ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอ่านคำพิพากษาคดี 112 กรณี 'อัญชัน' หญิงวัย 63 ปี อัพคลิป 'บรรพพต' 29 ครั้ง สั่งจำคุก 87 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 43 ปี 6 เดือน ถือเป็นการลงโทษจำคุกคดี 112 ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้านทนายจ่อยื่นประกันตัวเพื่ออุทธรณ์

ศาลอาญา ถนนรัชดา มีนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง อัญชัน อดีตข้าราชการระดับสูง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ ‘บรรพพต’ ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีการอัพโหลดทั้งหมด 29 ครั้ง ศาลพิพากษาว่าเป็นการกระทำความผิดตาม ม.112 สั่งลงโทษจำคุก กรรมละ 3 ปี รวม 29 กรรม โทษจำคุกทั้งหมด 87 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 29 ปี 174 เดือน หรือ 43 ปี 6 เดือน ทั้งนี้หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จทางทนายความและจำเลยกำลังดำเนินการยื่นขอประกันตัวเพื่อสู้คดีอีกครั้งในชั้นอุทธรณ์

ฐานข้อมูลคดีเว็บไซต์ไอลอว์ บันทึกไว้ว่า อัญชัน ถูกทหารนอกเครื่องแบบ 5 นาย และทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธปืนอีก 5 นาย เข้าจับกุมที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558 ต่อมาวันที่ 30 ม.ค. ดีเอสไอควบคุมตัว อัญชัญมาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขอฝากขังเป็นผลัดที่ 1 ซึ่งศาลอนุญาตตามคำร้อง

พี่ชายของอัญชัญ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นเงินสดจำนวน 400,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยระบุเหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเป็นการกระทำผิดภายใต้กฎอัยการศึก เกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก อัญชัญจึงถูกนำตัวไปฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ต่อมาวันที่ 23 เม.ย. 2558 อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องอัญชัญ ต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นคำฟ้องความยาว 27 หน้า กล่าวหาอัญชัญว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ไม่ระบุวงเล็บ จากการนำคลิปเสียงของ “บรรพต” เข้าสู่เว็บไซต์ยูปทูป รวมทั้งหมด 29 ครั้ง พร้อมขอให้ศาลสั่งริบอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ยึดไว้ทั้งหมดด้วย

หลังจากนั้นอัญชันไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี จนกระทั่งวันที่ 2 พ.ย. อัญชัญได้รับการประกันตัวโดยญาติวางหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาลมูลค่ารวม 500,000 บาท ศาลทหารกรุงเทพให้เหตุผลว่า แม้โจทก์จะคัดค้านการประกันตัว แต่เมื่อพิจารณาหลักประกันแล้วน่าเชื่อถือ และเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว รวมระยะเวลาที่อัญชันถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำก่อนมีการพิพากษาทั้งสิ้น 3 ปี 9 เดือน 9 วัน หรือคิดเป็นจำนวนคือ 1,378 วัน

ทั้งนี้เว็บไซต์ประชาไทเคยรวบรวมการพิพากษาคดี 112 ที่มีโทษสูงสุดก่อนหน้านี้ไว้เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 ซึ่งพบว่า 3 อันดับแรกที่มีโทษสูงสุดมีดังนี้ ก่อนที่คำพิพากษากรณีของอัญชันจะทำลายทุกสถิติที่เคยมีมา

1.วิชัย ถูกกล่าวหาว่าสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมด้วยชื่อและภาพคนอื่น พร้อมโพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ศาลตัดสินลงโทษ ม.112 กรรมละ 7 ปี รวมทั้งหมด 70 ปี ส่วน พ.ร.บ.คอม ยกฟ้อง แต่เนื่องจากเขาสารภาพจึงลดโทษเหลือ 35 ปี ขณะนี้รับโทษอยู่ในเรือนจำ

2.พงษ์ศักดิ์ หรือ Sam Parr ชายอายุ 40 กว่าปี ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี ‘Sam Parr’ โพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดตาม ม.112 ศาลตัดสินลงโทษ ม.112 กรรมละ 10 ปี รวมทั้งหมด 60 ปี สารภาพลดเหลือ 30 ปี ขณะนี้รับโทษอยู่ในเรือนจำ

3.ศศิวิมล หญิงแม่ลูกสอง อายุ 30 ปี ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตาม ม.112 ศาลตัดสินลงโทษ ม.112 กรรมละ 8 ปี รวมทั้งหมด 56 ปี สารภาพลดเหลือ 28 ปี ขณะนี้พ้นโทษแล้ว(ได้รับอภัยโทษ)