ไม่พบผลการค้นหา
ดีเดย์ 19 ก.ย. ครบรอบรัฐประหาร คมช. 13 ปี เปิดตัวเครือข่าย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 'ครช.' นักวิชาการ นักกิจกรรม องค์กรภาคประชาชน และเอ็นจีโอ พร้อมใจกันดันแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เครือข่าย ครช. นำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายนักวิชาการราชภัฏราชมงคลเพื่อพลเมือง (ครพ.) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) กลุ่มเวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ.จชต.) ร่วมด้วย ภาคนักศึกษาและนักกิจกรรม ได้แก่ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสรีเกษตรศาสตร์ ดาวดิน ขบวนการอีสานใหม่ กลุ่มโกงกาง นักเยาวชนนักกิจกรรม องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี (2P2D)

และภาคประชาชน ได้แก่ สมัชชาคนจน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ขปท.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้

ทั้งนี้ ในเพจ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน l ครช. ได้ระบุถึงเหตุผลของการจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวว่า ครช. ย่อมาจาก คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ประกอบไปด้วย บุคคล สถาบัน และกลุ่มทางสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีจุดยืนและเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างหนักแน่นมั่นคงมาตลอดช่วงวิกฤตการเมืองกว่าทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีฐานในระดับพื้นที่และในสถาบันอุดมศึกษา เป็นกลุ่มที่ทำงานกับประเด็นปัญหาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

เหตุที่ต้องมี ครช. เนื่องจาก ถึงแม้จะมีบุคคล สถาบัน และกลุ่มทางสังคมเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมประชาชนหรือกลุ่มทางสังคมในวงกว้างที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในเชิงชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา อาชีพ วิถีชีวิต ระบบคุณค่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความคิดและจินตนาการทางการเมืองที่สอดรับกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นหรือหัวใจสำคัญของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่สามารถตอบสนองโจทย์ข้างต้นได้ ข้อท้าทายจึงเป็นว่าจะอาศัยบุคคล สถาบัน และกลุ่มทางสังคมใดที่มีความแตกต่างหลากหลายและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย และจะต้องอาศัยกลไกและกระบวนการใดจึงจะได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ด้วยเหตุนี้ ครช. จึงก่อตัวขึ้นเพื่อเผชิญข้อท้าทายดังกล่าว เพื่อเป็นแนวร่วมในการรณรงค์เคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขหรือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน

ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก iLaw ระบุว่า จะมีการแถลงข่าวเปิดตัว ครช. อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ก.ย. 62 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ชั้น 4 โดยรศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นผู้นำแถลงในครั้งนี้