ไม่พบผลการค้นหา
'วันนอร์' ชี้ทำประชามติก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะปลอดภัย-ไม่เสี่ยงถูกยื่นศาล สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่ทำประชามติได้เลย มองเปิดประชุมสภาฯ ถกงบฯ 68 ช่วง มิ.ย.เหมาะสม รอรัฐบาลส่งร่างฯ มา

วันที่ 24 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กล่าวถึงการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในช่วงวันที่ 5-6 มิ.ย. ตามที่มีกระแสข่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า จะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มาเมื่อใด แต่ส่วนตัวมองว่า หากเป็นช่วงเดือนมิถุนายนก็เป็นเรื่องดี

วันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ เนื่องจากรัฐบาลจะต้องไปทำประชามติในรอบแรกก่อน ซึ่งเห็นว่า จะแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม แต่มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ค้างคาอยู่ ถ้ารัฐบาลอยากเอาเข้าสมัยประชุมวิสามัญสภาฯ ก็พร้อม 

ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากใครเสนอมา สภาฯ ก็จะรับไว้พิจารณาส่วนจะบรรจุได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และต้องดูว่า จะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำหรับกรณีที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ประธานสภาฯ เร่งบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ก็สามารถเสนอมาได้ แต่จะบรรจุหรือไม่ ต้องดูอีกทีเพราะรัฐบาลก็มีมติว่า จะทำประชามติก่อน และต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าเสนอเข้ามาแล้วมีการพิจารณาไปแล้ว หากไปมีความขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ จนมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตก ก็จะเสียเวลาไปมากกว่าที่รัฐบาลได้ตัดสินใจว่าจะทำประชามติ 3 รอบ 

วันมูหะมัดนอร์ ย้ำถึงกระบวนการดังกล่าวว่า อย่างน้อยการทำประชามติรอบแรก ก็เพื่อถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าอยากจะมีการแก้ไข ก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็ค่อยเสนอร่างเข้ามาแก้ไขก็จะทำให้ไม่เสียเวลา ซึ่งถือว่า เป็นไปตามขั้นตอนและปลอดภัย 

ขณะที่กรณีมีบางฝ่ายเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายประชามติก่อน ประธานสภาฯ ระบุว่า ตอนนี้กฎหมายประชามติมีอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ทำประชามติก็สามารถทำได้เลย เว้นแต่ว่ารัฐบาลเห็นว่า อยากจะแก้ไขบางมาตราก่อน ก็เสนอมาแก้ไขได้ในช่วงสมัยวิสามัญ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะมีการเสนอเข้ามาหรือไม่ แต่ความจริงกฎหมายที่มีอยู่ก็สามารถทำประชามติได้ เพราะทำแค่ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่งหนึ่ง เพราะหากทุกคนทุกฝ่ายช่วยกันรณรงค์ทั้งรัฐบาล สื่อมวลชน ประชาชน เมื่อรณรงค์แล้วจึงไม่คิดว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง แต่หากประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่งก็แสดงว่าประชาชนไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น 

เมื่อถามว่า หากการทำประชามติครั้งแรกแล้วประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่งจะทำให้งบประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทสูญเปล่าหรือไม่นั้น วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายเป็นเช่นนั้น แต่ส่วนตัวยังมั่นใจว่า ประชาชนจะออกมาเกินครึ่งเพราะเวลาเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับไหน ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง ส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% และระยะหลังมีการรณรงค์มาก ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิ์กว่า 80%