอทให้กับบริษัท ตัวนี้ค่อนข้างจะเปลี่ยนเยอะในเชิงของวิธีการที่องค์กรจะเทรนด์พนักงานในอนาคต ตรงนี้แหละครับที่ทำให้ Vonder ค่อนข้าง ที่จะโตได้ในตอนนี้ครับ
ความท้าทายของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการศึกษา หรือ EdTech (Education Technology) อย่าง Vonder นั้นมีอยู่หลายข้อด้วยกัน ข้อแรกนั้นเป็นเรื่องของโมเดลธุรกิจ เนื่องจากสตาร์ทอัพก็เป็นธุรกิจ มีทีมงาน และต้องสร้างรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากอันดับหนึ่งของการเป็น EdTech ในไทย
ชินมองว่า ระบบนิเวศ (ecosystem) ของสตาร์ทอัพในไทยเพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน ไม่ถึง 10 ปี โครงสร้างของประเทศไทยไม่ได้ออกแบบมาให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ นัก ยิ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการศึกษายิ่งยากเข้าไปใหญ่ การจะเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่จึงต้องเข้าใจตลาด และบริบทของธุรกิจนั้นๆ
“นักลงทุนเขาไม่ควรให้แค่เงินอย่างเดียว เขาควรจะมาช่วยพลิกหาโมเดลธุรกิจ เหมือนมาทำงานเป็นทีมเดียว อันนี้เรียกว่า ecosystem ในไทย ตอนนี้มันมีแค่ที่โครงการ Storm Breaker Venture อย่างในต่างประเทศเขามีกันมานานแล้ว”
นอกจากนี้ การทำงานด้านการศึกษาต้องคิดให้นอกกรอบ เพราะปัจจุบัน EdTech ในไทยยังมักออกมาในรูปแบบของ e-learning ที่เป็นวิดีโอออนไลน์ ซึ่งไม่ต่างจากติวเตอร์ที่อัดวิดีโอแล้วกระจายไปทั่วประเทศ จึงไม่ต่างกับการไปแข่งในตลาดที่โตมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว คนที่จะแก้ไขปัญหาต้องกล้าลองคิด และทำอะไรแปลกใหม่ พร้อมกันก็ต้องมีพื้นที่อย่างโครงการ หรือแหล่งทุนที่ให้โอกาสสตาร์ทอัพ เพื่อการศึกษาสามารถลองผิดได้
ความท้าทายอีกประการคือ การเข้าใจผู้เรียนจริงๆ เนื่องจากการเรียนก็เป็นเรื่องที่หนักอยู่แล้ว ดังนั้นต้องออกแบบเนื้อหา ออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ให้เป็นไปตามความต้องการแต่ละคน ทีมต้องไปดูนักเรียนจริงๆ ว่าเรียนรู้กันอย่างไร
“พฤติกรรมการเรียนรู้ของคนเปลี่ยนตลอด อย่าง Vonder พิสูจน์อย่างหนึ่งแล้ว ถ้าย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว เราไปบอกคนว่าจะเรียนรู้ผ่านแชท ใครจะไปเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ แต่มันกลายเป็นว่าตอนนี้มีคนประมาณ 5 หมื่นกว่าคนเขาเรียนรู้ด้วยวิธีแบบนี้ เพราะฉะนั้น ผ่านไปอีก 5 ปี Vonder อาจจะต้องไปทำโปรดักต์อย่างอื่น เพราะพฤติกรรมการเรียนมันอาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ มันอาจจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้ประสบการณ์การเรียนรู้มันดีกว่าเดิม”