ไม่พบผลการค้นหา
หนังสือพิมพ์ The Financial Times ของสหราชอาณาจักร พาดหัวข่าวในวันนี้ (9 พ.ค.) โดยจับตาการเลือกตั้งไทยที่มี แพทองธาร ชินวัตร ทายาทจากตระกูลการเมืองไทยที่โด่งดังที่สุด ซึ่งกำลังนำพรรคของตัวเองเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์นี้ (14 พ.ค.) ด้วยคำสัญญาว่า พรรคของเธอจะแย่งชิงอำนาจกลับคืนมาจากระบอบการปกครองของเผด็จการทหารไทย

“เราจะช่วยกันทวงคืนประชาธิปไตย ทวงคืนชีวิต” แพทองธารวัย 36 ปี กล่าวที่สนามกีฬาในกรุงเทพฯ ที่ประดับด้วยสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยเมื่อเดือนที่แล้ว

The Financial Times รายงานว่า แพทองธารกำลังแสวงหาชัยชนะอย่างท่วมท้น ภายใต้กฎการเลือกตั้งที่ซับซ้อนของประเทศ โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกรุมเร้าด้วยการเข้ายึดครองอำนาจโดยเผด็จการทหาร และการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง 

ทั้งนี้ The Financial Times ระบุว่า หากพิจารณาถึงอิทธิพลของกองทัพไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ผลการเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้จะส่งผลกระทบไปทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ The Financial Times ว่า “การเลือกตั้งในไทยจะส่งผลที่ตามมาอย่างลึกซึ้ง” ต่อ “การต่อสู้ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย” ทั่วทั้งภูมิภาค

The Financial Times รายงานว่า แพทองธารเพิ่งเข้าสู่สนามการเมืองอย่างจริงจังเมื่อปีที่แล้ว และการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเธอถูกมองจากบางฝ่ายว่า อาจเป็นชนวนเหตุแผ่นดินไหวทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ และยิ่งกว่านั้นคือการกลับมาของบิดาของเธอ มหาเศรษฐีด้านโทรคมนาคมผู้ลี้ภัยที่ถูกเนรเทศ และอดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งจากการถูกทำรัฐประหารเมื่อปี 2549

หนังสือพิมพ์ของสหราชอาณาจักรระบุว่า ครอบครัวชินวัตรถูกประณามโดยกองทัพที่มีอำนาจและฝ่ายจัดตั้งกลุ่มนิยมกษัตริย์ แต่พวกเขายังคงเป็นที่รักของประชาชนบางส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบททางตอนเหนือ ด้วยนโยบายบรรเทาความยากจน อาทิ โครงการรักษาพยาบาลถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค

ทักษิณ “ได้เปลี่ยนเกมไป” ฐิตินันท์กล่าวกับ The Financial Times ก่อนระบุเสริมว่า อดีตนายกรัฐมนตรีไทย “ทำให้แพลตฟอร์มนโยบายสามารถส่งมอบได้ และเขาส่งมอบมัน... พรรคมีอำนาจมากจนกลายเป็นความท้าทายต่อศูนย์กลางระบอบอำนาจ”

The Financial Times รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ผู้ดำรงตำแหน่งอดีตหัวหน้ารัฐบาลทหาร เข้ายึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือตั้งในปี 2557 โดยปลด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ และอดีตนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนโฉมตัวเองเป็นผู้นำพลเรือน

The Financial Times รายงานเสริมว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ในการปราบปรามผู้เห็นต่าง และปราบปรามการประท้วงที่นำโดยเยาวชนในปี 2563 ซึ่งเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย โดยฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน” ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบัน ยังรื้อฟื้นการดำเนินคดีภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีในข้อหาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

The Financial Times ระบุว่า แม้ว่านานาชาติจะวิจารณ์ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ชนะการเลือกตั้งในปี 2562 และลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งตามคำมั่นสัญญาว่าจะอยู่ต่อ แม้จะถูกจำกัดให้ดำรงตำแหน่งได้จนถึงปี 2568 ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่มีกองทัพหนุนหลังเท่านั้น “จะไว้ใจกัปตันอายุมากประสบการณ์อย่างผม หรือนักบินอายุน้อยให้ขับเครื่องบินลำนี้” The Financial Times รายงานอ้างอิงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวออกมาเมื่อไม่นานนี้

หนังสือพิมพ์ด้านเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ยังรายงานถึงประวัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มัวหมองจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวของไทยอย่างรุนแรงเป็นพิเศษ โดยถึงแม้ว่าจะมีการกลับมาเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน ที่คาดว่าอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เงินบาทที่แข็งค่าได้ทำให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรง 

ทั้งนี้ จากการประมาณการของรัฐบาลไทยระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะมีอยู่ที่ 2.7-3.7% ในปี 2566 ตามมาด้วยการรณรงค์หาเสียงที่ได้กลายเป็นการแข่งขันกัน ของคำมั่นสัญญาประชานิยมที่มีมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาท ตั้งแต่การขึ้นค่าจ้างและเงินบำนาญ ไปจนถึงการอุดหนุนและการแจกเงินสด

The Financial Times รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงรั้งท้ายในการสำรวจความคิดเห็นความนิยม แต่จะได้รับความช่วยเหลือจากข้อเท็จจริงที่ว่าระบอบทหารยังมีอำนาจยับยั้งนายกรัฐมนตรีอย่างได้ผล โดยวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารจำนวน 250 คน จะทำการลงคะแนนร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ซึ่งส่งผลให้ฝ่ายค้านจากรัฐสภาชุดก่อน ต้องการที่นั่งอย่างน้อย 376 ที่นั่งในการเลือกนายกรัฐมนตรีของพวกเขาเอง

The Financial Times ระบุว่า ชะตากรรมของพรรคเพื่อไทยใต้การนำของแพทองธาร ซึ่งมีเป้าหมายที่นั่งประมาณ 310 ที่นั่ง อาจขึ้นอยู่กับพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นเยาวชนและชนชั้นกลางในเมือง โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เพิ่งมีคะแนนนิยมในผลสำรวจแซงหน้าแพทองธารไปเมื่อเร็วๆ นี้ แต่การเมืองที่ก้าวหน้าทำให้เกิดเรื่องน่าอึดอัดใจสำหรับพรรคเพื่อไทย เนื่องจากพรรคก้าวไกลเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการยุติการเกณฑ์ทหาร

แพลตฟอร์มของพรรคก้าวไกลเปรียบเสมือน “การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์” ฐิตินันท์กล่าวกับ The Financial Times “มันไม่ใช่แค่การตระหนักถึงคนจนและการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันดั้งเดิมที่บริหารประเทศไทย”

The Financial Times ระบุว่า พรรคเพื่อไทยใช้การพูดแบบสองนัยในการยกเครื่องรัฐธรรมนูญหรือตัดทอนอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจเปิดช่องให้ให้มีพันธมิตรร่วมอื่นๆ อย่างพรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มีอำนาจรองจาก พล.อ.ประยุทธ์ในพรรครวมไทยสร้างชาติ “เป็นไปไม่ได้ที่พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว” พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ The Financial Times โดยเธอระบุเสริมว่า เพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภา พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญกับทางเลือกของ “นายพลสองคน ประยุทธ์หรือประวิตร”

อย่างไรก็ดี The Financial Times ระบุว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 พ.ค.) แพทองธารได้ประกาศตัดขาดความร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐ ในความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อเสริมฐานสนับสนุนพรรคของเธอ แต่ The Financial Times ระบุเสริมว่า การเป็นพันธมิตรระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล อาจทำให้ทหารหรือตุลาการเข้าแทรกแซงได้

“มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความไม่สงบบางอย่าง เพราะหากตัวเลขเหล่านี้ออกมาตามที่โพลชี้แนะ การแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคก้าวไกล จะเป็นเรื่องยากมากที่ศูนย์อำนาจที่จัดตั้งขึ้นจะทนได้” พรรณชฎาระบุกับ The Financial Times

The Financial Times รายงานต่อไปว่า ในขณะเดียวกัน ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งลี้ภัยอยู่ในดูไบตั้งแต่ปี 2551 ได้ให้คำมั่นที่จะกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง แม้จะต้องเผชิญกับความผิดที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันมากมาย โดยทักษิณและพรรคเพื่อไทยปฏิเสธและยืนยันว่า การส่งแพทองธารเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์การนิรโทษกรรม แม้ทักษิณจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาของฝ่ายทหารผู้นิยมลัทธินิยมกษัตริย์

The Financial Times รายงานว่า ทักษิณในวัย 73 ปี ย้ำถึงความตั้งใจของเขาที่จะกลับประเทศไทย โดยได้ให้เหตุผลเพื่อพบกับหลานคนที่ 7 ของเขา ซึ่งแพทองธารได้ให้กำเนิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “แล้วพบกันใหม่” ทักษิณระบุบนทวิตเตอร์ส่วนตัว


ที่มา:

https://www.ft.com/content/01565e62-360a-47f9-910b-67055bf92c83?fbclid=IwAR1l32auES14hlgV5Q4zazKW1XtMyfR9RMuFc58TOlDUHxscQWdfnfUM1oU