วันที่ 12 มี.ค. 2564 เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุกับ 'วอยซ์' ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แต่ต้องทำประชามติจะให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ ว่า ต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นก่อให้เกิดการตีความคนละทิศคนละทาง จึงต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีเหตุผลในการวินิจฉัยอย่างไรบ้าง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียว
เสรี กล่าวว่า หากดูคำวินิจฉัยดังกล่าว ในเบื้องต้นจะเห็นว่า ก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีการทำประชามติทั้งก่อนและหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะต้องทำประชามติตั้งแต่แรกเริ่มของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในรัฐสภาขณะนี้จึงไม่สามารถไปต่อได้
"เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะโหวตในวาระ 3 วันที่ 17 มี.ค. นี้หากปรากฏว่ามีการโหวตรับร่างดังกล่าว ก็จะเท่ากับการจบกระบวนการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงจะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าต้องให้มีการทำประชามติก่อน นั่นจะมีสมาชิกรัฐสภา ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกรอบ ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 นั้น ชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่" เสรี กล่าวและว่า "อย่างนั้น ไอ้ที่ผ่านมาทั้งหมด มันเดินต่อไม่ได้แล้วแหละ เพราะเท่ากับไม่ได้ถามประชาชน"
เสรี ระบุ ในวันที่ 17 มี.ค.ที่จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยวาระเดิม คือการพิจารณาวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จะต้องหารือให้ตกผลึกก่อนว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ รัฐสภาจะเดินหน้าอย่างไร ดังนั้น อยากให้สมาชิกรัฐสภา ยกคำว่าฝ่ายออกไปก่อน แต่ให้มีการพูดคุยเพื่อตกลงกันด้วยเหตุผล ว่าจะเดินต่อไปได้หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อหาข้อยุติ
ชี้ประเทศยังแบ่งฝ่าย อยากได้ รธน.ดีต้องลดความเกลียดชัง ส.ว. - คสช.
เสรี กล่าวว่า ในการประชุมวันที่ 17 มี.ค. หากไม่มีข้อยุติ ก็ต้องมีการโหวตในวาระ 3 แพ้ชนะอย่างไรก็ต้องเอาไปตามนั้น หากมีการโหวตจริง ตนก็จะโหวตไปตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ชัด ก็ต้องรอดูให้มันชัด เพื่อความปลอดภัยที่สุด ถูกต้องที่สุด
ส.ว.รายนี้ ยังมองไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ หากต้องนับหนึ่งใหม่ว่า ต้องดูสภาพประเทศก่อน เพราะประเทศตอนนี้มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีม็อบ มีการแบ่งแยก มีความเห็นที่แตกต่างกันมาก บรรยากาศของประเทศในตอนนี้หากจะทำรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดการทะเลาะกัน การจะจัดทำรัฐธรรมนูญได้นั้น จะต้องมีความเห็นพ้องต้องกัน หากยังแบ่งฝ่าย พูดจาให้ร้าย เสียดสี ไม่มีทางที่การจัดทำรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ ดังนั้น ถ้าต้องการเห็นรัฐธรรมนูญดี ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน ลดความเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็น ความเกลียดชังที่มาของรัฐธรรมนูญ ส.ว. คสช. มิเช่นนั้น จะไม่เกิดความร่วมมือระหว่างกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเดินหน้าไม่ได้
"ถ้าคิดว่า ส.ว.ถ่วงเวลา คิดแค่นี้ก็วนกันอยู่ในอ่าง เมื่อไม่ไว้ใจกันแล้วจะร่วมมือกันได้อย่างไร แม้จะไปด่าไปว่าเขาอย่างไร แต่ถ้าไม่ร่วมมือกันก็ไม่สำเร็จ เพราะกติกาปัจจุบันมันเป็นแบบนี้ รูปแบบถูกสร้างไว้อย่างนี้ จึงต้องมาคุย ตกลงกัน ว่าจะร่วมมือกันได้อีกอย่าง ถ้าไม่ชอบ ส.ว.ก็ต้องมาดูว่า ยอมรับ ส.ว.ได้ขนาดไหน"
เสรี ทิ้งท้ายว่า สภาพบ้านเมืองปัจจุบัน ประชาชนยังลำบาก เศรษฐกิจต้องได้รับการฟื้นฟู แต่หากดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องทำประชามติถึง 2 ครั้ง บวกกับประชามติที่รัฐธรรมนูญบังคับอีก 1 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง แล้วยังต้องรวบงบประมาณการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เลือกตั้ง ส.ส. เลือกตั้ง ส.ว. รวมงบประมาณแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อที่จะเอาชนะกัน ซึ่งจะดีกว่า หากเอางบประมาณส่วนนี้ ไปดูแลประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง