ไม่พบผลการค้นหา
11 ประธานรัฐสภา คือ จำนวนประมุขนิติบัญญัตินับตั้งแต่ริเริ่มคิดก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งที่ 3 จนนำไปสู่การก่อสร้างอย่างเป็นทางการกินเวลาถึง 1 ทศวรรษด้วยงบประมาณก่อสร้างมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

ตำนานอาคาร ‘รัฐสภา อู่ทองใน' กำลังจะปิดฉากลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2561 หลังยืนตระหง่านรับใช้สมาชิกรัฐสภา ทั้งนักเลือกตั้ง - นักลากตั้ง หลายชุดหลายสมัย ตั้งแต่พ.ศ. 2517 กินเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ หรือราว 44 ปี

เพื่อเริ่ม 'ปฐมบท' นับหนึ่ง 'สัปปายะสภาสถาน' อาคารัฐสภาแห่งใหม่ย่านเกียกกาย ที่อยู่ระหว่างงานสถาปัตย์ตกแต่งภายใน และงานระบบ ให้สอดรับตามยุคสมัย มุ่งหน้าสู่ความเป็น ‘Digital Parliament" ให้แล้วเสร็จเมื่อสิ้นพ.ศ. 2562

เมื่อมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของไอเดีย การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จะพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2535 เนื่องจากเล็งเห็นความจำเป็นของพื้นที่ ที่คับแคบไม่ตอบสนองต่อการใช้งานของสมาชิกรัฐสภา ขยับขยายไม่ได้ ข้าราชการหลายพันคนต้องกระจัดกระจาย ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามอาคารภายนอก

เช่น อาคารทิปโก้ อาคารกษาปณ์ (เดิม) อาคารสุขประพฤติ และอาคารดีพร้อม จนนำไปสู่การศึกษาถึงการหาพื้นที่และการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่อย่างจริงจัง

รัฐสภา ประชุมสภา 00_Hkg10090284.jpg

(ห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา อู่ทองใน ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2517 ใกล้จะกลายเป็นตำนาน สมาชิกผู้ทรงเกียรติจะต้องย้ายประชุมที่รัฐสภาแห่งใหม่ในปลายปี 2562)

ระหว่างพ.ศ. 2535 - 2551 ที่ทำการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้าง มีประธานรัฐสภาเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น 9 คน เริ่มตั้งแต่ นายมารุต บุนนาค (พ.ศ.2535) นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ (พ.ศ.2539) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พ.ศ.2540-2543)

นายพิชัย รัตกุล (พ.ศ.2543) นายอุทัย พิมพ์ใจชน (พ.ศ.2544-2548) นายโภคิน พลกุล (พ.ศ.2548-2549) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ (พ.ศ.2550-2551) นายยงยุทธ ติยะไพรัช (พ.ศ.2551) และนายชัย ชิดชอบ (พ.ศ.2551)

ตัวเลือกฐานที่มั่นด้านนิติบัญญัติ มีความหลากหลาย กระจายอยู่ทั้งเขตกรุงเทพ และต่างจังหวัด อาทิ ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณสวนจตุจักร ที่ดินโรงงานยาสูบใกล้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ดินบริเวณสนามม้านางเลิ้ง

ที่ดินเรือนจำกลางคลองเปรม ที่ดินกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์บางเขน ที่ดินบริเวณสวนสัตว์ดุสิต ที่บริเวณ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่ดินในโครงการสุวรรณภูมิซิตี้ จ.สมุทรปราการ และที่ดินเข้าถ้ำพระ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เป็นต้น 

ชัย ชิดชอบ 20080822110214_1570.jpg

(ชัย ชิดชอบ ขณะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา เมื่อปี 2551 เห็นชอบใช้พื้นที่เกียกกายก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่)

รวมเวลาเฟ้นหาพื้นที่กว่า 16 ปี ก่อนได้ข้อยุติในสมัยของ ปู่ชัย นายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา มีมติเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2551 เห็นชอบให้ พื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร(เกียกกาย) เขตดุสิต แปลงติดแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 119 ไร่ เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

สอดคล้องไปกับผลการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ความสำคัญกับทำเล ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เริ่มต้นจากพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ 1 มีถนนราชดำเนินเป็นแกนเชื่อมความต่อเนื่องของกาลเวลา มีหมุดหมายตามเส้นทาง หากลากไปทางทิศเหนือ ก็จะไปตกพื้นที่ดังกล่าว

จากนั้นนำไปสู่การประมาณการงบประมาณในการก่อสร้าง โดย ครม. ยุคที่มี 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' เป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติในหลักให้เบิกจ่ายงบประมาณ โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2552 เป็นวงเงินทั้งสิ้น 22,987,266,200 บาท ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับผิดชอบโครงการนำเสนอ

รายจ่ายทั้งหมดจำแนกได้ ดังนี้

1.ค่าก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ 11,738,000,000 บาท

2. ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 205,440,000 บาท

3.ค่าออกแบบ 205,440,00 บาท

4.ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ 112,000,000 บาท

5.ค่าชดเชยและค่าซื้อที่ดิน 7,139,486,200 บาท

6.งานสาธาณููปโภค 586,900,000 บาท

7.ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร 3,000,000,000 บาท

ล่วงถึง 27 พ.ย. 2552 ก็ได้ผู้ชนะการประกวดแบบ จากทั้งหมด 131 แบบ ตกเป็นของทีม สงบ 1051 ของนายธีรพล นิยม นายเอนก เจริญพิริยะเวศ นายชาตรี ลดาลลิตสกุล และนายปิยเมศ ไกรฤกษ์ ที่เสนอแนวคิด สัปปายะสภาสถาน อันหมายถึง สถานที่ประกอบกรรมดี

วางอยู่บนอุดมคติแบบศาสนาพุทธ มีเครื่องยอดสถาปัตยกรรมไทย อยู่กลางอาคาร สะท้อนเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมแบบไทยๆ มีพื้นที่ใช้สอย 307,000 ตารางเมตร ครอบคลุมที่จอดรถ 2,000 คน มีลานประชาธิปไตยสำหรับชุมนุมเรียกร้อง พร้อมด้วยสโมสรสมฐานะสมาชิกอันทรงเกียรติ

ห้องประชุมสภา รัฐสภา Meeting.jpg

(ห้องประชุมรัฐสภา สัปปายะสภาสถาน)

นับเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ยาวเหยียดสำหรับรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อย่างเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการประกวดราคา จนได้ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสนอราคาก่อสร้างและอาคารประกอบต่ำสุดที่ 12,280,000,000 บาท สูงกว่าราคาที่เคยตั้งไว้ที่ 11,738,000,000 บาท

ก่อนนำไปสู่การลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2556 กำหนดเวลาแล้วเสร็จภายใน 900 วัน สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ย.2558 โดยมี 'ขุนค้อน' นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาขณะนั้น เป็นสักขีพยาน เริ่มก่อสร้างจริงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2556

ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้หน่วยงานในพื้นที่และชุมชน เพื่อส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้าง ตามงบฯ ที่วางไว้ 7 พันล้านบาท เช่น โรงเรียนโยธินบูรณะ บ้านพัก ม.พัน 4 รอ. โรงเรียนช่างกลกรมการขนส่งทางบก    

รัฐสภาใหม่ itled.jpg

(การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย แปลงติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา)

ระหว่างการก่อสร้างปี 2557 - 2560 เกิดอุปสรรคหลายครั้งหลายครา ไม่ว่าจะเป็น การส่งมอบพื้นที่ที่ไม่เป็นตามกำหนดของสัญญา เพราะ เจ้าของพื้นที่เดิม หลายหน่วยงาน ส่งพื้นที่ให้ล้าช้า เนื่องจากต้องนำเงินที่ได้ไปสร้างสำนักงานใหม่ เช่น โรงเรียนโยธินบูรณะ ที่ต้องรอการก่อสร้างโรงเรียนใหม่ พอเสร็จแล้วก็ยังย้ายทันทีไม่ได้ ต้องรอปิดภาคการศึกษา

