ไม่พบผลการค้นหา
แม้จะมีกระแสบอยคอตเผาสินค้า Nike ในสหรัฐฯ แต่ยอดขายของพวกเขากลับพุ่งสูงขึ้น เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ‘Revolution’ เพลงอมตะของ The Beatles เคยกระตุ้นยอดขาย ทำให้พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านรองเท้ากีฬา

ข่าวที่มาแรงในขณะนี้คือกระแสการเผาทำลายรองเท้าและสินค้าของแบรนด์กีฬาชื่อดังอย่าง Nike เพื่อบอยคอตที่ Nike สร้างความไม่พอใจให้กับหลายคนในสหรัฐฯ จากการนำ โคลิน เคปเปอร์นิค อดีตควอเตอร์แบ็กของทีม Sanfrancisco 49ers ทีมอเมริกันฟุตบอลในลีก NFL มาขึ้นแท่นเป็นพรีเซนเตอร์ในแคมเปญฉลองครบรอบ 30 ปีของสโลแกนสุดติดตา ‘Just Do It’ ด้วยคำบรรยาย “Believe in something. Even if it means sacrificing everything” หรือ “เชื่อมั่นในบางสิ่ง แม้จะมันหมายถึงการที่ต้องสูญเสียทุกๆ สิ่งไป”

ทั้งนี้ เคปเปอร์นิค เป็นผู้เล่นตกงาน ไม่มีใครกล้ารับเขาเข้าทีม หลังจากที่เขาตัดสินใจคุกเข่าระหว่างการบรรเลงเพลงชาติสหรัฐฯ ก่อนการแข่งขัน เพื่อประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติของตำรวจที่เขาเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสีในสหรัฐฯ

นักกีฬาคนอื่นๆ ทั้งผิวขาวและผิวสีต่างพากันทำการประท้วงตาม จนเป็นเรื่องบานปลายไปเป็นประเด็นระดับชาติ ซึ่งที่ผ่านมาก็ประเด็นการเลือกปฏิบัติทางผิวสีถูกหยิบมาพูดคุยอย่างหนาหูมาก่อนแล้ว แม้แต่ประธานาธิบดีดนัลด์ ทรัมป์ ยังออกโรงต่อว่าการคุกเข่าประท้วงนั้น และเรียกร้องให้เจ้าของทีมไล่นักกีฬาที่คุกเข่าประท้วงออกให้หมด

การแม้ว่ากระแสการบอยคอตจะรุนแรง แต่เมื่อแคมเปญนี้ปล่อยออกมา ยอดขายของ Nike พุ่งสูงขึ้นถึง 31 เปอร์เซ็นต์ หลายคนต่างมีความเห็นไปต่างๆ นานา ทั้งชื่นชมในการจุดยืนของ Nike ไปจนถึงการมองว่าเป็นแผนการตลาดที่แสนจะแยบยลของบริษัทผลิตภัณฑ์กีฬายักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก Nike ใช้กระแสการเมืองมาโปรโมตสินค้าของพวกเขา

บทเพลง ‘Revolution’ ของวงระดับตำนานเดอะบีเทิลส์ ที่แต่งเนื้อร้องหลักโดย 'จอห์น เลนนอน' ถูกปล่อยออกมาในปี 1968 นอกความหมายชื่อเพลง ‘การปฎิวัติ’ ที่ดูจะเป็นเรื่องการเมืองแล้ว ทั้งยังมีเนื้อเพลงและบริบทรอบข้างที่เข้าไปเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองโลกอีกด้วย

ปี 1968 ถูกเรียกว่า ‘The riot year’ หรือปีแห่งความอลหม่าน เป็นห้วงเวลาหลังสงครามโลกที่ 2 ที่แม้ไฟสงครามจะดับลง แต่โลกก็ยังไม่ได้เข้าใกล้คำว่าสันติภาพ สงครามเย็นเข้ามาแทนที่ เศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัว ตามมาเหลื่อมล้ำ ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่เข้ามา จนกระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงระเบิดออกมาในปี 1968 ที่มีคนวัยหนุ่มสาวเป็นแกนกลาง ทั้งการประท้วงยึดเมืองปารีสของนักศึกษารวมกับกลุ่มแรงงานในฝรั่งเศส การประท้วงเรียกร้องสันติภาพในลอนดอน การเรียกร้องสิทธิ์ให้กับคนผิวสีในสหรัฐฯ ที่รวมเข้ากับขบวนการประท้วงการสงครามในเวียดนาม การลุกขึ้นต่อสู้แพร่กระจายไปทั่วยุโรปและอเมริกา ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับขบวนการนักศึกษาในยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา

จอห์น เลนนอน ได้ใช้สภาวะทางสังคมดังกล่าวบอกเล่าในมุมมองของเขา เขียนลงไปในเพลง Revolution ที่เนื้อหาแสดงความไม่พอใจกับปัญหาในโลกปัจจุบันและต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความรุนแรง “You say you want a revolution … But when you talk about destruction, don't you know that you can count me out" แปลเป็นไทยว่า “คุณบอกว่าคุณต้องการปฏิวัติ แต่เมื่อคุณพูดถึงการทำลายล้าง , คุณตัดผมออกได้เลย" แต่มีการกระซิบใส่ไมค์ว่า "นับผมเข้าไปด้วย" เนื้อเพลงบอกความไม่แน่ใจในความคิดของ Lennon ว่าการปฏิวัตินั้นจำเป็นต้องทำลายล้างถอนรากถอนโคลนตามแนวทางของฝ่ายซ้ายหรือไม่

ทำให้หลังบทเพลงถูกปล่อยออกมา มีเสียงวิจารณ์มากมายจากสื่อฝ่ายซ้าย ว่าความคิดของเลนนอนนั้นเป็นการไม่กล้าเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง The New Left Review เรียกมันว่า “การร้องไห้ด้วยความกลัวของชนชั้นกลาง” แต่ถึงอย่างไรบทเพลงนี้ก็ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในเพลงเอกของเลนนอนและเหล่าสี่เต่าทอง

หลังจากเลนนอนเสียชีวิต เพลง Revolution กลับมาอยู่ในสื่ออีกครั้ง โดยถูกเลือกเป็นเพลงประกอบโฆษณาทางโทรทัศน์ของ Nike ในปี 1987 ภายใต้แคมเปญเดียวกันกับชื่อเพลง ‘Revolution’ ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์มาจาก Capitol-EMI บริษัทของ ไมเคิล แจ็กสัน ที่ถือลิขสิทธิ์เพลงของ The Beatles ในสหรัฐฯ โดยมีโยโกะ โอโนะ คู่ชีวิตของเลนนอนเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย

จนมีเรื่องที่สามสมาชิกวงที่เหลืออยู่จึงยื่นบริษัทของแจ็กสันต่อศาล เนื่องจากไม่พ่อใจถูกใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจเหมาเข่งขายลิขสิทธิ์เพลงให้ Nike เอาไปโฆษณาสินค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะเป็นประตูไปสู่การนำไปใช้ในโฆษณาสิ่งอื่นๆ ด้วย ทางโอโนะ ได้ให้เหตุผลที่ยินยอมขายลิขสิทธิ์เพลงให้กับทาง Nike ว่าต้องการให้เพลงของเลนนอนเข้าถึงคนในรุ่นใหม่ๆ ด้วย ผลสุดท้ายการฟ้องร้องจบลงด้วยการเจรจาพูดคุยกันนอกศาล

การนำเพลงระดับตำนานของวงไปประกอบภาพยนตร์โฆษณาให้กับบริษัทสินค้ากีฬานั้นสร้างความไม่พอใจกับแฟนเพลงสีเต่าทองอย่างมาก ที่เห็นว่าบทเพลงที่เต็มไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งถูกทำลายลงจากการถูกขายเป็นสินค้าเพื่อใช้เครื่องสำหรับการโฆษณา The Chicago Tribune “บอกว่าเป็นการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ของเพลงร็อกกับความโลภอันเย็นชา” 

หลังจากแคมเปญนี้ถูกปล่อยออกไปสู่สาธารณะ ก็ทำให้ Nike ก้าวมาเป็นผู้นำในตลาดรองเท้ากีฬาในเวลาอันสั้น และสืบทอดความสำเร็จมาเป็นแบรนด์สินค้ากีฬาเบอร์หนึ่ง ทั้งนี้แคมเปญ ‘Revolution’ ยังถูกยกให้เป็นหนึ่งใน แคมเปญทางการตลาดโลกครั้งสำคัญในทศวรรษที่ 20 อีกด้วย

Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog