นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ผ่านนายวรพงษ์ อินต๊ะโมงค์ รองผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยกรณีผู้มีอำนาจแจ้งความเท็จกับ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน จากการจัดสัมมนาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย
1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามสายงาน
2. พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 และ ผอ. กอ.รมน. ภาค 4 ฐานะเป็นผู้มอบอำนาจ
3. พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนัก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ
โดยให้ไต่สวนทั้งหมดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฐานแจ้งความเท็จ โดยมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นได้รับโทษ, หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กับมาตรา 137 และในส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ยังรวมถึงความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงและทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะทำการไต่สวนด้วย
นายนิคม ระบุว่า จำเป็นต้องปกป้องสิทธิและชื่อเสียง ที่ไม่กระทบเฉพาะตัวเองเท่านั้น แต่กระทบถึงความนิยมของพรรคการเมืองด้วย ดังนั้นการแจ้งความกับพรรคฝ่ายค้านดังกล่าวจึงเป็นเรื่องการเมือง และนายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ โดยหลังจากนี้จะไปแจ้งความต่อกองปราบปรามอีกครั้งหนึ่งด้วย และกำลังปรึกษาคณะทำงานกฎหมาย ว่าจะเอาผิดในทางแพ่ง ซึ่งคิดไว้ว่าเรียกร้องความเสียหายหลักร้อยล้านบาท เพื่อให้สมเกียรติกับการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์
ซึ่งนายนิคม ยืนยันด้วยว่า การจัดเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นสิทธิเสรีภาพและสามารถที่จะทำได้ เช่นเดียวกับการแสดงความเห็นของนักวิชาการและจากที่ฟังดูแล้ว นักวิชาการที่ถูกกล่าวหาด้วยนั้นไม่ได้พูดว่าจะต้องแก้มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ แต่แสดงความเห็นโดยรวมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ที่ภาคส่วนอื่นๆ จะมีความเห็นในการแก้ไขด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: