“จริงอยู่ว่า สิ่งที่เราเรียนรู้ได้ในตอนนี้ทำให้มีการสบประมาทถึงความอันตรายต่อเราจากไวรัสตัวนี้ ถึงแม้ว่าโอไมครอนจะก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงน้อย แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงอาจจะพุ่งสูงเกินความพร้อมของระบบสาธารณสุขอีกครั้ง” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO เตือน โดยชี้ว่าโลกของเรายังเตรียมการเพื่อรับมือกับเชื้อโอไมครอนไม่มากพอ
โอไมครอนถูกตรวจพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ผ่านมาแล้ว 3 สัปดาห์ โลกของเรากำลังพบกับการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าวทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ โดยมีการตรวจพบประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้วกว่า 77 ประเทศ และไม่ได้หมายความว่าประเทศที่ยังไม่ตรวจพบ จะไม่มีผู้ติดเชื้อโอไมครอน
หลังจากแอฟริกาใต้ประกาศพบเชื้อโอไมครอน หลายประเทศตัดสินใจประกาศห้ามการเดินทางเข้าออกจากแอฟริกาใต้โดยทันที ทั้งนี้ สหประชาชาติเคยออกมาติงมาตรการแบนการเดินทางจากประเทศอื่นๆ ต่อแอฟริกาใต้ว่าไม่มีความเป็นธรรม อย่างไรก็ดี มาตรการการแบนการเดินทางจากแอฟริกาใต้ไม่ได้ทำให้โอไมครอนจำกัดวงการระบาดอยู่แค่ในแอฟริกาใต้แต่อย่างใด
จากรายงานจากทางสหราชอาณาจักรพบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อใหม่ของลอนดอนกว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ทำให้ช่วยยืนยันได้ว่าการระบาดของเชื้อโอไมครอนมีอัตราการแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะเชื้อเดลตากว่า 2-5 เท่าตัว นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังมีการพบผู้เสียชีวิตจากเชื้อโอไมครอนแล้วเป็นรายแรกของโลก ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรได้ยกเลิกมาตรการการแบนการเดินทางจากแอฟริกาใต้แล้ว
“โอไมครอนกำลังระบาดในอัตราที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน เมื่อเทียบกับเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ ผมอยากจะพูดให้ชัดว่า วัคซีนอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ประเทศใดหลุดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่วัคซีน แต่คือหน้ากาก การเว้นระยะห่าง การระบายอากาศ หรือการรักษาความสะอาดมือ ทำมันทั้งหมด ทำมันอย่างสม่ำเสมอ ทำมันให้ดี” กีบรีเยซุสย้ำถึงปัญหาความเท่าเทียมทางวัคซีน ที่ประเทศร่ำรวยมีวัคซีนใช้ฉีดจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศยากจนหลายแห่งกลับเข้าถึงวัคซีนได้อย่างยากลำบาก
ที่มา: