เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. ออกแถลงการณ์ ต่อกรณี กอ.รมน. แจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กับผู้เข้าร่วมเสวนาเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ
ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นแก่นักวิชาการ นักกิจกรรม และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการเสวนา "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2562 นั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มีความกังวลต่อการดำเนินการของ กอ.รมน. ในกรณีดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงขอแสดงความเห็นต่อสาธารณชนและเรียกร้องไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมถึงสังคมไทยดังนี้
1. เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มิได้เกิดเจตจำนงอันเสรีของประชาชน หากแต่เป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจของบุคคลบางกลุ่ม ฉะนั้น เมื่อประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติจึงย่อมมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อยู่ในครรลองประชาธิปไตยมากขึ้น ในการนี้จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกฝ่ายได้เสนอจินตนาการทางการเมืองของตน แม้อาจจะขัดกับระบบการเมืองที่ดำรงอยู่ เพราะมีแต่การให้เสรีภาพทางความคิดและเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงเท่านั้นที่จะสามารถสร้างฉันทามติในการอยู่ร่วมกันได้ และจะทำให้รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็น "สัญญาประชาคม" อย่างแท้จริง
2. การอภิปรายเพื่อให้ได้มาซึ่งฉันทามติย่อมครอบคลุมทุกส่วนของรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การอภิปรายอยู่ในครรลองของการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองแม้จะเป็นการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะไม่มีหลักการใดสูงส่งกว่าหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน นอกจากนี้ แม้จะเป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงก็สามารถหยิบยกมาอภิปรายได้ ตราบที่มิได้เป็นการกระทำอันผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 เช่นเดียวกับการอภิปรายในประเด็นอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ
3. เมื่อการอภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นเสรีภาพทางความคิดและได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ การนำบทบัญญัติของกฎหมายอาญามาจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจึงต้องกระทำอย่างระมัดระวังและไม่ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่มีขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของรัฐจากการกระทำที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลังหรือสร้างความปั่นป่วนหรือยุยงให้ประชาชนก่อความไม่สงบอันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ก็จะเห็นได้ว่าการเสนอให้มีการอภิปรายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยสันติวิธีเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและไม่เข้าลักษณะองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ฉะนั้น การที่ กอ.รมน. นำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาใช้ดำเนินคดีเอาผิดกับประชาชนจึงเป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัวหรือความยุ่งยากให้กับผู้ต้องหาและจำเลย และเป็นการข่มขู่ประชาชนทั่วไปให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น มีลักษณะเป็นการใช้การฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (SLAPP) เช่นเดียวกับที่ดำเนินการกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการอภิปรายเพื่อหาฉันทามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
4. คนส. เห็นว่าในกรณีนี้ กอ.รมน. ได้ขยายบทบาทของตนเข้าสู่พื้นที่ของพลเรือน โดยทำให้การอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นความมั่นคง เปิดโอกาสให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงในประเด็นที่ต้องการได้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของกองทัพที่มีเหนือการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ ด้วยความที่ กอ.รมน. เป็นองค์กรที่ได้รับประโยชน์จากระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาโดยตรง โดยเฉพาะจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 ซึ่งนอกจากจะทำให้ กอ.รมน. มีอำนาจอย่างกว้างขวางในกิจการด้านความมั่นคงและดำรงอยู่เหนือหน่วยงานฝ่ายพลเรือนแล้ว ยังขยายบทบาทเข้าไปในภารกิจทางพลเรือนอย่างกว้างขวางอีกด้วย จึงอาจตั้งคำถามได้ว่าการดำเนินการของ กอ.รมน. ในกรณีนี้เป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐบาลซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ กอ.รมน. หรือไม่
ทั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง พร้อมกับนักวิชาการและบุคคลตามรายชื่อแนบท้ายจำนวน 268 คน จึงมีข้อเสนอต่อสถาบันในกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยอันเนื่องมาจากกรณีข้างต้นดังนี้
1. องค์กรชั้นต้นในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ พึงแสดงความกล้าหาญและซื่อสัตย์ต่อหลักวิชาชีพด้วยการทำคดีนี้อย่างซื่อตรงและเป็นอิสระจากการชี้นำของผู้มีอำนาจ โดยยึดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 116 โดยสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ในชั้นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อไม่ให้การฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชนประสบผลสำเร็จ และเพื่อลดภาระของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะการฟ้องคดีเพื่อปิดปากเช่นนี้
2. สถาบันการศึกษาทางนิติศาสตร์พึงนำกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นการนำกฎหมายปกติที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสังคมมาบิดเบือนในการสร้างความมั่นคงในอำนาจของผู้ปกครองและกำจัดฝ่ายที่เห็นต่าง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 5 ปีภายใต้ระบอบการปกครองของ คสช. มาเป็นกรณีศึกษาในการเรียนการสอน เพื่อชี้ให้นักศึกษากฎหมายเห็นอันตรายจากการบิดเบือนกฎหมายเพื่อตอบสนองผู้มีอำนาจตามอำเภอใจ อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลักนิติธรรมไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ในสังคมไทย
3. สังคมไทยควรตระหนักถึงอันตรายจากการให้สถาบันทางทหารเข้ามาก้าวก่ายในกิจการพลเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมืองซึ่งควรเปิดกว้างทางความคิดเห็นและปลอดจากความเกรงกลัวในผลกระทบใดๆ และช่วยกันผลักดันให้ทหารออกไปจากพื้นที่ของพลเรือน กลับไปปฏิบัติภารกิจหลักของตนดังเช่นทหารอาชีพในนานาอารยประเทศที่ยึดมั่นในหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง