ไม่พบผลการค้นหา
ไนกี้ยกเลิกการจำหน่ายรองเท้ากีฬารุ่นลิมิเต็ดในจีน หลังผู้ออกแบบโพสต์สนับสนุนการประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง

เว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่าบรรดาผู้ค้าปลีกจีน หยุดการจำหน่ายรองเท้ากีฬารุ่นเดย์เบรก (Daybreak) ที่เป็นโปรเจกต์ร่วมของแบรนด์ไนกี้ กับอันเดอร์คัฟเวอร์ (Undercover) ซึ่งออกแบบโดย ของญี่ปุ่น ซึ่งออกแบบโดยทาคาฮาชิ จุน หลังจากเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน อินสตาแกรมของแบรนด์ดังกล่าวมีการโพสต์ภาพผู้ประท้วงฮ่องกงพร้อมข้อความว่า "ไม่เอากฎหมายส่งตัวไปจีน"

โพสต์ดังกล่าวถูกผู้ใช้อินสตาแกรมชาวจีนวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างหนัก กระทั่งทางอันเดอร์คัฟเวอร์ลบโพสต์ดังกล่าวไป พร้อมระบุว่าโพสต์นั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของคนเพียงคนเดียวซึ่งโพสต์ผิด ไม่ใช่จุดยืนของแบรนด์

ทั้งนี้ ผู้ใช้อินสตาแกรมจีนใช้ซอฟต์แวร์วีพีเอ็น (VPN) ในการเข้าอินสตาแกรม เนื่องจากอินสตาแกรมถูกบล็อกโดยจีน

นอกจากนี้ ภายหลังแบรนด์อันเดอร์คัฟเวอร์โพสต์สนับสนุนการประท้วงฮ่องกง ทางด้านไนกี้เองได้ยกเลิกการจำหน่ายร้องเท้ารุ่นดังกล่าวในจีนโดยไม่ทราบสาเหตุ

undercover-daybreak-shoe-nike.jpg
  • รองเท้าที่ไนกี้ ที่ออกแบบโดยทาคาฮาชิ จุน จากแบรนด์อันเดอร์คัฟเวอร์

YYSports ตัวแทนค้าปลีกอุปกรณ์กีฬาในจีน ภายใต้บริษัท Pou Chen ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหุ้นฮ่องกง และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับไนกี้ ระบุว่าได้รับจดหมายด่วนจากไนกี้ แจ้งว่ายกเลิกการปล่อยรองเท้ารุ่นดังกล่าวในวันที่ 14 มิถุนายน

ทางด้าน Douniu ร้านค้าออนไลน์ก็ถอดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์อันเดอร์คัฟเวอร์ทั้งหมดออกจากร้านโดยไม่แจ้งสาเหตุ

แม้ว่าไนกี้จะมีจุดยืนทางการตลาดในการสนับสนุนประเด็นทางสังคม เช่น การใช้พรีเซนเตอร์เป็นของแคมเปญเมื่อปีก่อนเป็น โคลิน เคเปอร์นิก นักอเมริกันฟุตบอล ซึ่งต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนเชื้อสายแอฟริกันในสหรัฐฯ โดยการคุกเข่าลงข้างหนึ่งขณะมีการบรรเลงเพลงชาติก่อนเริ่มการแข่งขัน ทว่าการถอนการขายรองเท้ารุ่นดังกล่าว หลังแบรนด์ร่วมโปรเจกต์อย่างอันเดอร์คัฟเวอร์แสดงจุดยืนของตัวเอง ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงจุดยืนจริงๆ ของไนกี้ต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน

“โฆษณาเคเปอร์นิกไปไหนซะแล้วล่ะ นึกว่าไนกี้ตระหนักและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเสียอีก” ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ryutaishii กล่าว

“มันจบแล้ว ฉันเคยภูมิใจกับไนกี้นะตอนทำแคมเปญโคลิน เคเปอร์นิก แต่ในฐานะผู้อาศัยถาวรของฮ่องกงแล้ว ฉิบหายไปเหอะไนกี้” ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ Joannapanic กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2018 ไนกี้มียอดขายจากจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน มาเก๊า และฮ่องกง รวมกันแล้ว 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ค้าขายกับจีน ต้องตามกฎจีน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์ระดับโลกมีปัญหากับจีนในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองเรื่องเขตแดนและอธิปไตยของจีน ในปี 2018 สายการบินทั่วโลก 44 แห่ง ต้องยอมปรับตัวเลือกระบุว่าไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน อยู่ในประเทศจีน สื่อเป็นนัยว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แม้ไต้หวันจะมองว่าตัวเองเป็นประเทศซึ่งมีอธิปไตยแยกขาดจากจีนก็ตาม

ในปีเดียวกันแบรนด์เสื้อผ้า GAP ก็ต้องออกมาขอโทษและงดจำหน่ายสินค้ารุ่นที่มีปัญหากับจีน เนื่องจากพิมพ์เสื้อลายแผนที่ประเทศจีน แต่ไม่ปรากฏเกาะไต้หวันและเกาะในทะเลจีนใต้บนเสื้อ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาหาเงินกับจีน แต่แบ่งแยกดินแดนจีน

แบรนด์มูจิของญี่ปุ่นเอง ก็ถูกจีนสั่งปรับเป็นเงิน 200,000 หยวน โทษฐานจัดส่งพัสดุโดยระบุว่าไต้หวันเป็นประเทศ

เมื่อต้นปีนี้ สถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) องค์กรวิจัยของทางการจีน ได้ชี้ว่าบริษัทต่างชาติ 66 จาก 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 'ระบุข้อมูลผิด' ว่าไต้หวันหรือฮ่องกงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน โดยใน 66 บริษัทนั้นรวมถึง แอปเปิล แอมะซอน และไนกี้ด้วย

ที่มา: Financial Times / CNBC / Business Insider

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :