ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันบรุกกิงส์ หน่วยงานคลังสมองในสหรัฐฯ ชี้ว่า ผลการเลือกตั้งของไทยสะท้อนให้เห็นคู่ขัดแย้งแบบใหม่ ซึ่งเคลื่อนจากการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเอา-ไม่เอาทักษิณไปสู่ขั้วของฝ่ายที่เอาทหารกับไม่เอาทหาร

สกอต คริสเตนเซน นักวิเคราะห์ของสถาบันบรุกกิงส์ ในกรุงวอชิงตันดี.ซี. นำเสนอบทวิเคราะห์ผ่านเว็บไซต์ของทางสถาบันเมื่อวันพฤหัสบดี (4 เม.ย.) โดยชี้ว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถมองความแตกแยกทางการเมืองในประเทศไทยผ่านการต่อสู้ทางชนชั้น หรือการต่อสู้ระหว่างภูมิภาคได้อีก

คริสเตนเซน บอกว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ความขัดแย้งในไทยเป็นการต่อสู้ระหว่างคนจนกับคนรวย คนชนบทกับคนเมือง คนกรุงเทพและคนใต้กับคนอีสานและคนเหนือ ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่อีกฝ่ายต่อต้าน แต่ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมสะท้อนให้เห็นความแตกแยกแบบใหม่ระหว่างฝ่ายสนับสนุนบทบาททางการเมืองของทหารกับฝ่ายต่อต้านทหาร

นักวิเคราะห์ผู้นี้วิเคราะห์ผลคะแนนเลือกตั้งของแต่ละฝ่าย โดยชี้ว่า พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนทหาร ที่นำโดยพลังประชารัฐ ได้คะแนนมหาชนสูงที่สุด คือ 8.4 ล้านเสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเชื่อมโยงกับนายทักษิณ ได้ 7.9 ล้านเสียง อย่างไรก็ดี พรรคอนาคตใหม่ซึ่งประกาศนโยบายต่อต้านทหาร ได้คะแนนเสียงตามมาเป็นพรรคอันดับสาม ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาเป็นอันดับสี่

เมื่อดูคะแนนเลือกตั้งของแต่ละฝ่ายแยกตามรายภาค ก็จะมองเห็นภูมิทัศน์ใหม่ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือ ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับเสียงสนับสนุนในทุกภูมิภาค รวมทั้งในกรุงเทพฯ แม้เพื่อไทยยังคงกวาดที่นั่งส.ส.ในภาคอีสาน แต่คะแนนในระดับชาติก็ลดลงเกือบครึ่งจากการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2554 ในขณะที่เพื่อไทยกับพลังประชารัฐแบ่งกันครองที่นั่งส.ส.ในภาคเหนือแทบจะคนละครึ่ง (พท.ชนะ 29 เขต และพปชร.ชนะ 25 เขต)

สำหรับในพื้นที่เมืองหลวง กรุงเทพฯ นั้น อนาคตใหม่ได้คะแนนสูงสุด (ราว 8 แสนคะแนน) ซึ่งถ้ารวมคะแนนกับเพื่อไทย (ราว 6 แสนคะแนน) ก็จะมีคะแนนรวมกันมากกว่าพลังประชารัฐ (ราว 7.9 แสนคะแนน) เสียอีก

คริสเตนเซน สรุปว่า การที่ทหารแสดงท่าทีเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่ความขัดแย้งและความไร้เสถียรภาพ ถ้าทหารไม่ยอมก้าวลงจากอำนาจ เราอาจได้เห็นการประท้วงบนท้องถนนรอบใหม่.

ที่มา : Brookings Institution

ภาพ : AFP