ไม่พบผลการค้นหา
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี - ประจักษ์ ก้องกีรติ - สติธร ธนานิธิโชติ คือ 3 นักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่ล้วนมีงานวิจัยระดับพื้นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ทั้งสิ้น พวกเขามองช่วงเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย และอนาคตของการเมืองไทยในภาพรวมอย่างไร

18 ก.ย.2566 เสวนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ รศ.ฐปนรรต พรหมอินทร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยการเสวนามีผู้อภิปราย 3 คน คือ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สติธร ธนานิธิโชติ สถาบันพระปกเกล้า  


ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

สติธร ธนานิธิโชติ 

ระบบเลือกตั้งแบบใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเคยใช้เมื่อปี 2544 เวลาผ่านไป 22 ปีก็กลับมาใช้อีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2566 คาดเดากันว่า ผลการเลือกตั้งน่าจะคล้ายปี 2544 ตั้งแต่ช่วงแรก แต่เมื่อกระแสมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนออกผลการเลือกตั้งมาแบบ "ผิดความคาดหมาย" ดังนั้น สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งจึงคิดว่า น่าจะเหมือนปี 2548 กระแสแลนด์สไลด์ของเพื่อไทยไม่น่าจะได้อย่างที่หวัง ขณะที่ก้าวไกลมาแรงเรื่อยๆ มันจึงจะได้แบบปี 2548 ในแง่สองพรรคนี้บวกกัน  

พอทำโพลล์ของสถาบันพระปกเกล้าก็เริ่มเห็นตัวเลขว่า ก้าวไกลชนะเพื่อไทยทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ และผลเลือกตั้งออกมา ก้าวไกลเป็นที่ 1 จริงๆ 

ช่วงสุญญากาศของการตั้งรัฐบาล คนตั้งคำถามกับเพื่อไทยว่า ตัดสินใจตั้งรัฐบาลแล้ว เลือกตั้งคราวหน้าเพื่อไทยตายแน่ ก้าวไกลรอบหน้าแลนด์สไลด์แน่ 

แต่จากข้อมูลโพลล์ก่อนเลือกตั้งพบว่า คนที่เปลี่ยนใจจากเพื่อไทยมาเลือกก้าวไกลมีไม่ถึง 20% แปลว่า คะแนนของก้าวไกลรอบนี้มาจากเพื่อไทยไม่เยอะ เพื่อไทยได้ 9 ล้านกว่า เท่ากับเสียเสียงไปให้ก้าวไกลราว 1 ล้านกว่าไม่เกินสองล้าน นี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าพรรคเพื่อไทยคิดว่า "เอาอยู่" ในรอบนี้และรอบหน้าด้วย 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

จากการทำงานวิจัยก่อนและหลังเลือกตั้งพบว่า จุดเปลี่ยนที่ก้าวไกลเริ่มแซงเพื่อไทยเห็นประมาณ 2 สัปดาห์สุดท้าย คะแนนของพิธาแซงอุ๊งอิ๊งและเศรษฐา

เมื่อเก็บข้อมูลหลังเลือก สิ่งหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมก้าวไกลถึงชนะขนาดนี้ การเก็บข้อมูลจะมีคำถามว่า “เลือกเพราะอะไร” ทั้งแบบ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ พบว่า เหตุผลหลักอันดับหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามคือ ต้องการเปลี่ยนแปลง 

เรื่องนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ social mobility หรือการเคลื่อนย้ายแรงงานในสังคมที่มีสูงมาก เช่นเชียงใหม่มีแรงงานเข้าออกเยอะ เดิมเขามองว่าเลือกตั้งต้องกลับไปเลือกที่บ้าน ซึ่งต้องถามพ่อแม่ญาติพี่น้องว่าเลือกใครดี แต่สิ่งที่เปลี่ยนรอบนี้คือ เขาไม่ถามญาติพี่น้องแล้ว แต่เอามุมมองระดับประเทศกลับไปเลือก ความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบทมันเบลอไปมาก

กระนั้น ก็ยังพูดได้ไม่ชัดเจน เพราะบ้านใหญ่ในหลายจังหวัดยังแข็งแกร่ง ถ้ามองรายละเอียดจะเห็นว่า คะแนนของภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ที่ยังใช้กลไกพรรคอย่างหัวคะแนนยังแข็งแกร่งอยู่ ภูมิใจไทยได้ 1.5 ล้านคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ แต่ ส.ส.เขตรวมแล้ว 5 ล้านกว่าคะแนน พปชร.บัญชีรายชื่อได้ไม่ถึงล้าน แต่ระบบเขตรวมแล้ว 3 ล้านกว่า ดังนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคและประชาชนมันดำเนินคู่กัน ในระดับประเทศแปรเปลี่ยนไปเยอะ แต่ระดับชนบทบางแห่งสายสัมพันธ์ในการดูแลอุปถัมภ์ดำรงอยู่ 

การตัดสินใจเลือก สส.เขต :

  • อันดับหนึ่ง ต้องการเปลี่ยนแปลง
  • อันดับสอง ดูแลพื้นที่ (ภูมิใจไทย 80% ของคนเลือกเป็นเพราะเหตุผลนี้)
  • อันดับสาม พรรคที่สังกัด 

การตัดสินใจเลือก สส.บัญชีรายชื่อ :

  • อันดับหนึ่ง ต้องการเปลี่ยนแปลง
  • อันดับสอง แคนดิเดตนายกฯ
  • อันดับสาม นโยบาย 

คำถามเรื่องนโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญ :   

  • อันดับหนึ่ง ค่าแรงขั้นต่ำ
  • อันดับสอง ปรับโครงสร้างสังคม
  • อันดับสาม ชุดนโยบาย

เดิมเราคิดว่าปัญหาปากท้องน่าจะมาก่อน แต่ตอนนี้สังคมส่วนใหญ่กว่าเห็นว่า การแก้ปัญหาปากท้องไม่สามารถทำโดยนโยบายด้านเศรษฐกิจล้วนๆ แต่ต้องปรับโครงสร้างด้วย เป็นพลวัตรและความคาดหวังของสังคม 

การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุด คนต้องการออกจากรัฐบาลประยุทธ์ แต่คนจะเปลี่ยนใจแค่ไหน ถ้าครั้งหน้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่แล้วแน่นอน ความต้องการการเปลี่ยนแปลงจะไม่สร้างแรงกระเพื่อมต่อผลเลือกตั้งมากเท่าครั้งนี้ ดังนั้น สิ่งที่อ.สติธรพูดจึงเห็นด้วยมาก แฟนเพื่อไทยย้ายมาก้าวไกลมีจำนวนหนึ่ง ครั้งหน้าถามว่ามีไหม การลงโทษเพื่อไทยมีแน่นอน แต่อาจไม่ได้มากขนาดแลนด์สไลด์ 

หลายนโยบายของก้าวไกล เราอาจคิดว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสม เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เรื่องนี้อยู่ในอันดับ 4 ที่ประชาชนให้ความสำคัญ แต่เมื่อดูว่าประชากรกลุ่มไหนที่ต้องการนโยบายเลิกเกณฑ์ทหารปรากฏว่าเป็นคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งคนเหล่านี้ลูกหลานเรียน รด.ไม่ได้เกณฑ์ทหาร ขณะที่คนรายได้น้อยในชนบทไม่ได้อยากให้เลิกเกณฑ์ทหารเท่าไรนัก บางอย่างมันจึงเป็นอคติของชนชั้นกลาง ต้องพึงระวังว่าอะไรกันแน่เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ 

ประเด็นสุดท้าย การรับสื่อเป็นตัวแปรสำคัญมากต่อชัยชนะของก้าวไกลครั้งนี้ จากแบบสอบถามพบว่า คนเลือกก้าวไกลรับสื่อจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เฟซบุ๊กเป็นอันดับ 1 ในขณะที่ภูมิใจไทย พปชร. รทสช. ปชป. ผู้เลือกตั้งรับสื่อดั้งเดิมคือ ทีวีเป็นหลัก สำหรับเพื่อไทยนั้นก้ำกึ่ง ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียมากเท่าก้าวไกล ของก้าวไกลมากถึง 74% ขณะที่ พท.อยู่ที่ 50% 

สื่อโซเชียลมีเดียทำงานแบบไหน มันทำงานแบบ 3 S คือ Speed เร็ว, Story มีเรื่องราว, Sensational เน้นอารมณ์ ทำให้การขับเคลื่อนการเมืองมันเร็วมาก โอกาสที่คนจะได้ไตร่ตรองอาจไม่เกิดขึ้น ความเร็วของการตัดสินใจทำให้ linkage ที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างพรรคและประชาชนอ่อนไหว กระจัดกระจาย และเปลี่ยนแปลงได้ โดยส่วนตัวมองเรื่องนี้อย่างกังวลใจกับความรุนแรงทางอารมณ์ การใช้โซเชียลมีเดียในการเลือกตั้งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ 

การเลือกตั้งครั้งหน้า ก้าวไกลอาจต้องคิดเหมือนกันว่า การบอกว่ามีลุงไม่มีเรา ครั้งหน้าไม่มีลุงแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเป็นแบบไหน หัวหน้าพรรคเปลี่ยนจาก ‘พิธา’ ซึ่งสามารถดึงดูดฐานเสียงได้จำนวนมากก็จะเปลี่ยนไป, การใช้สื่อโซเชียลที่พรรคต่างๆ ก็จะเริ่มแข่งขันเรื่องนี้ รวมถึงเส้นสายอุปถัมภ์ของพรรคต่างๆ ที่ยังมีความหมายอยู่ และหากดูในเขตเลือกตั้งจำนวนวนหนึ่ง ก้าวไกลชนะเขตอันดับ 1 ไม่ได้มากขนาดนั้น ดังนั้น โอกาสที่จะมีการควบพรรค ไม่ตัดคะแนนกันเอง เพื่อมาสู้กับก้าวไกลในครั้งหน้าก็มีอยู่ 

ประจักษ์ ก้องกีรติ

การเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนแหล่งทดลองให้นักรัฐศาสตร์มีประเด็นทำวิจัยได้อีกหลายหัวข้อที่น่าสนใจ 

การเลือกตั้งครั้งนี้ หลายคนบอกการเลือกตั้ง ‘เซอร์ไพรส’ แต่ถ้าดูผลโพลล์โค้งสุดท้ายจะพบว่าค่อนข้างแม่น เพียงแต่เปิดเผยไม่ได้ ในแง่นี้หลักวิชาการยังใช้ได้ในการเก็บสถิติเชิงปริมาณ 

ถ้าย้อนกลับไปดู ระบบเลือกตั้งถูกเปลี่ยนกลับไปใช้บัตรสองใบ แต่เมื่อดูผลการเลือกตั้ง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ถึงกับได้ประโยชน์มากจากระบบเลือกตั้งนี้ และเมื่อดูผลเลือกตั้งทั้งหมดสะท้อนว่าภูมิทัศน์ของพรรคการเมืองเปลี่ยน ก้าวข้ามพ้น ‘ระบบสองพรรคเด่น’ แบบเดิมไปแล้ว เป็นระบบหลายพรรคที่กระจัดกระจายมากขึ้น ทั้งๆ ที่เราใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิมที่เคยผลิตให้เกิด 2 พรรคเด่น และมีพรรคเดียวชนะเลือกตั้งมาโดยตลอดด้วยซ้ำ 

ข้อสรุปที่มีมานานแล้วแต่คนหลงลืมไป คือ ระบบเลือกตั้งแบบเดียวกันเมื่อใช้ต่างบริบทต่างสภาพแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องส่งผลเหมือนเดิมเสมอไป ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนเอาไปใช้ในบางประเทศ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดระบบหลายพรรค ยังเป็นพรรคเด่นพรรคเดียวได้ 

อันนี้เป็นบทเรียนที่น่าศึกษาวิจัยต่อไป และเป็นบทเรียนสำหรับการออกแบบรัฐธรรมนูญด้วย เพราะตอนนี้ซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนของสังคม ความคิดของผู้คน ครั้งนี้เป็น ‘vote for change’ สิ่งที่นักรัฐศาสตร์ยังทำน้อยไปก็คือ มนุษยวิทยาทางการเมือง และสังคมวิทยาทางการเมืองที่ต้องลงภาคสนามมากกว่านี้และลงอย่างต่อเนื่อง จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพราะนักรัฐศาสตร์มักลงแบบ ‘เฮลิคอปเตอร์’ ใกล้เลือกตั้งค่อยลงพื้นที่ 

พื้นที่หนึ่งที่เราสามารถทำวิจัยได้มากขึ้นอีก คือ แพลตฟอร์มต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ว่ามีผลต่อการเลือกตั้งอย่างไร อีกพื้นที่ที่เปลี่ยนไปคือ ความเป็นเมืองกับชนบท การเมืองเชิงภูมิภาค โดยเฉพาะสนามการเลือกตั้งพรรคใต้ตอนบน 

ประเด็นสุดท้ายคือ เราศึกษาวิจัยและวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งโดยไม่ได้เอากรอบประเด็นใหญ่หรือ regime (ระบอบ) เข้ามาวิเคราะห์ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งที่สองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นมรดกของการรัฐประหาร 2557 ยังไม่ใช่การเลือกตั้งในระบอบการเมืองปกติ ในต่างประเทศเขามีการศึกษาในเรื่อง Election under hybridge regime ต้องดูลักษณะของระบอบก่อนว่าเป็นระบอบแบบไหน เพราะบางทีเราวิเคราะห์กันในกรอบระบอบประชาธิปไตยปกติ ถ้ากรอบประชาธิปไตยปกติมีหลายพรรคการเมืองก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ตั้งแต่การแข่งขันในการเลือกตั้งทั้งปี 2562 และ 2566 เรายังไม่ได้แข่งภายใต้ประชาธิปไตยปกติ ทั้งกติกา กรรมการ พรรคที่ยึดโยงกับอดีตผู้นำรัฐประหาร พอตัดเรื่องระบอบทิ้งไป แล้วเหมือนเป็นการเลือกตั้งธรรมดาก็อาจจะพลาดไปได้ 


ช่วงจัดตั้งรัฐบาล

สติธร 

วันที่จัดตั้งรัฐบาลได้และเห็นภาพการโหวต ทำให้คนเห็นว่า อ๋อ ที่แท้เขาคือพวกเดียวกันมาตั้งแต่ต้น คนทำรัฐประหารกับพรรคการเมืองที่ถูกรัฐประหารเป็นพวกเดียวกันมาตั้งแต่ต้น จนถึงวันจัดตั้งรัฐบาลเขาเลยร่วมเป็นคณะรัฐบาลใหม่ด้วยกันอย่างราบรื่น มากกว่าอีกลุงหนึ่ง (ประวิตร) ด้วยซ้ำ 

ย้อนกลับมารัฐบาล 8 พรรคจับมือทำ MOU คนรู้สึกว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะแล้ว พอเกิดปรากฏการณ์เพื่อไทยไม่ตั้งด้วยก็เกิดกระแสต่อต้าน ตระบัดสัตย์ อะไรต่อมิอะไร ผมอยากจะบอกว่าเขาไม่ได้รักกันมาตั้งแต่ต้น อาการพวกนี้เห็นเค้าลางมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว กองเชียร์ในโซเชียลเองก็ปะทะกันมานานแล้ว และโดยจริตของนักการเมืองในสภา เขาก็ไม่ได้รักกัน นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจริตถูกกับอีกฝั่งมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่ได้เข้าข้างกันเองมากเกินไป เราจะพบว่า ส้มกับแดงเขาแยกกันนานแล้วทั้งข้างบน ทั้งข้างล่าง เหลือแต่โหวตเตอร์แบบบริสุทธิ์ใจเลือกเขตใบหนึ่ง บัญชีรายชื่อใบหนึ่ง หรือคนที่คิดว่าเลือกยังไงก็ได้แล้วเดี๋ยวก็ไปรวมกัน 

100 วันเป็นการจัดกตั้งรัฐบาลอันยาวนาน ตอนแรกๆ ทำท่าจะยืดเยื้อ ดูไม่แน่ไม่นอน ตำแหน่งนายกฯ อาจไปถึงพล.อ.ประวิตร แต่บทจะจบก็จบเร็วเสียอย่างนั้น 

ถามว่าเราจะเข้าใจปรากฏการณ์แบบนี้ยังไง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่อง regime (ระบอบ) รูปธรรมก็คือกติการัฐธรรมนูญ ทำไมต้องสุญญากาศนานขนาดนี้ นั่นก็เพราะผลลัพธ์การเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างนี้ และโดยกติกาและเครื่องมือที่เขามีก็สามารถออกแบบให้เกิดสุญญากาศยาวนานได้ 

ก่อนวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. มีการพูดกันแล้วว่า ‘เขาตกลงกันได้แล้ว’ จะมีคนกลับมา นักการเมืองที่รู้สัญญาณนี้มาก่อนเขากระจายตัวอยู่หลายพรรค เพราะรู้แล้วว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างนี้ 

ดังนั้น จึงเป็นช่วงสุญญากาศที่ถูกออกแบบไว้แล้วและพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ สิ่งเดียวที่ผิดคาดคือ ก้าวไกลเป็นที่ 1 เพื่อไทยเป็นที่ 2 และบรรดาพรรคขั้วรัฐบาลเดิมต่างๆ ที่ประเมินว่าน่าจะได้สัก 200 แต่ได้แค่ 188 ที่นั่ง ทำให้ต้องมีการขยับขับเคลื่อนให้ผลลัพธ์เหมือนที่คุยกันไว้ 

สิริพรรณ 

อ.ประจักษ์ พูดว่าควรเอาเรื่องระบอบการปกครองเข้ามาวิเคราะห์ด้วย คำถามคือ ระบอบที่ว่า ในช่วงการเลือกตั้งเขาทำอะไรบ้าง สมมติเราเรียกระบอบนี้ว่าเป็น Hybridge regime หรือ ‘ระบอบอำนาจนิยมที่อนุญาตให้มีการแข่งขัน’ เขาได้ใช้อำนาจและกลไกรัฐเพื่อบิดเบือนกระบวนการและผลเลือกตั้งหรือเปล่า? 

ระบอบอำนาจนิยมไม่ได้ใช้กลไกรัฐแบบเข้มข้นรุนแรงแบบปี 2562 อาจมีบ้างเช่น

1.การเปลี่ยนเขตเลือกตั้ง โดย กกต.ออกระเบียบใหม่ แต่เรื่องนี้จริงๆ แล้วพรรคที่ได้ประโยชน์จากการแบ่งเขตใหม่ คือ พรรคก้าวไกล เพราะก้าวไกลไม่ได้ใช้การทำงานในพื้นที่เป็นหลัก ส่วนพรรคที่เสียประโยชน์คือพรรคที่มีผู้สมัครทำงานในพื้นที่เดิม

2.บัตรเลือกตั้งสองใบคนละเบอร์ หลายคนโทษ กกต. แต่มันมาจากมติของรัฐสภา อาจเป็นแทคติกลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ 

ดังนั้น สรุปได้ว่าระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขันทำงานอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ใช้กลไกไปควบรวม ส.ส.หรือใช้กลไกอำนาจรัฐสั่งทหารให้โหวตส.ส.พื้นที่ ฯลฯ 

ประเด็นต่อมาคือ ช่วงฟอร์มรัฐบาล อ.สติธร ใช้คำว่า “เป็นพวกเดียวกันมาตั้งแต่ต้น”  คิดว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นเวลาพูดเรื่องนี้ บางคนบอก "ปิดประตูโอกาสของประชาธิปไตย" "รัฐบาลนี้เป็นส่วนต่อขยายของ คสช." ในรายละเอียดไม่ได้ตรงไปขนาดนั้น 

ถามว่าถ้าเขาเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ต้น และดีลสำเร็จมาแต่แรก ทำไมสุญญากาศความไม่แน่นอนมันดำรงอยู่มาระยะเวลาหนึ่ง ณ วันนี้ยังคิดว่าคนที่อกหักที่สุดคือ พล.อ.ประวิตร และถ้าคุยกันเสร็จแล้วทำไมมันถึงไม่ลงตัวตามที่ตั้งใจไว้ 

ถ้ามองภาพรวม ผลเลือกตั้งชี้ให้เห็นอย่างหนึ่งว่า ฝั่งชนชั้นนำจารีตเจอภัยคุกคามใหม่ที่ใหญ่กว่าเพื่อไทย นั่นก็คือ ก้าวไกล ดังนั้น เวลาที่เราพูดถึงระบอบอำนาจนิยมที่ให้มีการแข่งขัน สิ่งที่ชัดคือ เขาแพ้ในสนามเลือกตั้ง ทำอย่างไรให้เขาสามารถรักษาอำนาจ 

ลองมานึกดูว่า ระบอบอำนาจนิยมอันนี้ ชนชั้นนำจารีตอาจประกอบด้วยทุน ทหาร อาจมีความอ่อนแอลงในเชิงวัฒนธรรมและการยอมรับ แต่เขาไม่ได้เสียความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เทียบกับประเทศที่ชนชั้นนำเสียอำนาจความชอบธรรมสิ้นเชิง เช่นตอนอาร์เจนตินาแพ้สงครามเกาะฟอล์กแลนด์ แต่กรณีของเรา อำนาจนี้เขายังอยู่ คำถามคือ เขาจะรักษาอำนาจตัวเองไว้ได้อย่างไร จะทำอะไรได้บ้าง 

คำถามของเราคือในฐานะนักรัฐศาสตร์ จุดไหนคือจุดสิ้นสุดของ คสช. ทุกวันนี้ คสช.ยังอยู่ไหม อยู่ในลักษณะไหน หรือจริงๆ แล้วรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาซึ่งคือรัฐบาลเพื่อไทย จะใช้อำนาจแบบอำนาจนิยมตรงไหนหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ถามตัวเองทุกวันว่า ความไม่พอใจต่อการจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ เป็นเพราะรัฐบาลนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นส่วนต่อขยายของ คสช.จริงหรือ ถ้าบอกว่าจริงก็ต้องบอกให้ได้ว่าส่วนไหนคือส่วนขยาย

หากเรามองกรอบใหญ่ว่านี่คือการแข่งขันเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ความไม่ปกติทางการเมือง ความยังไม่เป็นประชาธิปไตย เราจะคาดหวังให้เปลี่ยนปุ๊บให้เป็นฝ่ายค้าน มันก็ยากอยู่ อย่างที่บอกว่าระบอบเดิมอำนาจเขาไม่ได้หายไปขนาดนั้น

อย่างอินโดนีเซีย หลังการล่มสลายของซูฮาโต ฮาบีบีขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีช่วงเปลี่ยนผ่าน เขาก็ลดจำนวนทหารที่อยู่ในสภา แต่ไม่ได้ยกเลิกไปทั้งหมด ดังนั้น ช่วงเวลาตรงนี้ คำถามสำหรับตัวเองคือ เราคาดหวังอะไรสำหรับพรรคฝ่ายค้านเดิมที่ก็ทะเลาะกันมาตั้งแต่ต้น ขึ้นมาเป็นรัฐบาลของฝ่ายค้านโดยไม่มีองค์ประกอบของรัฐบาลเดิมอยู่เลยจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ และโดยเฉพาะเมื่อเราไม่ได้อยู่ในระบอบการเลือกตั้งและการเมืองที่ปกติ ดังนั้น จุดไหนเป็นจุดสมดุลของการเปลี่ยนแปลง ณ ขณะนี้

นี่อาจเป็นการพูดที่ไม่ popular เท่าไร รัฐบาลพรรคร่วมเพื่อไทยและพรรคอื่นที่เป็นฝั่งรัฐบาลเดิม อาจไม่ได้รัฐบาลที่ดีที่สุด อาจไม่ได้ผ่านกระบวนการเป็นรัฐบาลที่เราพอใจที่สุด แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นรัฐบาลเพื่อไทยและก้าวไกล เส้นทางนั้นจะดีที่สุดสำหรับสังคม ณ ขณะนี้ 

อันนี้พูดบนฐานของความจริงว่า ถ้าเป็นรัฐบาลเพื่อไทย-ก้าวไกล และเรารู้ว่าระบอบอำนาจนิยมเดิมกำลังจะทำอะไรกับก้าวไกลบ้าง ดังนั้น ถ้าเป็นรัฐบาลเพื่อไทย-ก้าวไกล และเพื่อไทยไม่แยกออกมามันจะเกิดอะไรขึ้น

ย้อนมาที่ประเด็นเดิมว่าเขาคุยกันไว้แล้ว การคุยไว้แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่ผลที่เราเห็นว่า สุญญากาศไม่ได้ถูกดึงและยื้อแบบตั้งใจขนาดนั้น แต่มันใช้เวลาในการคุยและการตกลง การพูดว่า “รัฐบาลนี้คือส่วนต่อขยายของ คสช.” หรือ “รัฐบาลเศรษฐาคือประยุทธ์อีกร่าง” เป็นคำพูดที่ต้องระมัดระวัง

พล.อ.ประยุทธ์ต้องการลงจากการเป็นรัฐบาลแล้วไม่ถูกเช็คบิล และนี่ก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผู้นำรัฐประหารลงทางการเมืองได้นิ่งที่สุด นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ ถามว่า รัฐบาลเพื่อไทยตอนนี้เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แปลงร่างมา ดิฉันคิดว่าเป็นคำที่ "มากเกินไป" 

วันนี้ที่เราวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ถามว่าเราแปรเปลี่ยนความคาดหวังที่อยากจะเห็นรัฐบาลก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคอันดับหนึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม แปรเปลี่ยนความผิดหวังอันนี้มาเป็นความปรารถนาที่จะทำให้พรรครัฐบาลตอนนี้คือพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศไม่สำเร็จหรือเปล่า ต้องถามตัวเองว่าเราเชียร์พรรคหรือเราเชียร์ประเทศ ถ้าเราเชียร์ประเทศเราต้องอยากหวังให้รัฐบาลไหนก็ตามที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศทำได้สำเร็จ 

กลับมาคำถามเดิม ถ้าเราเอาระบอบเข้ามาในการวิเคราะห์ จุดไหนคือจุดที่รัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว เป็นเพราะเขาไปร่วมกับฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมหรือเปล่า และถ้าไม่ร่วมมันจะจัดตั้งรัฐบาลได้ไหม เพราะเราอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มร้อยตั้งแต่แรก ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือ เราไม่สามารถการันตีได้ว่ารัฐบาลนี้จะเป็นประชาธิปไตย แต่เราจะใช้หมุดหมายอะไร เช่น 1.ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดสิทธิพลเมือง 2. ยอมรับการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา 3. ไม่ใช้กติกาเดิมหรือสร้างกติกาใหม่เพื่อกีดกันตัวแสดงทางการเมือง คู่แข่งทางการเมือง 4. บริหารประเทศตามหลักนิติธรรม ถ้าทำแบบนี้ แม้คุณเข้ามาไม่สง่างามเต็มร้อย แต่คุณใช้อำนาจในครรลองประชาธิปไตยใช่ไหม และเราควรจะยินดีที่จะเห็นรัฐบาลแบบนี้หรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่เราต้องถามตัวเอง 

เวลาเราบอกว่าเพื่อไทยข้ามขั้ว ต้องถามว่า อะไรคือขั้วทางการเมืองที่ว่า ถ้าเราพูดถึงเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายข้ามเดิม แล้วข้ามขั้วมาไปกับฝั่งรัฐบาลเดิม อันนี้คือการข้ามขั้ว แต่ทั่วโลกก็ทำกันแบบนี้ เบลเยี่ยมที่ใช้เวลา 500 กว่าวันในการจัดตั้งรัฐบาลก็ทำ เยอรมนีทำบ่อยมาก 

ถ้าเรามองจากจุดยืนของพรรคการเมือง เพื่อไทย ก้าวไกล และอื่นๆ ใน 3 มิติ

1. จุดยืนทางวัฒนธรรม เพื่อไทยเป็นพรรคอนุรักษนิยมมาตั้งแต่แรก ท่าทีคุณทักษิณและอื่นๆ ของเพื่อไทยไม่เคยเป็นพรรคฝ่ายก้าวหน้าเลย ถามว่าข้ามขั้วตรงไหน นี่คือขั้วเดิมของเขา แต่ดิฉันก็ไม่ไกลขนาดว่าเขาเป็นพวกเดียวกัน

2. เศรษฐกิจ พรรคที่ร่วมกันตอนนี้ใกล้เคียงกัน มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ด้วย เพียงแต่ พท.อาจโดดเด่นในเชิงการใช้นโยบาย แต่ในเชิงเศรษฐกิจก็เป็นแบบ neo liberalism ประชาชนดูแลตัวเอง ขณะที่ก้าวไกลอาจออกแนว socialism หรือ techno-popolism เป็นฝ่ายซ้ายขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ถ้าเทียบในพรรคการเมืองไทย

3.ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง แม้เพื่อไทยตอนหลังช่วงหาเสียง อาจด้วยเทคนิคหรืออะไรก็ตาม ไม่ได้ปฏิเสธนโยบายก้าวไกลและประยุกต์มาใช้ แต่ในแง่จุดยืนทางการเมืองก็ใกล้เคียงกับพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้มากกว่าด้วยซ้ำ

ดังนั้น อะไรคือข้ามขั้ว? ภูมิทัศน์ทางการเมืองจะเห็นเพื่อไทยก้าวมาเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมที่ชัดเจน ซึ่งเพื่อไทยเป็นมาตลอด เขาไม่ได้เปลี่ยนขั้ว เพียงแต่พรรคอื่นๆ มีความเป็นจารีตมากกว่า 

ถ้าเรามองถึงความไม่สง่างามของพรรคเพื่อไทย มีอยู่ไหม มี คุณไม่รักษาคำพูดในช่วงการหาเสียง "มีเราไม่มีลุง" ถามว่าการไม่รักษาคำพูดทำให้เพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย กลายเป็นพรรคที่เป็นส่วนต่อขยายของ คสช.อย่างที่พูดไหม? ดิฉันว่าไม่ใช่ การไม่รักษาคำพูดจริงๆ แล้วเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงแบบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่าง George H. W. Bush เคยพูด ‘read my lips’ ซึ่งเป็นวลีที่ดังมาก “ผมจะไม่ขึ้นภาษี” แต่พอมาบริหารแล้วก็ขึ้นภาษี ถามว่าทำให้คนมองว่าจอร์จไม่เป็นประชาธิปไตยไหม อเมริกาหยุดความเป็นประชาธิปไตยเพราะประธานาธิบดีไม่รักษาคำพูดไหม ไม่ใช่ แล้วเราต้องทำยังไง ไม่พอใจที่เขาไม่รักษาสัญญาระหว่างหาเสียงเลือกตั้งก็ไม่โหวตให้เขาในครั้งหน้า แต่ไม่ใช่ว่า เมื่อไม่รักษาคำพูดแล้วไม่เป็นประชาธิปไตย 

สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ในโซเชียลมีเดีย และการมองการเมืองไทย มัน "เกินเบอร์" ไปมาก รวมถึงประเด็นที่เราพูดว่าพรรคอันดับหนึ่งต้องจัดตั้งรัฐบาล หลายคนในห้องนี้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ‘ไม่จำเป็น’ เพื่อไทยหลายครั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่งก็ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล นิวซีแลนด์ นายกฯ ซาจินดา อาร์เดิร์น ในการเลือกตั้งปี 2017 เป็นพรรคอันดับสอง ขณะที่พรรคอันดับหนึ่งได้เยอะกว่ามาก กระบวนการที่กำลังเกิดขึ้น ดิฉันไม่แน่ใจว่าจะเรียกสภาวะนี้หรือระบอบนี้ว่าอะไร แต่ไม่คิดว่ามันเป็นส่วนต่อขยายของ คสช. และไม่แน่ใจว่าจะปิดโอกาสประชาธิปไตยหรือเปล่า ต้องดูต่อไปว่าเพื่อไทยจะทำอะไร จะทำอะไรที่ขัดกับครรลองประชาธิปไตยไหม 

ดิฉันไม่คิดว่านี่คือรัฐบาลที่ดีที่สุด และอยากเห็น แต่ถ้าเราอยู่ภายใต้กรอบอำนาจนิยมว่า ชนชั้นจารีตเดิม อำนาจเขาไม่ได้หายไปไหน สิ่งที่เขาต้องการที่สุดก็คือ ต้องการมั่นใจว่าเขาจะไม่ถูกเช็คบิล ต้องการมั่นใจว่าสถานภาพของอำนาจจะไม่สั่นคลอนมาก แต่เขาพร้อมที่จะประนีประนอมกับตัวแสดงทางการเมืองที่เข้ามาในระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง ไม่ได้ใช้คำว่า ‘ปรองดอง’ เพราะยังไม่มีการขอโทษ ยังไม่เห็นว่าเขาจะอยู่กันได้ยาวนานแค่ไหน เพื่อไทยตอนนี้เหมือนอยู่บ้านเดียวกันแต่ตอนนนอนก็ต้องล็อคประตูเพราะไม่รู้จะถูกแทงข้างหลังเมื่อไหร่ แต่นี่คือภาพที่เป็นรัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์มันไม่ได้ขาวกับดำขนาดนั้น และเป็นสิ่งที่เราต้องมองอย่างระมัดระวังมากขึ้น 

ประจักษ์ 

เราอาจยอมรับร่วมกันได้ว่า เราอยู่ในระบอบที่มันไม่ปกติ ระบอบ hybridge regime ผมเขียนบทความก็เรียกว่าเป็น ‘ระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน’ ระบอบแบบนี้ทำงานโดยมีกลไก 2 ส่วนหลัก ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งและกลไกการเลือกตั้งที่อาจไม่ถึงกับเท่าเทียม 100% อีกส่วนหนึ่งเป็นกลไกนอกระบบเลือกตั้ง เป็นกลไกที่เป็นโครงสร้างอำนาจอื่นๆ ที่พูดง่ายๆ ว่าคอยรับประกันว่า ต่อให้เลือกตั้งพลิกล็อคแพ้ก็ยังเข้าสู่อำนาจได้ผ่านกลไกอื่นๆ ของโครงสร้างอำนาจ  ตัวอย่างของไทยที่ชัดเจนที่สุดคือ ส.ว.แต่งตั้งในกติการัฐธรรมนูญ 2560

คำถามคือ สมมติผลการเลือกตั้งเป็นแบบนี้ แล้วไม่มี สว.เราจะเห็นรัฐบาลอีกแบบหรือไม่ หรือจะเห็นรัฐบาลแบบนี้อยู่ดี อันนี้เป็นคำถามเพื่อให้ตอบว่า เรายังอยู่ในระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขันหรือไม่

ผมไม่ได้ใช้คำว่า ‘ระบอบ คสช.’ เพราะตัว คสช.ในฐานะองค์กรก็จบไปแล้ว ตั้งแต่การเลือกตั้ง 2562 แต่ผมใช้คำว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องผูกกับตัวบุคคล แต่เรากำลังพูดถึงลักษณะของระบอบนั้น ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาหลังรัฐประหาร 2557 ผ่านกติการัฐธรรมนูญและการจัดวางโครงสร้างอำนาจใหม่ ต้องดูว่าระบอบประยุทธ์ซึ่งเป็นคณาธิปไตยแบบหนึ่งของกลุ่มทุน กลุ่มการเมือง กลุ่มทหาร ได้เปลี่ยนรูปไปมากจนเป็นระบอบใหม่แล้วหรือยัง สำหรับผม ผมยังเห็นความต่อเนื่องมากกว่าความแตกหัก อันนี้คงขึ้นกับการประเมิน 

กลับไปที่คำถามเดิมสมมติไม่มี สว. ตอนแรกจับกันได้แล้ว 8 พรรค ได้เสียงเกินครึ่งแล้ว ถ้าไม่มี สว.เราก็ได้รัฐบาล 8 พรรคไปแล้วหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ใช่ เพื่อไทยจะจับกับก้าวไกลและจัดตั้งรัฐบาลแบบนั้น แสดงว่า สว.เป็นกลไกสำคัญมากในการกำหนดลักษณะของรัฐบาลและเรายังอยู่ภายใต้มรดกตกทอดจากการรัฐประหาร 

อันนี้เชื่อมไปถึงประเด็นที่สอง คือ งานศึกษาของแนนซี่ เบอร์มิโอ (Nancy Bermeo) ศึกษาการรัฐประหารทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่า ในประเทศที่ยังมีการรัฐประหาร เมื่อเกิด รัฐปรหาร หลังจากนั้นแม้จะมีการเลือกตั้งและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็ยากที่สังคมจะกลับสู่ประชาธิปไตยแบบปกติได้ เมื่อมี democratic break down ในการเมืองสมัยใหม่ เหตุผลเพราะระบอบอำนาจนิยมและชนชั้นนำปัจจุบันมีความเก่งขึ้น แนบเนียนมากขึ้น ในการที่จะประยุกต์ระบบอำนาจนิยมของตัวเองผนวกกลไกประชาธิปไตยเข้าไป

เขาพบสองอย่าง คือ 1. เมื่อรัฐประหารเสร็จ แพทเทิร์นหนึ่งคือผู้นำรัฐประหารสามารถแก้กลไกและตั้งพรรคการเมือง แล้วอยู่ในอำนาจไปได้ยาว 2. ต่อให้แพ้การเลือกตั้งแต่ก็ไม่หมดอำนาจไป ยังมีอำนาจคุมอยู่เบื้องหลัง หรืออยู่ในกลไกอื่นๆ ที่ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยเดิมต้องมาทำงานร่วมกันกับฝ่ายรัฐประหาร จะเรียกประนีประนอมหรืออะไรก็ตาม แต่ฝ่ายรัฐประหารยังคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลงไม่ให้ทำลายอำนาจตัวเองได้

กรณีของไทยก็ใช่ หลังจากมีการล้มลงของประชาธิปไตยสองครั้งในปี 2549 และ 2557 เราเห็นเลยว่าคณะรัฐประหารให้ความสำคัญกับการออกแบบกติกามาก และการทำพรรคการเมือง แต่ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งผลการเลือกตั้งผิดคาดไปเยอะแล้วต้องมาวุ่นวาย ฝั่งประยุทธ์และประวิตรแตกกันแล้วตั้งสองพรรค ก่อนหน้านี้ไม่เคยมี ถ้าไม่นับจอมพลสฤษดิ์ ส่วนใหญ่คณะรัฐประหารส่งพรรคการเมืองพรรคเดียว พอมีสองพรรค กลไกต่างๆ ก็จะไปช่วยเหลือลำบาก เป็นเหตุผลที่คะแนนตัดกันเองและแตกกันเอง ทำให้ประวิตรมาอกหักในตอนนี้ สุดท้ายไปวัดกันอีกว่าใครคุม สว.มากกว่ากัน ซึ่งเป็น gate keeper คุมการจัดตั้งรัฐบาล

การพูดถึงพรรคการเมืองและบทบาท เวลาวิเคราะห์ระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน ผมจะดูสองส่วน คือ 1.เจตนารมณ์ที่จะรักษาอำนาจ 2.ความสามารถที่จะทำได้ ผมเห็นว่าเขาล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อทำผลงานการเลือกตั้งไม่เข้าเป้า  (ได้แค่ 188 ที่นั่ง) ฝ่ายค้านก็พลิกล็อกไปอีก พรรคก้าวไกลซึ่งมีนโยบายหลายอย่างกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นนำดันชนะเลือกตั้งเยอะอีก มันจึงนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลรูปแบบที่เราเห็น 

ถ้าวิเคราะห์ด้วยกรอบ raitional choice วิเคราะห์แบบนิ่งๆ เหมือนเราเป็นคนกลางแล้วดูพฤติกรรมและการตัดสินใจของทุกพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ผมว่าทุกพรรคมีเหตุผล เพื่อไทยตั้งรัฐบาลแบบนี้ยอมจับมือกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมทั้งหมด รวมทั้งพรรคของประยุทธ์-ประวิตร มีเหตุผลไหม มีเหตุผล ได้มากกว่าเสีย แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ แต่คุณทักษิณได้กลับบ้าน เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล แคนดิเดตเพื่อไทยได้เป็นนายกฯ การได้คุมรัฐบาลเองย่อมดีกว่าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าได้ทำนโยบายแล้วนโยบายเข้าเป้าก็จะเป็นหนทางที่เพื่อไทยจะทวงบัลลังก์อันดับ 1 ได้ 

มองในกรอบนี้ไม่แปลกใจเลย พรรคสองลุงตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยก็ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วเพราะก้าวไกลเขาไม่เอา 

เพียงแต่ว่าสำหรับประชาชนและทุกคนก็ต้องมี political praference (ความชื่นชอบทางการเมือง) เราจะชอบหรือไม่ชอบคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการตัดสินใจของประชาชนที่เราจะเห็นในการเลือกตั้งครั้งหน้า 


อนาคตการเมืองไทย

สติธร

มองอนาคตระยะสั้น แบ่งเป็น 2 ช่วง 1.จนถึง สว.ชุดนี้หมดวาระ เพราะจะเป็นตัวเปลี่ยนสมการ วันนี้ฉากทัศน์ของเพื่อไทยจนถึงวันที่ สว.หมดวาระมี 2 ทางให้เราฝัน คือจับมือกับพรรคร่วมถูกจริตกันแล้ว สว.หมดวาระก็หมดไป หรือ คำนึงถึงฐานเสียงที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ร่วมรัฐบาลกับขั้วรัฐบาลเดิมเพราะความจำเป็น แต่ถ้าไม่มี สว.แปลว่าอำนาจต่อรองจะกลับมาที่เพื่อไทยเต็มตัว ถ้าจะให้ฟันธงก็คิดว่าจะเป็นอย่างแรกมากกว่า ไม่จำเป็นต้องแคร์ฐานเสียงส่วนหนึ่ง 

ถ้าดูเฉดทางการเมืองโดยเอาขวา-ซ้ายแบบตะวันตกมาทาบ ทางเศรษฐกิจเพื่อไทยเป็นนีโอลิบเบอรัล ทางการเมืองเป็นนีโอคอนเซอร์เวทีฟ ดังนั้น เขาอยู่ฝั่งขวา ส่วนก้าวไกลจะเรียกว่าลิเบอรัล โปรเกสซีฟ โซเชียลิสม์ ก็แล้วแต่ เพียงแต่การเมืองไทยมี ‘ขวากว่า’ เพื่อไทย เมื่อก่อนเคยมีจำนวนเยอะ แต่วันนี้ผลของการเลือกตั้งทำให้เห็นว่าขวาแบบนั้นจำนวนน้อยลง 

เมื่อย้อนกลับไปดูผลสำรวจที่ทำ คนที่มาเลือกก้าวไกลรอบนี้ มาจากเพื่อไทย 20% แล้ว 14 ล้านก้าวไกลมาจากไหน เพราะรอบที่แล้วก้าวไกลได้ 6-7 ล้านเสียง หากบวกเสียงที่มาจากเพื่อไทยสัก 2 ล้านเสียงยังไม่ถึง 10 ล้านหากนับ first time voter เต็มที่ 2 ล้าน ดังนั้น เราจะพบว่า คนเลือกประชาธิปัตย์จำนวนไม่น้อยมาเลือกก้าวไกลรอบนี้ คนที่เคยเป็น ‘เหลืองอุดมการณ์’ ครั้งหนึ่งฝากความหวังที่ลุงตู่ในปี 2562 พอมาปี 2566 ย้ายมาเลือกก้าวไกล 

คำถามคือ ที่ทางของเขาจะอยู่กับก้าวไกลตลอดไปไหม ในระยะยาวการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นต้นไป พรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแทนของฝ่ายขวา ‘เหลืองอุดมการณ์’ จะฝากไว้ที่ไหน คาดว่ามีหลายทาง คือ 1.กลับไปที่ประชาธิปัตย์ไหม แต่ประชาธิปัตย์ต้องปฏิรูปตัวเอง กลายเป็นอุดมการณ์แท้ๆ 2.เกิดพรรคใหม่ อาจเป็นการรวมตัวของอนุรักษนิยมรอบนี้ที่มีหลายพรรครวมถึงส่วนที่อยู่ รทสช. 3.อยู่กับก้าวไกลต่อ

ไม่แน่ว่า ประเทศไทยจะไม่ใช่ซ้าย-ขวาแบบยุโรปแล้ว แต่อาจกลายเป็น การเมืองเชิงอุดมการณ์อยู่กับพรรคนี้ การเมืองเชิงปฏิบัติอยู่กับอีกพรรคหนึ่ง 

สิริพรรณ 

อ.ประจักษ์ตั้งคำถามไว้น่าสนใจ ถ้าไม่มีสว.รัฐบาลจะหน้าตาแบบไหน เป็นการคิดแบบ counterfactual (คิดบนด้านกลับของความเป็นจริง) ขออนุญาตฟันธงว่าจะเป็นรัฐบาลหน้าตานี้แหละ 

ดังนั้น กลับมาที่ประเด็นว่า กลไกของระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน มันมีอยู่ แต่ครั้งนี้มันทำงานแบบไหน อ.ประจักษ์ใช้คำว่าเหมือน gate keeper ไม่ให้ก้าวไกลเข้ามา แต่ถ้าไม่มี เชื่อว่าผลลัพธ์ก็ยังจะเหมือนกัน

ระบอบอำนาจนิยมเขาอ่อนลง พ่ายแพ้ในพื้นที่การเลือกตั้ง แต่เขายังแข็งแกร่งระดับหนึ่งในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในโครงสร้างที่ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ คำถามคือ ถ้า เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ส่วนตัวใช้ game theory (ทฤษฎีเกม) และ rational choice (ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล) ในการวิเคราะห์ตลอดว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล 

เวลาที่นักวิเคราะห์พูดกันว่า ประวิตรจะได้เป็นนายกฯ มันไม่เป็นไปตามทฤษฎีเหล่านี้เลย เพราะถ้าทักษิณอยากกลับบ้านด้วย อยากจัดตั้งรัฐบาลด้วย ต้องคุมเกมให้ได้มากที่สุด เป็นไปไม่ได้เลยที่เพื่อไทยจะยอมปล่อยตำแหน่งนายกฯ ให้อีกฝั่ง 

คำถามคือ ถ้าเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบลไม่สำเร็จ และระบอบอำนาจนิยมกลับมามีอำนาจ จะเกิดอะไรขึ้น counter factual อีกแบบก็คือ มันอาจจะเป็นมโนภาพที่ไม่ดีกับสังคม ต้นทุนของการที่ก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล อาจจะแพงมากกว่ารัฐบาลที่เรารู้สึกว่าไม่โอเค 

ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ตลาดการเมือง ภูมิทัศน์การเมือง จะเป็นแบบไหน 

ดิฉันมองต่างไปจากนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่มองว่า เพื่อไทยจะถูกหักหลัง ไม่ได้อะไรหรอก ถ้าเรามองว่า พลังจารีตนิยมเขารู้สึกสั่นคลอน ถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย ดังนั้นจึงผนึกมือกับเพื่อไทยเพื่อรักษาความมั่นคงของตัวเองเท่าที่จะทำได้ แม้เพื่อไทยเคยเป็นศัตรูในอดีต แต่วันนี้ทั้งสองฝั่งจะประนีประนอมกัน ยาวนานแค่ไหนไม่แน่ใจ แต่น่าจะยาวพอที่ทำให้พลังจารีตอยู่ได้อย่างปลอดภัย 

ดังนั้น ดิฉันคิดว่ารัฐบาลเศรษฐาอยู่ได้ยาว อาจไม่ถึง 4 ปีแต่อยู่ได้ยาว ในระดับที่ทำให้เพื่อไทยส่งมอบนโยบายได้ระดับหนึ่ง ถ้าไม่ทำลูกหลุดมือเอง แต่จะไม่เจอคดีร้ายแรงอย่างที่ผ่านมา เพราะเขาอยู่ฝั่งเดียวกันและต้องพึ่งพากัน แต่การปรับครม.อาจจะเห็นบ่อย ดิฉันคิดว่า ครม.นี้เป็น ครม.ที่ให้รางวัลตอบแทนกลุ่มบ้านใหญ่ เยียวยาจิตใจบางคน เอาใจกลุ่มทุน อาจเป็นครม.เฉพาะกิจชั่วคราว แล้ว 3-6 เดือนอาจมีการปรับครม.ให้ถูกฝาถูกตัวมากขึ้น แต่คิดว่าอยู่ยาวในระดับที่จะส่งมอบและเรียกศรัทธากลับคืนมาทั้งตัวจารีต และเพื่อไทยเอง 

มองที่ก้าวไกล ตัวเลขที่ อ.สติธรเสนอมาน่าสนใจมาก คนที่เลือกประชาธิปัตย์จะยังสนับสนุนไหม ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นระยะยาว จะมี 2 พรรคใหญ่ คือเพื่อไทยกับก้าวไกล อยู่คนละขั้วแน่นอน 

อย่างที่วิเคราะห์แต่ต้นว่า คนที่เลือกก้าวไกลจำนวนหนึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่อนาคตอาจไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ได้ คนกลุ่มนี้จะอยู่ตรงไหน คิดว่า ประชาธิปัตย์ก็น่าจะยังไม่ฟื้น ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะกลับมาก้าวไกลหรือเปล่า ชนชั้นนำไทยมองเห็นว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ คนที่อาจไม่อยากไปกับก้าวไกลแต่ไม่สามารถทำใจเลือกประชาธิปัตย์ได้อีกแล้ว รทสช.ก็ไม่ได้เป็นสถาบันมากพอ อาจไม่มีแล้วในอนาคต ดังนั้น เป็นไปได้ที่จะเห็นการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาเพื่อช้อนคนกลุ่มนี้ ขณะที่ก้าวไกลจะยังเป็นพรรคที่ได้คะแนนสูงอยู่ จิตวิทยาอย่างหนึ่งคือ เลือกมา 2 ครั้งแล้วยังไม่ได้เป็นรัฐบาล อยากให้ได้ลองเป็นรัฐบาล 

ถามว่ามองพรรคเหล่านี้ในจุดยืนหรืออุดมการณ์แบบไหน หลายคนที่เชียร์ก้าวไกลรู้สึกหดหู่สิ้นหวัง ทำไมไม่มองด้านตรงกันข้ามว่า สิ่งที่เราได้ในภูมิทัศน์ทางการเมืองทุกวันนี้คือ สองพรรคใหญ่ที่ต่างยึดถือแนวทางประชาธิปไตยทั้งคู่ ด้านหนึ่ง เพื่อไทยอาจเป็นประชาธิปไตยพื้นฐาน ประชาธิปไตยปากท้อง ก้าวไกลเป็นเป็นประชาธิปไตยที่มาตรฐานสูงหน่อย เน้นเรื่องความเท่าเทียม ทั้งคู่ไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง ใช้นโยบายในการหาเสียงทั้งคู่ นี่เป็นภาพในอนาคตที่น่าจะสดใส เพียงแต่ทั้งหมดนี้เมื่อเรามองตลาดการเมือง สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ มันมีอำนาจที่พร้อมจะใช้กติกาข้างนอกอยู่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องประคับประคองกันไป ถ้าเพื่อไทย ก้าวไกล พรรคต่างๆ สามารถรักษาสมดุลของการแข่งขันบนกติกาที่ไม่มี สว.ครั้งหน้า แม้รัฐธรรมนูญยังมีเรื่ององค์กรอิสระหรือใดๆ ก็ตามอยู่ แต่อย่างน้อยพื้นที่การแข่งขันจะเสมอกันมากขึ้น 

ในแง่การเมือง เราอาจไม่การันตีได้ว่าเราจะเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยทันที แต่อย่างน้อยเราจะไม่เห็นการออกจากเส้นทางประชาธิปไตยหรือออกจากผลของการเลือกตั้งอย่างที่เป็นมาในอดีต ถ้ารักษาสมดุลนี้ได้ ชนชั้นนำจารีตรู้สึกว่าอันนี้คือความสมดุลที่เขารู้สึกว่าไม่ถูกคุกคามเกินไป ก็จะเป็นเส้นทางที่อาจเห็นได้ในอนาคต 

ประจักษ์ 

เมืองไทยเวลาพูดถึง regime วิเคราะห์ยากเพราะเราพูดได้ไม่หมด 

อนาคตข้างหน้า ผมคิดว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดพรรคใหม่ ตอนนี้กำลังมีช่องว่างเกิดขึ้น นักการเมืองมองเห็นอยู่แล้ว ยังมีช่องว่างของฝ่ายอนุรักษนิยมอีกแบบหนึ่งที่เขาจะไม่เลือกทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล ขณะที่รู้สึกผิดหวังกับประชาธิปัตย์ ส่วนพปชร.ครั้งหน้าคงไปรวมกับพรรคอื่น รทสช.ก็เป็นปริศนาว่ายังอยู่ไหม เพราะพึ่งพิงพล.อ.ประยุทธ์สูงมาก 

มีนักการเมืองปัญญาชนของมาเลเซียตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า การเมืองทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในช่วงที่สับสนอลหม่าน เอาแค่ระบบพรรคการเมือง-การเลือกตั้ง เพราะ political order หายไป แต่ละประเทศปกติจะมีพรรคหลักที่เราคาดเดาได้ว่าจะได้รับเลือกตั้ง การเมืองจะเสถียรระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เต็มไปด้วยความโกลาหล การต่อรอง อีลีทล็อบบี้กันไปมา เห็นชัดทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย และจะเป็นอย่างนี้ไปต่อเนื่อง 

ผมคิดว่า เมืองไทยก็อยู่สู่สภาพนี้ เมื่อไม่มีพรรคหลักเดิมที่ชนะการเมือง และผลเลือกตั้งเป็นแบบนี้ อีลีทจะมีบทบาทมาก และจะมีการต่อรองกันตลอด 

ครั้งหน้าผมก็คิดว่าจะเป็นแบบนี้ ไม่มีพรรคไหนแลนด์สไลด์ ก้าวไกลก็ยากที่จะแลนด์สไลด์ด้วยภูมิทัศน์ทางการเมืองแบบนี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อไทยยังรักษาฐานเสียงจำนวนมากไว้ได้ ยังไม่รวมว่าจะมีมุ้งอื่นจากพรรคอื่นมารวมได้อีก และในไทยการเป็นรัฐบาลกับไม่เป็นรัฐบาลต่างกันมาก ฉะนั้น ไม่ง่ายที่บอกว่าเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ แล้วก้าวไกลจะแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

เรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล คิดว่าน่าจะอยู่ยาว ครบวาระหรือเกือบครบวาระ 

ประเด็นสุดท้าย เรื่องประชาธิปไตยจะมีการเปลี่ยนผ่านแค่ไหน เพื่อไทยจะมีบทบาทสำคัญเนื่องจากเป็นรัฐบาล มี 3 โจทย์ที่จะเป็นบททดสอบด้วยว่า เพื่อไทยจะมีพันธกรณีกับประชาธิปไตยไหม และจะเป็นการฟื้นฟูตัวเองกลับมาให้เป็นทั้งพรรคที่บริหารเศรษฐกิจแล้วก็ได้เครดิตประชาธิปไตยไปด้วยหรือไม่ แม้หลายคนจะบอกว่า เพื่อไทยเป็นพรรคอนุรักษนิยม แต่ช่วงความขัดแย้ง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อไทยก็ถูกบีบทั้งโดยมวลชนของตัวเองด้วยให้ต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะโดนรัฐประหารออกจากอำนาจไป รวมทั้งกติกาที่ไม่เป็นธรรม

โจทย์ 3 เรื่องคือ เรื่องรัฐธรรมนูญ จะเป็นยังไง, ปฏิรูปกองทัพจะเป็นยังไง, นิติรัฐ กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดซึ่งโยงกับเรื่องการปรองดอง การสลายความขัดแย้ง จะจัดการอย่างไรกับนักโทษทางการเมือง