ถัดมาเรื่องการขนย้ายดิน กว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร พบว่า มีการขนดินจำนวนหนึ่งไปถมที่ดินของบริษัทเอกชน แทนที่จะบริจาคให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ตามแผนที่วางไว้

นำไปสู่การ เด้ง 'จเร พันธุ์เปรื่อง' พ้นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด้วยอำนาจพิเศษมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พ่วงด้วยคำสั่งสอบวินัยร้ายแรง จาก ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ ประธาน สนช.

กว่าจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ให้ผู้รับเหมา ก็ปาเข้าไปวันที่ 11 พ.ย. 2559

โดยก่อนหน้านั้น กลางปี 2559 ก็มีเหตุสะดุด เรื่องการจัดหาไม้สัก 5,018 ต้น อีกครั้ง ต้องร้องขอให้องค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ ให้การช่วยเหลือ เพราะมิอาจใช้วัสดุทดแทนอื่นได้ เนื่องจาก ไม้สักคือดีเอ็นเอคนไทย

ผลกระทบจากความล่าช้าทั้งหมด นำไปสู่การขยายเวลาจากสัญญาหลัก 900 วัน ทั้งสิ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรก  387 วัน : 25 พ.ย. 2558 - 15 ธ.ค. 2559

ครั้งที่สอง 421 วัน : 16 ธ.ค. 2559 - 9 กุมภาพันธ์ 2560

และครั้งที่สาม 674 วัน : 10 ก.พ. 2560 -  15 ธันวาคม 2562

รวมเฉพาะวันเวลาที่ขยายเวลาทั้งสิ้น 1,482 วัน

หากนำไปรวมกับสัญหลักจะเท่ากับ 2,382 วัน หรือคิดเป็นเวลา 6 ปีครึ่ง สำหรับการก่อสร้าง ‘สัปปายะสภาสถาน’ ของสมาชิกผู้ทรงเกียรติ        


แต่หากคิดเล่นๆ กับเวลาที่บานปลายออกมา ในกรณีตามเรทค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท ก็จะพบว่า มูลค่าของเวลาที่เสียไป 1,482 วัน ที่ขยายกันมา 3 ครั้งคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 17,784 ล้านบาท หรือเท่ากับว่าเม็ดเงินก้อนนี้ สามารถก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้อีก 1 หลัง!


รัฐสภา.jpg

(พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนปัจจุบันกับภารกิจเร่งรัดก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ให้เสร็จทันตามกำหนดปลายปี 2562)

นอกเหนือจากเวลาที่บานปลายแล้ว ยังมีเรื่องของ พื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาแบบครั้งแรกเริ่ม 307,000 ตารางเมตร เป็น 424,000 ตารางเมตร ส่งผลให้ ลานจอดรถที่ร่างไว้ 2,000 คัน ต้องเพิ่มขึ้นไปตามสัดส่วนของกฎหมายที่ 3,973 คัน ทำให้ต้องหาแผนรองรับ เบิกงบประมาณเพิ่มเติม

เช่นเดียวกันกับ งบประมาณของระบบโครงข่ายไอซีที สารสนเทศ และโสตทัศนูปกรณ์ ที่งอกจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 8,600 ล้านบาท สูงขึ้นจากเดิมถึง 5,600 ล้านบาท ก็อยู่ระหว่างรอ ครม. อนุมัติ

เมื่อนำเงินก้อนนี้รวมกับค่าก่อสร้างอาคาร 12,000 ล้านบาท ก็จะส่งให้ราคาอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ตกอยู่ที่ราคา 48,000 บาทต่อตารางเมตร โดยประมาณ

ล่าสุด (นับถึงวันที่ 27 มี.ค. 2561) โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ใช้เวลาก่อสร้างไปแล้วทั้งสิ้น 1,824 วัน เหลือเวลาอีก 558 วัน ก่อนถึงกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 15 ธ.ค. 2562

หากนับจากวันที่ วันที่ 27 พ.ย. 2552 สัปปายะสภาสถาน ที่ชนะการออกแบบ ก็ทะลุเกิน 1 ทศวรรษ       

ยิ่งย้อนประวัติศาสตรื รัฐสภาใหม่ แห่งที่ 3 รวมเวลาการออกแบบและก่อสร้าง ผ่านนายกรัฐมนตรี ทั้งรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหาร ที่มาจากการเลือกตั้งและการยึดอำนาจ รวม 5 คน คือ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผ่านประธานรัฐสภา 3 คน คือ นายชัย ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย

ผ่านฝ่ายปฏิบัติผู้รับชอบโดยตรงอย่างเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอีก 5 คน คือ นายพิทูร พุ่มหิรัญ นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย นายจเร พันธุ์เปรื่อง นางสายทิพย์ เชาวลิตถวิล และนายสรศักดิ์ เพียรเวช 

ทั้งหมด คือ สถิติของมหากาพย์ ‘สัปปายะสภาสถาน’ หรือ สถานที่ประกอบกรรมดี ของเหล่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติในอนาคตอันใกล้นี้

แม้ปฐมบทแห่งการก่อสร้างจะกินเวลายาวนานนับ 10 ปี แต่จะเปิดอย่างเป็นทางการให้บรรดาผู้ทรงเกียรติเข้าไปประชุมได้พร้อมหน้ากันตามกำหนดปลายปี 2562 หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป !

รัฐสภาใหม่  Cover Template.jpg

ล้วงตัวเลข มหากาพย์ ‘สัปปายะสภาสถาน’

รัฐสภาแห่งใหม่ของ ผู้ทรงเกียรติ

1 - ทศวรรษ ระยะเวลาออกแบบ ก่อสร้าง ‘สัปปายะสภาสถาน’

2 - หมื่นล้านบาทเศษ งบประมาณการก่อสร้างทั้งอาคารและระบบไอซีที 

3 - ประธานรัฐสภา ช่วงเวลาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่

5 - เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง

5 – รัฐบาล ก่อสร้าง ‘สัปปายะสภาสถาน’

7 - พันล้านบาทเศษ สำหรับซื้อที่ดินและเวนคืน

8 – สิงหาคม 2551 เห็นชอบพื้นที่เกียกกาย ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

8 - มิถุนายน 2556 เริ่มต้นก่อสร้างสัปปายะสภาสถาน

9 - ประธานรัฐสภา หาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

11 – ประธานรัฐสภา หาพื้นที่ – สร้างรัฐสภาแห่งใหม่เสร็จ

12 - ล้านบาท ค่าปรับต่อวัน

15 - ธันวาคม 2562 กำหนดเวลาแล้วเสร็จ หลังขยายเวลามาแล้ว 3 ครั้ง

16 - ปี ที่ใช้หาโลเคชั่นก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

119 – จำนวนไร่ ของรัฐสภาแห่งใหม่

300 – ที่นั่งห้องประชุมพระจันทรา (ส.ว.)

800 – ที่นั่งห้องประชุมพระสุริยัน (ส.ส.)

900 - วันก่อสร้างที่กำหนดตามสัญญาหลัก

1,482 - วันก่อสร้างที่ขยายเวลา 3 ครั้ง

2,000 - คัน ที่จอดรถตามแบบครั้งแรก

2,382 – วัน ก่อสร้างตามสัญญา + ขยายเวลา 3 ครั้ง  

3,973 - คัน ที่จอดรถตามแบบที่พัฒนา

5,018 - จำนวนไม้สัก สำหรับก่อสร้าง

5,600 - ล้านบาท งบประมาณไอซีทีที่เพิ่มขึ้น

40,000 – ราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตร

307,000 - ตารางเมตร พื้นที่ใช้สอยตามแบบครั้งแรก

424,000 – ตารางเมตรพื้นที่ใช้สอยหลังพัฒนาแบบ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง