ไม่พบผลการค้นหา
2565 จะเป็นอีกปีแห่งความท้าทายของการขับเคลื่อนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของโลก อันเป็นผลต่อเนื่องมาจาก 'ความสั่นคลอน' ของสถานการณ์ประชาธิปไตยในปี 2564 ที่มีความน่ากังวล

ชาติมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ ผู้ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของกระบวนการประชาธิปไตยต้องเผชิญกับเหตุจลาจลครั้งสำคัญตั้งแต่ต้นปี เมื่อประชาชนฝ่านสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 ม.ค. เพื่อขัดขวางการรับรองชัยชนะของประธานาธิบดี โจ ไบเดน 

สภาคองเกรส-สหรัฐ-ทรัมป์

หลายคนถืออาวุธและมีการปะทะจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต โดยภายหลังได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 15 วันเพื่อควบคุมสถานการณ์จนกว่าพิธีสาบานตนจะแล้วเสร็จ ถือเป็นสถานการณ์การขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยของ 'ผู้นำโลกด้านประชาธิปไตย' ครั้งสำคัญ 


สองขั้ว สองมหาอำนาจ 'สหรัฐฯ-จีน'

Investment Monitor ชี้ว่าสองเหตุการณ์ใหญ่ในปี 2565 จะเป็นโอกาสการทดสอบความแข็งแกร่งสถานการณ์ประชาธิปไตยโลกครั้งสำคัญ โดยสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อการเลือกตั้งกลางเทอมจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.2565 ท่ามกลางความเปราะบางของการต่อสู้ระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในการผลักดันกฎหมาย งบประมาณ และนโยบายตลอดปีที่ผ่านมา สร้างความกังวลอย่างมากโดยเฉพาะกับระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และทั้งโลก ซึ่ง JustSecurity.org ชี้ว่าสหรัฐฯ ต้องยึดมั่นกับการปกป้องประชาธิปไตยของตนให้มากขึ้น

ขณะที่ในเดือนเดียวกัน โลกก็ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของ จีน มหาอำนาจขั้วตรงข้ามประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ ในงานสำคัญอย่าง 'การประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน' ที่มักจัดขึ้นกลางเดือน พ.ย.ของทุกปี 

จีน พรรคคอมิวนิสต์.jpg

ถือเป็นงานสำคัญที่มีบทบาทในการประกาศความสำเร็จของพรรค การวางนโยบายในอนาคตของจีน โดยในการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมายังมีการ 'ผ่านมติประวัติศาสตร์' ปูทางให้ 'สีจิ้นผิง' ดำรงตำแหน่งผู้นำต่อเป็นสมัยที่ 3 หลังมีการเปลี่ยนกฎที่เคยอนุญาตเพียง 2 สมัยเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งหน้าภายใต้อำนาจการนำที่ดูแข็งแกร่งขึ้นของสี จะส่งผลกระทบต่อโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ความร้อนระอุระหว่างโลกประชาธิปไตยฝั่งสหรัฐฯ และคอมมิวนิสต์ในฝั่งของจีน ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปีที่นี้ โดยมี 'ไต้หวัน' เป็นตัวละครสำคัญ และดูเหมือนว่าจะยังคงเป็นประเด็นเปราะบางที่ต้องคุยกันต่ออย่างรอบคอบในปี 2565 เมื่อจีนประกาศชัดว่าไต้หวันคือส่วนหนึ่งของตน 

ขณะที่สหรัฐฯ เองก็แสดงออกอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในการส่งเสริมการมีอธิปไตยของไต้หวัน พร้อมย้ำว่าจะปกป้องหากไต้หวันถูกจีนบุก แถมโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ยังส่งท้ายปีด้วยการเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย ขณะที่จีนและอีกหนึ่งมหาอำนาจอย่างรัสเซีย 'ไม่ถูกรับเชิญ'


โจทย์ใหญ่ เสถียรภาพ 'อาเซียน'

บรรยากาศประชาธิปไตยในอาเซียนเองก็มีทีท่าสั่นคลอนไม่น้อย เมื่อพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ของ เมียนมา นำการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในวันที่ 1 ก.พ. จนมีการลงถนนประท้วงของประชาชน และการปะทะกันยาวนานตลอดทั้งปี ซึ่งขณะนี้พบว่ามีประชาชนในเมียนมาถูกสังหารไปแล้วอย่างน้อย 1,318 ราย และถูกควบคุมตัวมากกว่า 10,200 คน จำนวนไม่น้อยถูกทำร้ายและถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม ท่ามกลางการประณามของประชาคมโลก

'อาเซียน' ซึ่งแสดงความกังวลและมีความพยายามที่จะเข้าแก้และคลี่คลายสถานการณ์ ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของปี 2565 ที่ต้องเร่งหาทางออก

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ก็ย้ำในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้ายของปี 2564 ถึงสถานการณ์ในเมียนมาว่า "ไทยยึดหลักแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาเซียนได้ตกลงไว้ในการจัดระเบียบ" ขณะที่สถานการณ์สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในไทยเอง ก็ยังคงล้มลุกคลุกคลาน 

AFP - ประชุมอาเซียน

รายงานฉบับล่าสุดจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ชี้ว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของ ไทย ถดถอยไปไกลมาก ทั้งที่ไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตั้งแต่ปี 2540 โดยปัจจุบันพบว่าไทยมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง ไปจนถึงเหตุการณ์ที่รัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อถึง 2 ครั้ง 

นอกจากนั้นก็มีประเด็นความถดถอยในประเด็นการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดจนเสียชีวิต การละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิมซึ่งไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉลบิดเบือนการใช้อำนาจและเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน เป็นต้น


สิทธิมนุษยชนแบบ 'ตาลีบัน'

ความสั่งคลอนด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยโลก ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นเมื่อกลุ่มตาลีบันสามารถเข้ายึดครองกรุงคาบูลของอัฟกานิสถานได้สำเร็จเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา 

แม้ตาลีบันจะประกาศต่อประชาคมโลกว่าจะปกครองบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน แต่ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนกลับถูกรายงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการละเมิดสิทธิสตรีที่ล่าสุดได้มีการสั่งห้ามผู้หญิงเดินทางคนเดียวในระยะไกล การประหารเจ้าหน้าที่ทหาร การประกาศยุบคณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระ กระทรวงสันติภาพ และสำนักงานรัฐสภาของอัฟกานิสถานด้วยเหตุผลที่ว่า "เรามีสันติภาพแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องหน่วยงานเหล่านี้อีกต่อไป" รวมถึงการนำโทษการตัดมือและเท้ากลับมาใช้ ซึ่งแนวโน้มทางบวกของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปี 2565 ของอัฟกานิสถานนั้นดูจะมีความเป็นไปได้น้อยลงทุกที

อัฟกานิสถาน ตาลีบัน

FreedomHouse ชี้ว่าโลกกำลังดำเนินไปภายใต้การปกครองของ 'เผด็จการ' ที่กำลังขยายตัว ขณะที่ชาติ 'ประชาธิปไตย' แถวหน้าก็เผชิญกับความไม่ต่อเนื่องและค่อยๆ อ่อนกำลังลง สองปัจจัยนี้เมื่อรวมกันแล้วส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตและความมั่นคงของมนุษยชาติโดยตรง เห็นได้จากการหันไปพึ่ง 'กำลังทหาร' เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาทางการเมือง 

แม้กระทั่งมหาอำนาจอย่างอินเดียที่ควรจะยืนหยัดในการเป็นชาติประชาธิปไตยแถวหน้าของโลกที่พร้อมจะสู้กับความเป็นเผด็จการ ก็ดูเหมือนว่ากำลังแปรเปลี่ยนไปเข้าทาง 'เผด็จการ' มากยิ่งขึ้นอย่างน่าเศร้า จนในที่สุดอินเดียก็ตกอันดับในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลกจากสถานะ 'มีเสรีภาพ' ไปเป็น 'มีเสรีภาพบางส่วน' แทน ในการจัดอันดับ Freedom in the World 2021

อินเดีย - ประท้วง - ชาวนา  - รอยเตอร์ส