ไม่พบผลการค้นหา
โลกกำลังฉายสปอร์ตไลท์มาที่ไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก APEC 2022 Thailand (Asia-Pacific Economic Cooperation) ในวันที่  18-19 พ.ย. 2565

การประชุมนี้มีความสำคัญในฐานะความร่วมมือของ 21 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และสำคัญของโลก ครอบคลุมประชากรมากกว่า 3,000 ล้านคน และคิดเป็นราว 38% ของประชากรทั้งโลก โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนโดยเฉพาะการก้าวข้าม 'เส้นความยากจน' ของผู้คนในกลุ่ม APEC โดยปัจจุบันมีไม่ถึง 5% เมื่อเทียบกับ 40% ในปี 2533

ทักษิณ ประยุทธ์


APEC 2003 โดยรัฐบาล 'ทักษิณ ชินวัตร' : "โลกแห่งความแตกต่าง หุ้นส่วนเพื่ออนาคต"

ภาพลักษณ์ 'ผู้นำ'

การจัดงานประชุม APEC ในปี 2546 เป็นไปอย่างคึกคักและประชาชนมีส่วนร่วม โดยเป็นที่จับตาจากประชาคมโลกอย่างยิ่ง ภายใต้คณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โลกในขณะนั้นต่างให้ความสนใจมาที่สิ่งที่เรียกว่าโมเดล ‘ทักษิโณมิกส์’ นโยบายทางเศรษฐกิจที่ถูกเรียกเป็นครั้งแรกโดยอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย 

หนึ่งในผู้ที่สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวที่โดดเด่นที่สุดคือ แดเนียล เลียน นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกนสแตนลีย์ ขณะที่รัฐบาลของอดีตนายกฯ ไทยได้รับการชื่นชมจากสื่อการเงินระดับโลก หนึ่งในนั้นคือ ‘ไทมส์’ 

ผู้นำไทยในขณะนั้นยังได้ใช้เวที APEC เป็นเวทีที่ผลักดันด้านขยายการค้าการลงทุน  และการผลักดันบทบาทการค้าพหุพาคีอย่างเต็มที่ ถือเป็นช่วงที่ผู้นำถูกมองว่ามีวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศที่โลกให้การยอมรับ อีกทั้งยังมีภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ การก่อการร้าย และการสาธารณสุข

ภาพลักษณ์ของ 'ประเทศ'

ประเทศไทยในยุคปี 2546 คือชาติที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่าง ‘ต้มยำกุ้ง’ ที่เกิดขึ้นในปี 2540 นโยบายทางเศรษฐกิจ การจัดการโครงสร้างหนี้ และการต่างประเทศที่แข็งแกร่งพาไทยเตรียมก้าวสู่การเป็น “เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย” 

การบริหารจัดการหนี้คือสิ่งหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการจ่ายคืนหนี้ก้อนสุดท้ายให้กับ IMF ได้ในเดือน ก.ค.2546 และเป็นการจ่ายคืนหนี้ครบก่อนกำหนดถึง 2 ปีเต็ม 

การหมดภาระจาก IMF ทำให้รัฐบาลไทยสามารถแก้ไขกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับได้โดยไม่ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังมีการผลักดันการสร้าง Asia Bond เพื่อลดการพึ่งพา IMF อีกด้วย

ในงานประชุม APEC ไทยได้รับการตอบรับเข้าร่วมจากผู้นำโลกอย่างคับคั่ง หนึ่งในนั้นคือ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐฯ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และหูจิ่นเทา ผู้นำจีน ซึ่งนอกจากนั้นรัฐบาลไทยยังได้ใช้เวทีนี้ในการแนะนำ ‘หนึ่งตำบนหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP’ ให้โลกได้รู้จักเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของคนไทยในวงกว้าง

ประยุทธ์ เอเปค 2022  สีจิ้นผิง จีน 000000.jpg

APEC 2022 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' : "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล"


ภาพลักษณ์ของ 'ผู้นำ'

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2557 ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยมี ส.ว.250 เสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในรัฐบาลผสมที่มีจำนวนพรรคร่วมรัฐบาลเกือบ 20 พรรค โดยมีข้อกังขากรณีการตรวจสอบทรัพย์สิน

จากการบริหารประเทศหลังปี 2557 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องถึงการขาดศักยภาพและวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ครอบคลุมถึงการบริหารด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ และสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในนั้นคือการที่ Human Rights Watch ระบุเมื่อปี 2562 ว่า "ตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทางการไทยยังคงคุกคาม ข่มขู่ และดำเนินคดีผู้เห็นต่างและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา ... นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ควรสั่งการให้เจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยุติการดำเนินงานใด ๆ ที่มุ่งปิดปากและลงโทษนักวิจารณ์อย่างสงบโดยทันที” 

ภาพลักษณ์ของ 'ประเทศ'

ไทยกำลังพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่โควิด-19 ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะไทยพุ่งเฉียด 10 ล้านล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP แตะที่ตัวเลขราว 88.2%

ปัจจุบันไทยมีชนักติดหลังในเรื่องของประเด็นสิทธิมนุษยชนและความไม่โปร่งใส ภาพลักษณ์ของการทุจริตคอรัปชั่น ยาเสพติด ข้อกังขาเรื่องที่มาของอำนาจ และการวางตัวไม่พูดถึงประเด็กสำคัญอย่างกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตเมียนมา ตลอดจนข้อพิพาทจีน-สหรัฐฯ และวิกฤตเงินเฟ้อ-พลังงาน ในการประชุม APEC ขณะที่กัมพูชาและอินโดนีเซียยกเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ

รายงานเสรีภาพโลกที่จัดทำโดย Freedom House ประจำปี 2022 ชี้ ประชากรโลก 8 ใน 10 อยู่ในประเทศ 'ไร้เสรีภาพ' โดยไทยได้คะแนนเพียง 29 จาก 100 คะแนน ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศ 'ไม่มีเสรีภาพ'

หากมองในภาพกว้างย้อนไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่ประสบกับวิกฤต "การถดถอยของเสรีภาพ" หนักที่สุดคือประเทศมาลี ตามมาด้วยสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ตุรเคีย แทนซาเนีย นิการากัว เวเนซูเอลา โดย 'ไทย' อยู่ในอันดับที่ 7 ซึ่งแย่กว่าเยเมนที่อยู่ในอันดับที่ 21 และอัฟกานิสถานที่อันดับ 22 

นอกจากนั้นยังพบว่า 'ไทย' ติดอยู่ในรายชื่อ 10 ประเทศที่ "อยู่ในสปอร์ตไลท์ หรือเป็นประเทศที่ "ต้องจับตาเป็นพิเศษ" โดยมีการระบุเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นว่ามาจากการกระทำของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่ง Freedom House ชี้ว่าควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในปี 2565

อย่างไรก็ตาม Japan Credit Rating Agency จัดความน่าเชื่อถือไทยระดับ A มีการยกระดับตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มเป็นระดับ A จาก A- และตราสารหนี้สกุลเงินบาทเพิ่มเป็นระดับ A+ จาก A สะท้อนผลสำเร็จนโยบายการเงิน การคลังและมาตรการรัฐ ขณะที่องคการกนามัยโลก WHO ได้แสดงความชื่นชมระบบจัดการโควิดของไทยว่า สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขได้อย่างดีเยี่ยม