17 พ.ย.2565 The Active ร่วมกับ คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา 'เลือกตั้งครั้งต่อไป อนาคตประเทศไทยเอาไงต่อ' ซึ่งมีตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง ได้แก่
• ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย
• พริษฐ์ วัชรสินธุ Policy Campaign Manager พรรคก้าวไกล
• อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า
• ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์
ในช่วงถามตอบ มีเยาวชนลุกขึ้นถามคำถามกับณัฐวุฒิเป็นการเฉพาะว่า "คิดเห็นอย่างไรกับมาตรา 112 และหากได้จัดตั้งรัฐบาลจะแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่"
ณัฐวุฒิตอบว่า จะขอตอบจากทัศนะส่วนตัว และอาจกล่าวได้ว่าก็เป็นมุมมองของพรรคเพื่อไทยด้วย ส่วนตัวมองว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเห็นว่ามีได้ เพราะหลายประเทศก็มี แต่มีเรื่องต้องพูดด้วยเหตุผล 2 เรื่อง คือ เนื้อหากับการบังคับใช้ เพราะปัจจุบันนี้ที่มาตรา 112 เป็นประเด็นใหญ่ในกลุ่มคนกว้างขึ้นทุกทีก็มาจากเนื้อหาและการบังคับใช้นี่เอง
ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า การกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ ควรได้รับการทบทวน การบังคับใช้โดยให้ใครก็ตามสามารถแจ้งความดำเนินคดีที่จังหวัดไหนก็ได้ แบบไหนก็ได้ เป็นเรื่องที่น่าห่วงใยกังวล และเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในระบบยุติธรรมก็พบมีปัญหาบางประการ เช่น การใช้ดุลพินิจในการให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี หรือกระบวนพิจารณาคดีที่บางกรณีไม่ได้ทำโดยเปิดเผย หรือมีเรื่องที่ถูกตั้งคำถามเรื่องหลักยุติธรรม หากยังคงเดินหน้าไปแบบเดิมจะไม่เป็นผลดีกับใครฝ่ายใดเลย กระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม
"ในทัศนะผม เรื่องนี้ทั้งละเอียดอ่อนและเปราะบางมากแล้ว ทั้งๆ ที่ควรจะพูดคุยกันได้ในที่ปลอดภัย ด้วยข้อเท็จจริง ด้วยเหตุผล และความเป็นไปของยุคสมัย ผมเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ควรต้องมีการพิจารณาเรื่องการบังคับใช้เป็นประเด็นแรกเสียก่อน เพราะขณะนี้กฎหมายมาตรานี้ หาได้หมายเพียงคุ้มครององค์ประมุขของรัฐเท่านั้นไม่ แต่ถูกขยายผลกลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งสูงสุดในสังคมไทย
"ฝ่ายที่บอกว่าควรแก้ก็กล่าวเหตุผลว่า อำนาจรัฐใช้กฎหมายมาตรานี้ขัดกับหลักนิติธรรม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ก็กล่าวหาฝ่ายที่จะแก้ว่ามีความมุ่งหมายโค่นล้มสถาบัน แล้วความเห็นของสองฝ่ายนี้ขณะนี้ไม่มีตรงกลางที่จะนั่งคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความปรารถนาดีต่อกันได้เลย เมื่อสังคมยังเป็นอย่างนี้อยู่ ผมเห็นว่า หากประกาศเป็นนโยบายของพรรคการเมือง กลับไปที่ประเด็นที่พูดก่อนหน้านี้ว่า จุดยืนและเครื่องหมายสำคัญทางการค้าของพรรคเพื่อไทย คือ เราจะประกาศนโยบายที่ทำสำเร็จได้จริง แต่เรื่องนี้ภายใต้บริบทของสังคมไทยปัจจุบัน เกรงว่าจะทำไม่สำเร็จได้จริง และสถานการณ์อาจจจะเดินไปถึงขึ้นพาลจะไม่ได้ทำเรื่องอื่น เช่น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาเรื่องรายได้ เรื่องหนี้ หรือเรื่องอื่นๆ ที่เราก็เห็นว่าสำคัญกับชีวิตประชาชนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
"ดังนั้นผมเห็นว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เรื่องที่จะต้องทำสำหรับประเด็นนี้คือ 1.ต้องดูแลการบ้งคับใช้ อย่าให้มีปัญหา หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทางการเมือง 2.กระบวนการใช้ดุลพินิจในการให้หรือไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขัง รัฐบาลสามารถแสดงท่าทีได้ ไม่ได้บอกให้รัฐบาลไปแทรกแซงกลไกศาล แต่ประสบการณ์ส่วนตัว ผมถูกจำคุก 8-9 เดือนเมื่อปี 2553 ประกัน 20-30 ครั้งไม่ได้รับการอนุญาต วันหนึ่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ในเวลานั้นยอมขึ้นศาลเป็นพยานไต่สวนการประกันพวกผม 9 คน ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คอป. พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ในฐานะนายตำรวจที่ได้รับมอบหมายประสานงานกับผู้ชุมนุมในปี 2553 ขึ้นเป็นพยาน หลังจากการไต่สวนครั้งนั้น พวกผม 9 คนได้รับการประกันตัว ดังนั้นผมคิดว่า รัฐก็ควรมีท่วงทำนองท่าทีในการหารือ เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นบาดแผลลุกลามในสังคม เพราะมันจะไม่เป็นผลดีกับใคร สถาบันใดเลย
"ผมเป็นพ่อคน ผมติดคุกมาแล้ว 3 รอบ และเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องติดคุกอีก เพราะคดีมันมีอยู่มาก ไม่มีเรื่องฉ้อเรื่องโกง ผมมีคดีที่สู้ตามสิ่งที่ผมเชื่อ ผมเสียใจและเจ็บปวดที่เห็นคนรุ่นลูกรุ่นหลานผมมาติดคิดคุก ผมเจ็บปวดที่ทำไมอนาคตของชาติซึ่งควรอยู่ในห้องเรียนต้องอยู่ในห้องขัง ผมอยู่ในเรือนจำเมื่อปี 2563 ผมทั้งประหลาดและตกใจไปพร้อมๆ กันที่อยู่จู่ๆ มันเกิดปรากฏการณ์ขึ้นข้างนอก ไม่มีใครคิดใครเชื่อว่ามันจะเป็นขึ้นมาได้ แล้วในท้ายที่สุดน้องๆ เหล่านั้นหลายคนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ผมมีทั้งมุมที่เห็นด้วยและทั้งมุมที่ห่วงใยในการต่อสู้ของพวกเขา แต่เมื่อพวกเขาถูกส่งเข้ามาในเรือนจำ บางคนเป็นลูกผมได้ ผมแบกข้าวแบกน้ำ ผมดูแลความปลอดภัย ทำหน้าที่เสมือนการ์ดของพวกเขาในเรือนจำ ด้วยกำลังตัวผมคนเดียวสุดกำลังที่ผมจะทำได้ เพราะผมเห็นว่าผมควรเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่ถูกขังเพราะความเชื่อหรือความคิดทางการเมือง
"ดังนั้นเรื่องนี้ สำหรับผมเป็นประเด็นที่จำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลและค่อยๆ คลี่คลายอย่าให้เป็นเงื่อนไขทางการเมือง อย่าให้เป็นความขัดแย้งกันต่อไป ถ้าในระยะสั้น การประกาศแก้ไขเรื่องนี้ หากมีการประกาศผมเคารพ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ แต่ผมเห็นว่ายากที่จะสำเร็จได้ และอาจกลายเป็นเงื่อนไขที่จะเกิดความขัดแย้งใหญ่ และมันจะไม่ได้ทำอย่างอื่น
"ผมยืนยันว่าความเชื่อของผมคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมยืนยันว่าสังคมนี้คนคิดต่างกันอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องทำลายล้างกันให้สิ้นไป ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม และถึงที่สุด ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะชนะเด็ดขาดก็ไม่มีทางที่สังคมนี้จะเหลือความคิดแบบเดียว มันจะมีความคิดแตกต่างปะปนกันอยู่ ถ้าหากวันนี้สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงบรรดาผู้มีอำนาจก็คือ ปล่อยเด็กออกจากคุก เอาลูกเอาหลานไปขัง ไปทุบไปตี มันไม่ใช่การแก้ปัญหา วันนี้สิ่งที่ลูกๆ หลานๆ แสดงออกมา เขาไม่เหตุของปัญหา แต่เป็นผลของมัน ผลของความขัดแย้งทางการเมืองมาสิบกว่าปี พวกคุณมีความชอบธรรมที่จะลุกขึ้นทวงถามอนาคตของรตัวเอง และมีความชอบธรรมที่ลุกมาบอกว่าที่ผ่านมาสิบกว่าปี ไม่เอาแบบนี้ ต้องการสังคมอย่างที่เชื่อ ต้องการอนาคตที่ไขว่คว้าจับต้องได้ แต่ขอให้คุณตระหนักถึงความจริงของสถานการณ์ ขอให้คุณตระหนักถึงความเป็นไปได้ในบริบทนั้นๆ และขอให้คุณรู้ว่า แม้คนอาวุโสกว่าพวกคุณอาจไม่ได้ทำอะไรเหมือนที่คุณอยากเห็น อาจไม่ได้พูดอะไรแบบที่คุณอยากฟังมากๆ แต่หัวใจคนแบบผมไม่เคยอยู่ห่างพวกคุณ" ณัฐวุฒิกล่าว
ด้านอรรถวิชญ์ก็ตอบคำถามบางส่วนเกี่ยวพันกับการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยว่า พรรคชาติพัฒนากล้าทำงานโดยมองเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นหลัก อะไรที่จะทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย อะไรที่ทำให้ไปไกลกว่าเป้าหมาย เราไม่ทำ
"เป็นผู้แทนตอนอายุ 29 ปี เป็นทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล เห็นความสุดขั้วสุดโด่งทั้งสองด้านแล้วพบว่ามันไปไม่ถึงเป้าหมายเลย"
อรรถวิชช์ยกตัวอย่างว่า 8 ปี 'ลุงตู่' กับ 8 ปีของโจโกวีประธานาธิบดีของอินโดนีเซียแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โจโกวีสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและละลายขั้วได้ วันนี้ถ้ายังมีขั้วกันอย่างชัดเจน การไปสู่เป้าหมายในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจะลำบากมาก จะกลายเป็นติดกับกับดักเดิมๆ