'เทพไท เสนพงศ์' ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ผ่าทางตันการเมืองผ่าน 'วอยซ์ ออนไลน์' โดยวิเคราะห์เหตุการณ์หลังวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็นกำหนดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.
สูตรเด็ดผ่าทางตันของ 'เทพไท' คือ รัฐบาลปรองดอง โดยหวังว่าจะเป็นทางออกจากวิกฤตการแย่งชิงตั้งรัฐบาลของสองขั้วการเมืองในขณะนี้
'เทพไท' อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช 4 สมัย เคยผ่านงานโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุดในสมรภูมิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562
'เทพไท' สามารถเอาชนะผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ จนได้เป็นว่าที่ ส.ส.ด้วยคะแนน 33,310 คะแนน
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะทำให้ตัวเต็ง ส.ส.หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้จะต้องสอบตก
จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เสียงมากพอเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้
ผลเลือกตั้งสะเทือนถึงขั้น 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ต้องแสดงสปิริตทิ้งหัวหน้าพรรค
ขณะที่เสียงในพรรคประชาธิปัตย์แตกออกมาเป็นสองขั้ว
ขั้ว 1 ต้องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
อีกขั้ว 1 คัดค้านนายกฯ ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และขอเป็นฝ่ายค้านอิสระ
ทิศทางการเมืองหลังวันที่ 9 พ.ค. ทำให้ 'เทพไท' มองว่าการเมืองจะถึงทางตันแน่นอน และส่อจะเกิดเดดล็อก จนไม่สามารถได้รัฐบาลที่บริหารประเทศได้อย่างเสถียรภาพ
นายกฯ คนกลาง จึงเป็นหนทางที่ 'เทพไท' เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองในสภาฯ น่าจะยอมรับได้
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ. ปัจจุบันเป็นองคมนตรี
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD)
นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี
เป็น 4 ชื่อที่เขาโยนหินออกมาก่อนหน้านี้ว่ามีโอกาสเป็นนายกฯ คนกลางได้
เป็นความบังเอิญหลังเลือกตั้งเสร็จใหม่ๆ ผมไปขอบคุณชาวบ้าน แล้วชาวบ้านให้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองเมื่อผลเลือกตั้งออกมาแล้ว 2 สัปดาห์ ซึ่งชาวบ้านก็ถามว่าทำไมเมื่อก่อน แค่ 1 วันก็จัดรัฐบาลได้แล้ว ทำไม 2 สัปดาห์จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เขาเลยให้ผมวิเคราะห์ว่า เสียงของขั้วพรรคพลังประชารัฐมันก้ำกึ่งกับเสียงของพรรคเพื่อไทยมาก แล้วถ้าดูตัวเลขไม่เปลี่ยนแปลงสองขั้วนี้ ไม่มีทีท่าว่าจะจัดได้ เว้นแต่ตัวเลขจะเปลี่ยนไป ผมก็เลยวิเคราะห์ต่อทางออกน่าจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลปรองดอง ให้ทุกฝ่ายมารวมกัน นั่นคือที่มาแนวคิดเสนอรัฐบาลปรองดองแห่งชาติขึ้นมา
เป็นความคิดส่วนตัว 100 เปอร์เซ็นต์เลยนะ เป็นความคิดที่เกิดขึ้นท่ามกลางการพูดคุยที่วงสภากาแฟ แล้วเกิดด้วยความบังเอิญ แม้การใช้คำ ก็ยังคิดว่าจะใช้คำไหนที่ทุกพรรคการเมืองมีส่วนมา ถ้าเลี่ยงได้ก็ไม่อยากใช้คำว่ารัฐบาลแห่งชาติ แต่บังเอิญที่ตอนนั้นวิเคราะห์ มันฉุกละหุกก็เลยนึกขึ้นได้ใช้คำนี้รัฐบาลแห่งชาติ
โดยหลักการพรรคที่ได้คะแนนที่ 1 เขามีสิทธิจัดตั้งก่อนอยู่แล้วแต่ในสภาพความเป็นจริง การเมืองมันเลือกข้าง มันล็อกกันสองขั้ว เพราะฉะนั้นการจะปล่อยให้ขั้วพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล มันก็ไม่มีประโยชน์เลย ขณะที่ขั้วพรรคพลังประชารัฐ เขาบล็อกอยู่ เกิดสภาพสองขั้วแข่งจัดตั้งรัฐบาล ถึงแม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะแสดงสปิริตให้พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ผลก็ไม่ต่างจากนี้ หรือไม่พรรคเพื่อไทยอ้างว่าคะแนนนิยมมากกว่า คะแนนก็มีเท่านี้ พรรคการเมืองตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าจะจัดตั้งรัฐบาลกับใคร ถ้ามันยืนอยู่อย่างนี้มันก็จะไม่ได้รัฐบาลของคนใดคนหนึ่ง กลุ่มของพรรคพลังประชารัฐ 246 เสียง นี่สมมติรวมพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วก็ยังไม่ถึงครึ่ง ในขณะที่พรรคเพื่อไทยตอนนี้รวมได้ 254 เสียง 254 พรรคเพื่อไทยจะต้องทำถึง 376 ถึงจะได้นายกฯ เพราะไม่มีแต้มต่อ
พลังประชารัฐได้ตัวนายกฯจริง แต่ต่ำกว่า 250 เสียง พรรคเพื่อไทยคะแนนเกิน 250 จริง แต่ไม่ถึง 376 เสียง ไม่สามารถหาตัวนายกฯ ได้ เพราะฉะนั้นทั้งสองส่วนก็จะเกิดเดดล็อกแบบนี้
สมการสูตรจัดตั้งรัฐบาลมันไปไม่ได้อยู่แล้ว ความเห็นผมก็คือว่า การเลือกประธานสภาฯ มันเกิดขึ้นได้ก่อน เพราะไม่มี ส.ว. มาเกี่ยวข้อง ใครได้เสียงข้างมาก คนนั้นก็เป็นประธานสภาฯไป ประธานสภาฯ ควรทำหน้าที่ประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติเชิญหัวหน้าพรรคการเมือง หรือเชิญพรรคการเมืองทั้งหมดมาคุยกัน มาปรองดองกัน และมารับฟังความคิดเห็นกันว่า
เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองมันเป็นอย่างนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติที่เรามาจากเลือกตั้งทั้งหมดจะเอาอย่างไร เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ ผมเลยเสนอ ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะไปเอานายกฯ ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ผมคิดว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนยอมรับ จึงเป็นที่มาว่าควรหานายกฯ คนกลาง แล้วนายกฯ คนกลางมาได้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญเลย เมื่อเราไม่สามารถเสนอชื่อผู้มีรายชื่อในพรรคการเมืองได้ ก็ใช้มาตรา 272 เอาคนนอกเข้ามาเมื่อเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ คนกลาง ผมเชื่อว่าทุกพรรคถอยคนละก้าว ก็เกิดจุดพร้อมใจกัน จุดร่วมกัน นั่นคือเอานายกฯ คนกลางมาที่ทุกฝ่ายยอมรับ
ถ้าหากประธานสภาฯ เชิญทุกพรรคไปคุย ผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมไปคุย ผมเชื่ออย่างนั้น ผมยังไม่ถามใคร เราเคารพกติกาอยู่แล้ว เมื่อเขาเชิญก็ไปคุยกัน
พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องรอให้มี ส.ส.ใหม่มาเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพื่อมาประชุมกับ ส.ส.ใหม่แล้วมีมติ ส่วนจะร่วมรัฐบาลเป็นความเห็นของสมาชิกพรรค ผมขายความคิดกับทุกพรรคการเมือง จริงๆพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ขั้วหลักของการจัดตั้งรัฐบาล ตอนนี้การจัดตั้งรัฐบาลมีสองขั้ว คือ ขั้วพรรคพลังประชารัฐ กับขั้วพรรคเพื่อไทย ของผมไม่ใช่ขั้ว ไม่ใช้เสนอขั้วที่สาม เพียงแต่ผมเสนอทางออกของสถานการณ์ในตอนนี้ เมื่อเจอทางตัน มันไปไม่ได้ มันเดดล็อก ก็ควรจะเอาจุดนี้ เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีมติใดๆ ต้องรอกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ผมไม่เสนอให้เป็นมติพรรคนะ เพราะถ้าผมเสนอเป็นมติพรรค ก็เหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของเรื่องนี้ เจ้าของเรื่องนี้ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ มันเป็นเรื่องของทุกพรรคการเมืองที่จะต้องมาคุยกัน
ผมเสนอภารกิจของรัฐบาลแห่งชาติว่าแก้ 1.ปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน 2.แก้รัฐธรรมนูญ และ3.ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ
ผมเสนอเป็นตัวอย่าง ตอนแรกผมคิดถึงองคมนตรีก่อน เพราะมองว่าบุคคลที่เป็นองคมนตรีน่าจะเป็นกลางทางการเมือง ก็เลยเสนอชื่อ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ. แต่ถ้าหลายคนติดขัดท่านมียศเป็นทหาร ผมก็เสนอองคมนตรีที่เป็นพลเรือน ก็คือ นายพลากร สุวรรณรัฐ ภารกิจรัฐบาลปรองดอง มันมีภารกิจแรกแก้ปัญหาปากท้องประชาชน คนที่เหมาะสมคือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) มาช่วยการเมืองทุกฝ่าย เหมือนมาช่วยส่วนรวม
ส่วนท่านชวน หลีกภัย ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์เลย ที่คิดถึงท่านชวน คือตัวแทน ส.ส. 500 คน ถ้าไม่เสนอชื่อ ส.ส.ใครสักคน เดี๋ยวเพื่อน ส.ส. จะบอกว่าทำไมคุณเสนอชื่อหลายคนได้ แต่ตัวแทนคนที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีเลยหรือ ผมก็ลองดูในสภา 500 คน ก็เห็นท่านชวนพรรษาทางการเมืองมีสูงสุด มีประสบการณ์เป็นนายกฯ แล้ว และท่านก็เป็นที่เคารพนับถือของ ส.ส.ทั้งสภา เพราะฉะนั้นเสนอท่านชวนให้ครบ 4 ชื่อเป็นตัวแทนคนที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าที่ประชุมพรรคการเมืองยอมรับ ผมไม่ขัดข้องเลย
"แต่ถ้าประชาธิปัตย์อยู่แบบนี้ไม่ร่วมรัฐบาลปรองดองนะ ประชาธิปัตย์มีอำนาจต่อรองสูงที่สุดในวันนี้"
ถ้า ส.ส. ในสภาล่างร่วมมือกันคะแนน 2 ใน 3 มันได้อยู่แล้ว 500 เสียง ก๊อกที่สองมาโหวตนายกฯ 376 เสียง แค่สภาล่างก็ครบแล้ว 376 เสียง ไม่ต้องพึ่ง ส.ว. ก็ได้ แต่ผมเชื่อว่า ถ้า ส.ส. และพรรคการเมืองจับมือกันได้ ปรองดองกันได้ ลงมติกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส.ว. 250 ผมว่าไม่มีใครค้าน ทุกคนจะทำตามเจตนารมณ์ของ ส.ส.ทั้งหมด
ผมไม่ทราบในความเห็นและความหมายของพรรคเพื่อไทย ไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน เพราะรัฐบาลนี้มาจากคนที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด คนเลือกตั้งกำหนด ถ้าจะอ้างว่าไม่มีการตรวจสอบ ผมเชื่อว่ามีการตรวจสอบได้จากสมาชิกรัฐสภา และไม่ต้องกังวลเรื่องการตรวจสอบ การตรวจสอบในสภาเข้มข้นน้อยกว่าการตรวจสอบนอกสภา ถ้าในสภาไม่ตรวจสอบกระแสสังคม โซเชียลมีเดียตรวจสอบเข้มข้นกว่าในสภาอีก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แคร์กับกระแสสังคมโซเชียลมีเดียมากกว่าสมาชิกในสภาด้วยซ้ำ
ที่บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ผมว่าเป็นประชาธิปไตย ที่พรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วย ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังคิดว่าวันนี้ยังมีความหวังว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ว่าขั้วใดขั้วหนึ่ง คำตอบคือรออีกสักระยะหนึ่งหลังวันที่ 9 พ.ค. ที่ กกต.ประกาศรับรองผล ตัวเลขจะนิ่ง ถึงวันนั้นพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยจะต้องตอบคำถามกับประชาชนว่าจะจัดตั้งรัฐบาลต่อไปจะเดินได้ไหม
การที่พรรคการเมืองจะจัดตั้งรัฐบาลจาก ส.ส. 250 เสียงไม่มีเสถียรภาพแน่นอน อย่างน้อยขาดไป 3 เสียง ประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ 3 เสียงอยู่แล้ว การนับองค์ประชุมไม่สามารถทำงานในกรรมาธิการได้เลย ไม่สามารถประชุมนอกสถานที่ได้ มันจะรัดตัวและเป็นปัญหาการทำงานในสภา กฎหมายการเงิน กฎหมายสำคัญ ถ้าแพ้โหวต รัฐบาลต้องลาออก ไม่ครบองค์ประชุมกฎหมายสำคัญก็เดินไม่ได้ จะเป็นปัญหาการทำงานในระบบรัฐสภาไม่ราบรื่น คนจะเบื่อหน่ายนักการเมืองและระบบรัฐสภา
ประชาธิปัตย์อยู่เฉยๆ ดีกว่าร่วมรัฐบาลปรองดอง ถ้าไปร่วมรัฐบาลปรองดอง บทบาทประชาธิปัตย์จะน้อย เพราะหากเรียงลำดับความสำคัญ ขนาดของพรรค จำนวน ส.ส. ประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นเบอร์ใหญ่ แต่ถ้าประชาธิปัตย์อยู่แบบนี้ไม่ร่วมรัฐบาลปรองดองนะ ประชาธิปัตย์มีอำนาจต่อรองสูงที่สุดในวันนี้ เพราะถ้าประชาธิปัตย์จะร่วมพลังประชารัฐจะต่อรองได้มาก เพราะถ้าขาดประชาธิปัตย์ คุณเป็นรัฐบาลไม่ได้ ถ้าจะต่อรองกับพรรคเพื่อไทย ต่อรองได้สูงมากอีก เพราะถ้าไม่มีประชาธิปัตย์คะแนนจะมากไม่ได้อีก
ประชาธิปัตย์เป็นตัวแปร อย่าคิดว่าเป็นขั้วที่สาม ประชาธิปัตย์ตอนนี้ถ้าพูดถึงเป็นตัวแปรที่ดีที่สุด จะบอกว่าผมเสนอรัฐบาลปรองดองเพื่อประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่จริง ถ้าประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ อยู่เฉยๆเพื่อรอโอกาสที่จะมีท่าทีกับการเมือง ประชาธิปัตย์จะมีประโยชน์ถ้าเดดล็อก ใช้มาตรา 44 ยกเลิกเลือกตั้งใหม่ ประชาธิปัตย์ก็จะได้มีโอกาสแก้ตัวหรือว่าใครไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งครั้งนี้โมฆะ ถ้าโมฆะไปเลือกตั้งใหม่ ประชาธิปัตย์ก็โอเค ไม่มีอะไรจะขาดทุน
ประชาธิปัตย์ผมคิดว่าทั้งหมดอยู่ที่ท่าทีมติพรรคว่าจะเอายังไงต่อไป ที่ผมเสนอทั้งหมดนี้มันเรื่องส่วนตัวผม ผมวิเคราะห์เอง ถ้าประชาธิปัตย์ไม่เสนอแนวทางอะไรเลย ประชาธิปัตย์จะได้เปรียบ การเสนอรัฐบาลปรองดอง ประชาธิปัตย์ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพียงแต่เสนอต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปได้
มันแล้วแต่สถานการณ์ จะถามว่าบ้านเมืองไม่ถอยหลังไปถึงยุค พล.อ.เปรม เหรอ ต้องถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ถอยหลังไปปี 2522 เหรอ รัฐธรรมนูญปี 21 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถอยหลังไป 30 - 40 ปี เพราะบรรยากาศ เพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ทำให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้เราต้องหาทางออกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มันเป็นจริง จะมองว่าถอยหน้าถอยหลังก็แล้วแต่ แต่หลังเลือกตั้งต้องมีรัฐบาลของประชาชน ปรองดองเพื่อให้บ้านเมืองเดินได้
ขอเวลาแค่ 2 ปีแล้วก็ยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งใหม่ดีกว่าคุณไม่มีรัฐบาลเลยแล้วคุณยุบสภาเลือกตั้งใหม่แล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นรัฐบาล มีมาตรา 44 อยู่ในมือพล.อ.ประยุทธ์ อีก
ภาพ - เสกสรร โรจนเมธากุล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง