ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างชาติเผย 'สภาไทย' ยังไร้หลักแหล่ง ต้องเช่าสถานที่ภายนอกเปิดประชุมเพื่อเลือกประธาน-รองประธานฯ เพราะสภาใหม่ที่ใช้งบกว่า 2 หมื่นล้านบาท 'ยังไม่เสร็จ' และแม้จะมีการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. แต่ 'ทหาร' ยังเป็นผู้คุมสภาพทางการเมืองอยู่เช่นเดิม

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก สื่อสายเศรษฐกิจ-การเมือง รายงานว่า ไทยเปิดประชุมสภาอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. แต่ยังต้องเช่าหอประชุมทีโอทีเพื่อใช้งานชั่วคราว เนื่องจากรัฐสภาแห่งใหม่ 'สัปปายะสภาสถาน' ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้รัฐสภาอยู่ในสภาวะ 'ไร้หลักแหล่ง' ไปจนถึงปีหน้า (Thailand’s New Parliament Is Homeless At Least Until Next Year)

ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างสัปปายะสภาสถาน ซึ่งหมายถึง 'สถานที่สำหรับประกอบความดี' ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า ทางบริษัทเตรียมจะเรียกร้องค่าชดเชยประมาณ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดเพราะทางฝ่ายสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาไม่ได้ทำตามสัญญาการส่งมอบพื้นที่ ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบ แต่การเคลื่อนไหวเรื่องค่าชดเชยจะดำเนินการหลังจากสร้างสภาแห่งใหม่แล้วเสร็จ

การก่อสร้างสัปปายะสภาสถานเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนจะเกิดรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557 ใช้พื้นที่กว่า 424,000 ตารางเมตร หากสร้างและตกแต่งแล้วเสร็จ จะกลายเป็นอาคารรัฐสภาซึ่งมีพื้นที่ใช้งานและอาณาบริเวณกว้างที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 


ส.ส.รายงานตัว_๑๙๐๕๒๔_0012.jpg

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์อัลจาซีรารายงานว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 เป็นครั้งแรกของไทยในรอบเกือบ 5 ปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร และถูกจัดขึ้นโดยมีเงื่อนไขเอื้อประโยชน์ต่อพรรคที่มีขนาดเล็กและพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร เพราะนอกเหนือจาก ส.ส. 500 ที่นั่งในสภา ยังมี ส.ว. 250 ที่นั่งที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร สามารถออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ด้วย

หลังจากการเลือกตั้งผ่านมา 2 เดือน และเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย แต่วันเปิดสภาครั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าทหารยังเป็นผู้คุมสภาพทางการเมืองไทย เพราะฝ่ายที่ประกาศตัวสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอนาคตใหม่ ต่างต้องเผชิญกับการฟ้องร้องดำเนินคดีที่อาจส่งผลกระทบต่อการรับตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงการพิจารณาคำร้องของศาล อาจส่งผลกระทบต่อจำนวน ส.ส.ของทั้งสองพรรค 

โดยเฉพาะกรณีล่าสุด 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกคณะผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในกรณีที่เขาถูกสอบสวนว่าละเมิดกฎหมายเลือกตั้งจากการถือหุ้นบริษัทสื่อ นอกจากนี้ยังมีการนัดหมายฟังความคืบหน้าในชั้นศาลอีกครั้งวันที่ 28 พ.ค. กรณีที่ธนาธรและสมาชิกพรรคอนาคตใหม่อีก 2 ราย ถูกฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) กล่าวหาว่ากระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สืบเนื่องจากการนำเข้าข้อมูลเชิงวิพากษ์รัฐบาลทหาร และ คสช.กล่าวว่าเป็น 'ข้อมูลอันเป็นเท็จ'

อัลจาซีรารายงานว่า พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและมีจำนวน ส.ส.ในสภามากที่สุด คือ 136 เสียง รองลงมา คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งประกาศชัดเจนว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ก่อรัฐประหาร ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย มี ส.ส. 115 เสียง ตามด้วยอันดับ 3 คือ พรรคอนาคตใหม่ มี ส.ส. 80 เสียง แต่พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.ในสภามากเป็นอันดับ 4 และ 5 กลับเป็น 'กุญแจสำคัญ' ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองพรรคจะเลือกอยู่กับฝั่งประชาธิปไตยหรือฝั่งสนับสนุนรัฐบาลทหาร


ส.ส.รายงานตัว_๑๙๐๕๒๔_0010.jpg

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคการเมืองไทยในปัจจุบันไม่ได้เสียงข้างมากในสภา ไม่ว่าจะเป็นฝั่งประชาธิปไตยหรือฝั่งที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร ย่อมส่งผลให้เกิดรัฐบาลผสมที่ไม่เข้มแข็ง และกองทัพอาจใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจควบคุมหรือแทรกแซงทางการเมือง ซึ่ง 'นาดา ไชยจิตต์' นักสิทธิมนุษยชนที่สนับสนุนประชาธิปไตย ระบุว่า สภาพดังกล่าวจะยิ่งทำให้ประชาชนหวาดกลัว กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ด้าน ดร. พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดการณ์กับอัลจาซีราว่า ท้ายที่สุดแล้ว ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย 'น่าจะ' เลือกอยู่ฝั่งเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ หรืออาจจะเล่นเกมยื้อเวลาต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่การทำเช่นนั้นจะส่งผลให้ผู้ที่เคยลงคะแนนเลือกทั้งสองพรรค 'หมดความอดทน' ในที่สุด ส่วนพรรคเล็กอื่นๆ ก็น่าจะเลือกอยู่ฝั่งเดียวกับประชาธิปัตย์และ พปชร.

ขณะเดียวกัน 'พรรณิการ์ วานิช' โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์อัลจาซีราว่า การที่ผู้คนเห็นว่าระบบรัฐสภาไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศได้ ถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะเป็นการเปิดประตูให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้ง่ายดาย และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่คงจะเห็นภาพได้ชัดขึ้นภายในสัปดาห์ที่จะถึง ซึ่งคงจะได้รู้กันว่าประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าหรือจะต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบ คสช.ไปอีก 3 หรือ 4 ปี

นอกจากนี้ 'ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ' สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยังได้เรียกร้องไปถึง ส.ว. 250 เสียงที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้ "เคารพเสียงประชาชน" ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะเป็นภาพสะท้อนว่าคนไทยจำนวนมากต้องการประชาธิปไตย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: